ปั่นหรือเปล่า? บริษัทอ้างพร้อมขายวัคซีนซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส แต่ติดต่อนายกฯ-อนุทินไม่ได้
ตัวแทนบริษัทขายวัคซีนโควิดจาก “ซิโนฟาร์ม” ร่อนหนังสือชี้แจงมีโควตาขายให้ประเทศไทย 20 ล้านโดส ส่งได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ติดต่อนายกฯ-อนุทินไม่ได้ พร้อมเจรจาขายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
วันนี้ (27 พ.ค.) มีการเผยแพร่เอกสารที่ระบุว่ามาจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ในฐานะพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนโควิดของ “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชีย ทำหนังสือถึงลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ถึง ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า
บริษัทได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส และสามารถจัดส่งได้ใน 2 สัปดาห์ นับจากวันที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้นำมาเสนอโดยตรงให้แก่รัฐบาลไทย โดยไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัทไม่สามารถเข้าถึงนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำส่งเอกสาร พร้อมเสนอวัคซีนและจำนวนข้างต้นได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับทราบประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ทางบริษัทจึงเห็นว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ยี่ห้อซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งถูกจัดสรรไว้สำหรับประเทศไทย ยังสามารถดำเนินการส่งได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ บริษัทจึงขอนำส่งหนังสือฉบับนี้ เพื่อชี้แจงและนำเสนอขายวัคซีน และขอความอนุเคราะห์ท่านเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ทางบริษัทได้เข้าพบ เพื่อที่จะหารือในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้ Sanook News พยายามติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ทั้ง 2 หมายเลขที่ระบุไว้ในเอกสารเพื่อจะขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีผู้รับสาย แต่ปรากฏว่า นายกรกฤษณ์ กิติสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวท็อปนิวส์ เพื่อชี้แจงกรณีบริษัทออกหนังสือเสนอขายวัคซีนโควิดยี่ห้อซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดส ให้แก่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากที่ผ่านมาติดต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ว่า ที่มาที่ไปคือ บริษัทตนกับทางบริษัทสิงคโปร์ได้ทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งบริษัทในสิงคโปร์ก็เป็นตัวแทนของซิโนฟาร์ม ทางบริษัทสิงคโปร์ทราบว่าไทยมีปัญหาเรื่องวัคซีน จึงแนะนำให้บริษัทแอคแคปนำเข้ายามาจำหน่ายว่าเป็นไปได้หรือไม่ แต่ตนคิดว่าทำไม่ได้ เพราะบริษัทตนไม่ใช่บริษัทนำเข้ายาหรือขายเวชภัณฑ์
อย่างไรก็ดี สุดท้ายจากการพูดคุยและตรวจสอบอยู่นานว่ามีวัคซีนจริงหรือไม่ ก็พบความชัดเจนจนเป็นที่พอใจ และคิดว่าจะนำเอกสารไปเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะโชคไม่ดี คนที่รับเอกสารไป นำเอกสารไปไม่ถึงทั้ง 2 ท่าน แต่ตนไม่ได้เป็นคนไปยื่นกับมือ แต่เป็นลักษณะไปถามว่าจะมีใครพาตนนำเอกสารไปส่งถึงทั้งสองท่านได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องดีกับทางรัฐบาล โดยการส่งเอกสารมีการระบุข้อความชัดเจนว่า ใครเป็นผู้รับเอกสารไป ถ้ามีโอกาสพบทั้งสองท่าน ตนก็พร้อมจะบอกตรงๆ ว่าได้ยื่นเอกสารผ่านใคร เพราะหากบอกออกไปเกรงจะกลายเป็นประเด็น
สำหรับเอกสารที่ส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ได้ส่งผ่านกลุ่มบุคคลทั้งหมด 4 กลุ่ม ส่วนนายอนุทิน ส่งไปทั้งหมด 2 กลุ่ม โดยส่งเอกสารชุดแรกไปในวันที่ 6 พฤษภาคม ครั้งที่สอง วันที่ 10 พฤษภาคม และยังมีเอกสารที่ส่งไปแต่ไม่ได้ระบุวันที่อีก นอกจากนี้ ยังพยายามส่งผ่านคนที่คิดว่ารู้จักส่วนตัวและคิดว่าจะเร็วกว่าช่องทางปกติ แต่เอกสารคงไม่ถึง เพราะไม่มีการตอบรับกลับมา เรื่องเงียบหายไป อย่างไรก็ดี ช่วงเช้าวันนี้ก็ได้ปรึกษากันในบริษัท ก่อนจะทำหนังสือถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพราะคิดว่าคงเป็นทางที่ดีที่สุด แต่หากรัฐบาลจะติดต่อกลับมาก็ยินดี และจะได้พูดคุยกัน
ส่วนเหตุใดก่อนหน้านี้บริษัทไม่ออกมาพูดเรื่องนี้นั้น นายกรกฤษณ์ กล่าวว่า เพราะกลัวว่าจะไปทำร้ายรัฐบาล ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นแบบนั้น สำหรับเอกสารที่หลุดออกไปในวันนี้ ตนไม่ทราบว่าหลุดออกมาได้อย่างไร เพราะเอกสารที่ยื่นไปในวันนี้เป็นการยื่นส่วนตัว ไม่ได้ผ่านทางใด จึงแปลกใจที่เป็นข่าวออกมาได้
ทั้งนี้ Sanook News ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ ประกอบกิจการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย หมวดธุรกิจ : การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563
*อัปเดตเพิ่มเติม* เมื่อเวลา 20.36 น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า "เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์ โดยที่คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆ เลย
อย่างไรก็ดี ถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน "ตัวเลือก" มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม
ขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ครับ
1) กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก
2) การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier (รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต) จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย.
3) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น เป็นเหมือนกันทุกบริษัททั่วโลกเพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะไม่ติดต่อกับเอกชนเป็นรายๆ หรือติดต่อคุยด้วยก็จะไม่ให้ dossier เพื่อยื่นขอใบอนุญาต
4) รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำโลจิสติกเรื่องการขนส่งและเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้
5) บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆ โดสโดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ครับ
คงไม่ได้พบผมเช่นกัน ถ้าติดตามและอ่านประกาศของราชวิทยาลัยฯ ในราชกิจจานุเบกษาที่อ้างถึงให้เกินแปดบรรทัด แล้วอ่านข้อบังคับลูกที่ตามมาก็จะทราบว่า ยังไงราชวิทยาลัยฯ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีครับ ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว"