ศบค.ห่วงคนลักลอบเข้าประเทศ จับตาชายแดนใต้ หลังมาเลเซียล็อกดาวน์
ศบค. ขอ มท. เฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศ หลัง มาเลเซีย ล็อกดาวน์อีกครั้ง ขณะ ระดมตรวจ 486 ตลาด กทม. เข้มแคมป์คนงาน
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ทางฝั่งประเทศ มาเลเซีย มีการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น จึงมีความห่วงใยว่าจะมีผู้ลักลอบข้ามจากมาเลเซีย ทางชายแดน โดยจังหวัดที่น่าเป็นห่วง คือ จังหวัดสงขลา, ยะลา, นราธิวาส และสตูล จึงขอให้ทางมหาดไทย หารือเฝ้าระวังการเดินทางข้ามมาอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา
ด้านการเดินทางมาจากต่างประเทศ มาจากกัมพูชา 24 ราย ซึ่งมี 1 ราย ที่มาจากช่องทางธรรมชาติ ซึ่งมีการสกัดกั้นระหว่าง 24 ชั่วโมง พบผู้ลักลอบเข้ามากว่า 139 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า ในวันนี้พื้นที่ กทม.ไม่มีการรายงานคลัสเตอร์ใหม่ แต่ดูแล 28 เขต 47 คลัสเตอร์อยู่ ซึ่งในวันนี้พบผู้ป่วยใหม่จากตลาดห้วยขวาง 78 ราย รวมสะสม 112 ราย จากเดิมมีคลัสเตอร์ที่โรงปูน และแคมป์ก่อสร้าง ที่ประชุมจึงมีการพูดคุยว่า หากเขตไหนที่ยังไม่พบผู้ป่วยก็ต้องดูแลและเฝ้าระวัง ส่วนตลาด ที่ได้จดทะเบียนมี 486 แห่ง ซึ่งได้มีการตรวจแล้ว 28 ตลาด ซึ่งขณะนี้จะมีการตรวจตลาดไม่ว่าจะพบหรือไม่พบผู้ติดเชื้อทั้ง 486 ตลาด
รวมถึงในที่ประชุมมีการพูดคุย เรื่องแคมป์คนงาน ที่มี 409 แคมป์ และเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการ จำนวน 134 ราย ซึ่งพื้นที่ที่มีความแออัดของแคมป์ก่อสร้างเช่น บางกะปิ, บางเขน, ลาดพร้าว และห้วยขวาง ก็จะต้องให้ ผอ.เขต ลงพื้นที่ ชี้แจงกับผู้ประกอบการ
ส่วนกรมโยธาธิการ จะเรียกทั้ง 134 บริษัท มาพูดคุยหารือและขอความร่วมมือให้ดูแลสภาพแวดล้อม ของไซต์ก่อสร้าง เรื่องความสะอาด รวมถึงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งมีการหารือว่าหากบางแคมป์ ที่ไม่สามารถทำตามมาตราการที่กำหนด ไม่ปรับตัว หรือไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีการทบทวนบทลงโทษอีกด้วย
กรมอนามัย ใช้ 8 มาตรการคุมตลาดสดพื้นที่สีแดงเข้ม ยกระดับป้องกันโควิดหลังพบคลัสเตอร์ตลาดสดในกทม.-ปริมณฑลจำนวนมาก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาดสดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีการ แพร่ระบาดในตลาดสดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก ทำให้กรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งปิดตลาดทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด สำหรับใน
ส่วนของกรมอนามัยนั้น ได้กำหนดใช้มาตรการ 8 ข้อ เพื่อยกระดับการควบคุมตลาดสดในพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนี้
1.ผู้ประกอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop CO VID Plus และผู้ค้าหรือลูกจ้างต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีตลาดที่ลงทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 3,465 แห่ง ผ่านการประเมิน 2,779 แห่ง ไม่ผ่าน 686 แห่ง โดยมาตรการที่ยังดำเนินการได้น้อย คือ การลงทะเบียนเข้า – ออก การควบคุมจำนวนผู้มาซื้อของ และไม่มีการคัดกรองลูกค้า
2. จัดทำทะเบียนแผงค้า ผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการควบคุม กำกับ ติดตาม
3.จัดทำทะเบียนรถเร่จำหน่ายอาหารที่มาซื้อสินค้าในตลาดเพื่อนำไปขายต่อ
4.เพิ่มมาตรการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ
5.กรณีพบผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวป่วย ให้หยุดขาย และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ทันที
6.ปิดตลาดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด
7.หากตลาดเปิดทำการให้มีการสลับแผงค้าให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของแผงค้าและจำนวนคน เข้มงวดคัดกรองผู้ค้าและผู้ช่วยขายของ ให้มั่นใจว่าไม่ไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจมีผลตรวจยืนยัน
และ 8.ให้ตลาดปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ และเน้นการรักษาความสะอาดอย่างเข้มข้น สำหรับผู้ซื้อสินค้าภายในตลาดควรมีการประเมินตนเองทุกวันผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนออกจากบ้าน และควรวางแผนการซื้อสินค้า เพื่อลดเวลาการใช้บริการในตลาด พร้อมสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นต้น
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมกำกับ และติดตามให้ตลาดมีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ให้เกิดการปฏิบัติจริงจัง โดยบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน สมาคม/ชมรมผู้ประกอบกิจการตลาด และเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดได้
โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการ หรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20)