ผู้ว่าฯ อัศวิน เซ็นประกาศสั่งปิดสถานที่เสี่ยงโควิดระบาดใน กทม. ออกไปอีก 14 วัน

ผู้ว่าฯ อัศวิน เซ็นประกาศสั่งปิดสถานที่เสี่ยงโควิดระบาดใน กทม. ออกไปอีก 14 วัน

ผู้ว่าฯ อัศวิน เซ็นประกาศสั่งปิดสถานที่เสี่ยงโควิดระบาดใน กทม. ออกไปอีก 14 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ว่าฯ อัศวิน ลงนามในประกาศสั่งปิดสถานที่ต่างๆ ที่พิจารณาว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปอีก 14 วัน ตั้งแต่ 1-14 มิ.ย. 64

วันนี้ (1 มิ.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 31 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 โดยให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นั้น

เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นไปตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 24 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 16/2564 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564

2. กรณีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 ขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 และกรณีขัดหรือแย้งกับ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ให้ปฏิบัติตาม (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564

ประกาศ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564

31th-bkk-closing-order

อย่างไรก็ตาม การออกประกาศดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเมื่อวานนี้ (31 พ.ค.) หลังจากการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเสร็จสิ้นในช่วงบ่าย ทีมประชาสัมพันธ์ กทม. แจ้งมติการประชุมว่าจะมีการผ่อนคลายให้สถานที่ 5 ประเภท สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งตั้งแต่วันนี้ (1 มิ.ย.) แต่ปรากฏว่าในช่วงค่ำกลับมีการแจ้งว่า ศบค. ชะลอมติของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ที่ให้เปิดสถานที่ 5 ประเภท พร้อมกับพิจารณาให้ขยายเวลาการปิดออกไปอีก 14 วัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทิศทางการบริหารนโยบายระหว่างหน่วยงานรัฐภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจหลายรายต่างก็ต้องพบกับความผิดหวังและเผชิญกับความไม่แน่นอนในการจัดการกิจการของตน เนื่องจากมีการจัดเตรียมทั้งบุคลากรและสถานที่รองรับการกลับมาเปิดให้บริการไว้แล้ว ก่อนที่จะมาเจอการกลับลำกลางอากาศชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะนาทีสุดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook