หมอแจงเคส "น้องน้ำค้าง" กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด
ความคืบหน้ากรณี "น้องน้ำค้าง" กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สสจ.โคราช เผย กรมควบคุมโรคตรวจสอบแล้ว ยืนยันเกิดจากภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด ต้องรักษาอาการวันต่อวัน
ความคืบหน้ากรณี นางสาวทิศกร หรือ น้องน้ำค้าง พันธ์สำโรง อายุ 29 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมืองโคราช และภายหลังฉีดไป 2 วัน พบอาการผิดปกติ ต้องนำส่งรักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งผลเอกซเรย์พบมีเลือดออกในโพรงสมองและมีความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ขณะนี้อาการยังโคม่า เป็นเจ้าหญิงนิทรา ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.นิรนทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เคสของน้องน้ำค้าง ทางกรมควบคุมโรคได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว ซึ่งพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด เพราะจากผลการ CT Scan สมอง และตรวจ MRI น้องน้ำค้างมีภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งในกลุ่มคนอายุน้อยๆ อาจจะเป็นลักษณะของความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
ซึ่งผลการตรวจ MRI , CT Scan และซักฐานประวัติเดิม น้องจะอยู่ในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม Intracranial Arterio venous Malformation (AVM) คือภาวะที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองคือระบบเส้นเลือดแดง กลายเป็นรอยโรค ที่เป็นกลุ่มเส้นเลือดผิดปกติไปเชื่อมต่อไปโดยตรงกับระบบเลือดดำ โดยไม่ผ่านระบบหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดบริเวณนั้นมีการไหลที่รุนแรงและมีความต้านทานต่ำ จึงมีโอกาสเกิดการปริแตกและมีเลือดออกบริเวณนั้นได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยปกติเป็นโรคที่เป็นมาตั้งแต่เกิด โดยอาจพบความเกี่ยวข้องกับโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น
ส่วนแนวทางการรักษา ทีมแพทย์ต้องดูอาการวันต่อวัน ซึ่งได้ทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดออก และให้ยาลดอาการสมองบวม เหมือนกับโรคหลอดเลือดสมองทั่วไป แต่เคสนี้เป็นภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง จึงทำให้มีเลือดออกมากกว่า และตำแหน่งที่เกิดใกล้กับโพรงสมอง
ซึ่งกรมควบคุมโรคสรุปว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างแน่นอน สำหรับการเยียวยาช่วยเหลือต้องอาศัยแนวทางการช่วยเหลือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นการคุ้มครองการรักษากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีน
ซึ่งการคุ้มครองตามมาตรานี้จะนำมาช่วยดูแลและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการในเบื้องต้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากความเสียหายที่เกิดขึ้น และยังช่วยลดความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขได้ด้วย