วิโรจน์ ก้าวไกล ฉุนรัฐบาลขึ้นงบซื้ออาวุธทัพบก-เรือ 2,700 ล้าน เท่าซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 2.2 ล้านคน
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันจันทร์ (31 พ.ค.) เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ว่ารัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านการเสริมสร้างและจัดหายุทโธปกรณ์ แก่กองทัพบกและกองทัพเรือรวมกันเกือบ 2,700 ล้านบาท
ส.ส. พรรคก้าวไกลรายนี้ อธิบายว่า งบประมาณที่รัฐบาลจะจัดสรรให้กับกองทัพบกเพื่อเสริมสร้างและจัดหายุทโธปกรณ์ในปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 4,937 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,805 ล้านบาท ขณะเดียวกันกองทัพเรือจะได้ 1,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 873 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นรวม 2,678 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการบริหารงบประมาณในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านโรคระบาด
"ผมไม่ได้ห้ามว่าห้ามซะนะฮะ แต่ขอให้จัดซื้อเท่าเดิมเท่ากับปีก่อน เงิน 2,678 ล้านบาทนี้ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้กับประชาชนได้เยอะแยะไปหมด" นายวิโรจน์ พูด
เทียบงบซื้ออาวุธกับวัคซีน
นายวิโรจน์ เปรียบเทียบว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นของกองทัพบกและกองทัพเรือนี้ สามารถนำไปซื้อวัคซีนโรคโควิด-19 ที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบออนเทค ได้ถึง 4.4 ล้านโดส แก่ประชาชน 2.2 ล้านคน
ขณะเดียวกัน หากนำไปซื้อวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็จะซื้อได้ 22 ล้านโดส แก่ประชาชน 11 ล้านคน
ไม่ใช่แค่นั้น เงินก้อนนี้เท่ากับค่าใช้จ่ายตรวจหาโรคโควิด-19 แบบอาร์ที-พีซีอาร์ สำหรับประชาชน 1 ล้านคน หรืออุปกรณ์หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบมีพัดลมติด (PARP) สำหรับบุคลากรแพทย์ได้ถึง 300,000 ชุด หรือยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาอาการของโรคโควิด-19 ได้ 22 ล้านเม็ด ซึ่งเพียงพอสำหรับผู้ป่วย 446,000 คน
"ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าประชาชนขาดวัคซีน ขาดเตียง ขาดยา ขาดเครื่องช่วยหายใจ ไม่ได้ขาดกระสุนปืนใหญ่ ไม่ได้ขาดรถถัง ไม่ได้ขาดรถยานเกราะ ถามจริงๆ ครับท่านประธานครับ ไม่ซื้ออาวุธกันสักปีนี่จะชักดิ้นชักงอตายหรือไง" นายวิโรจน์ กล่าว
"แค่ลดการซื้ออาวุธก็ช่วยประชาชนได้มากแล้ว"
ช็อก! ลดงบกรมควบคุมโรค
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังกล่าวว่าในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ รัฐบาลกลับลดงบประมาณของกรมควบคุมโรคในปีงบประมาณ 2565 ลง น้อยกว่าปีงบประมาณ 2564 และปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่พบโรคโควิด-19 ด้วยซ้ำ
ส.ส. รายนี้ เผยว่า งบประมาณกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับงบประมาณเพียง 3,565 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ถึง 479 ล้านบาท (ลดลง 11.8%) หรือเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2562 จะพบว่าลดลง 470 ล้านบาท
นายวิโรจน์กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่รับตรวจโควิด-19 ก็ถูกตัดงบประมาณไปถึง -10.4% มาอยู่ที่เพียง 1,245 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564
ผวา! ซ้ำลดงบบัตรทอง
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็ถูกลดงบประมาณด้วย ซึ่งนายวิโรจน์กล่าวว่า ทำให้ตนรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก เพราะบัตรทองใช้รองรับผู้ป่วยจำนวนมากและมากขึ้นเพราะมีคนตกงานที่ต้องย้ายจากประกันสังคมมาเข้าสู่ระบบบัตรทอง แต่กลับถูกลดงบประมาณลง
นายวิโรจน์ เผยว่า รัฐบาลตัดงบบัตรทองลง 1,815 ล้านบาทมาอยู่ที่ 140,550 ล้านบาท หรือลดลง (-1.3%)