สมุทรปราการอ่วม! ยอดโควิดพุ่ง 466 ราย เสียชีวิต 4 ราย คลัสเตอร์ผุดหลายโรงงาน
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการในวันนี้ที่ 2 มิถุนายน 2564 มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 466 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 433 ราย แยกเป็นอำเภอเมืองสมุทรปราการ 266 ราย อำเภอพระประแดง 28 ราย อำเภอบางพลี 106 ราย อำเภอบางบ่อ 8 ราย และอำเภอบางเสาธง 25 ราย รับมารักษาต่อในสมุทรปราการ 33 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมในขณะนี้มีจำนวน 82 ราย
โดยมีผู้เสียชีวิต 4 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 61 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคประจำตัว ไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ขณะป่วย บางนา กทม.
ส่วนรายที่สอง เป็นชายไทย อายุ 61 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยันมีโรคประจำตัว ไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ขณะป่วย ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
รายที่สาม เป็นหญิงไทย อายุ 67 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคประจำตัว โรคอ้วน ไขมันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง ที่อยู่ขณะป่วย ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
และรายที่สี่ เป็นชายไทย อายุ 57 ปี ประวัติเสี่ยง สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ที่อยู่ขณะป่วย ต.สำโรงใต้ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เป็นประธานในการแถลง สถานการณ์โควิดในจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุข พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร ผกก.ตม.ภ.จว.สมุทรปราการ เข้าร่วมในการแถลง โดยที่ในวันนี้ได้ตรวจพบคลัสเตอร์ใหญ่ ซึ่งพบมีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยคนในแต่ละแห่ง อาธิ เช่น ที่ตลาดใหม่สำโรง ที่เจริญสินธานีคอนโด และโรงงานในย่านถนนท้ายบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ และในเขตอำเภอบางพลี เป็นโรงน้ำแข็งในย่านตำบลบางโฉลง เขตอำเภอบางเสาธง เป็นโรงงานสิ่งทอ และเขตอำเภอบางบ่อ เป็นโรงงานอาหารแปรรูป
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่เป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 100 กว่ารายนั้น พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร ผกก.ตม.สมุทรปราการ กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เมื่อรักษาหายแล้วก็จะดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และผลักดันออกนอกประเทศ
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างเร่งเข้าตรวจเชิงรุกตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อจากกลุ่มก้อนจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว จึงเพิ่มสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Field Hospitel) ที่อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษา มหาราชวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ ซึ่งมีทั้งหมด 180 เตียง และเริ่มรับผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาตัวแล้ว และผลจากการดำเนินการค้นหาเชิงรุกในชุมชนและพื้นที่เสี่ยงทุกอำเภอตลอดทั้งสัปดาห์ จำนวน 6,650 คน เพื่อยับยั้งและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ส่วนประชาชนจังหวัดสมุทรปราการ ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถลงทะเบียน ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรงพยาบาลภาครัฐและทางเว็บไซต์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ทำการนัดหมายไว้แล้วสามารถไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ตามกำหนดเดิม โดยระบบหมอพร้อมจะเริ่มลงทะเบียนได้ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และยังคงใช้งานในการแสดงข้อมูลหลังการฉีดวัคซีน แจ้งนัดหมายในการฉีดเข็มที่ 2 และการเป็นหลักฐานประกอบการขอรับรองการฉีดวัคซีนโควิด
ส่วนผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดสมุทรปราการ มียอดผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 56,883 คน และมีประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ ที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านทุกช่องทาง จำนวน 151,356 คน ซึ่งจะได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564