รัฐบาลยัน พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้าน มีกรอบการใช้เงินชัดเจนโปร่งใส
โฆษกรัฐบาล ยืนยัน พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีกรอบการใช้เงินชัดเจนโปร่งใส รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นั้น พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว มีการกำหนดแผนการใช้เงินกู้อย่างชัดเจน โดยการใช้จ่ายต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์
ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่
(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ
(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง
(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใน 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนดอย่างชัดเจนใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 แผนงานดังที่กล่าวมาแล้วไม่ได้อย่างเด็ดขาดจึงขอให้ประชาชนได้มีความมั่นใจ ถึงเจตนาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างแท้จริง และขอให้ประชาชนได้มั่นใจถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้าน และเจตนาของรัฐบาลในการใช้จ่ายเงินกู้นี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. นี้เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ COVID-19 ระลอกนี้ได้อย่างต่อเนื่องกับ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่า จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า การออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 58.56 และยังอยู่คงภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลได้ระมัดระวังในการบริหารจัดการเงินกู้ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลยังคงมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของประเทศไทยด้วย