โลกไร้กรอบ ความชอบไร้เพศของ “เทน ยงสุวัฒน์”

โลกไร้กรอบ ความชอบไร้เพศของ “เทน ยงสุวัฒน์”

โลกไร้กรอบ ความชอบไร้เพศของ “เทน ยงสุวัฒน์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสงสัยไหมว่าทำไมผู้หญิงต้องใส่กระโปรงและผู้ชายต้องใส่กางเกง หรือทำไมผู้หญิงต้องเป็นคนดูแลบ้าน ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว นี่คือตัวอย่างของ “ระบบเพศสองขั้ว” หรือชุดความคิดทางเพศที่ครอบงำและชี้นำความคิดของคนในสังคมมาอย่างยาว จนเกิดการส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นความเคยชินและไม่ตั้งคำถามกับมันในที่สุด ระบบเพศที่มีแค่ชายและหญิงได้ตีกรอบให้คนต้องทำตามบทบาทหน้าที่ของเพศที่สังคมกำหนดขึ้น เมื่อไม่ทำตาม คน ๆ นั้นจะถูกมองว่า “แปลกแยก” โดยทันที 

ในโอกาสเดือนไพรด์ 2021 ซึ่งเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ Sanook ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ “เทน ยงสุวัฒน์ ไตรวิทยาวัฒน์” ดีไซน์เนอร์และผู้ก่อตั้ง The Marginal Club BKK คลับของที่โดนกรอบความเป็นเพศผลักให้เป็นคนชายขอบของสังคม แม้จะถูกมองว่าแปลกและโดนสายตาเหยียดหยามจากคนรอบข้าง แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อสร้างพื้นที่ในสังคมให้กับความเป็นตัวเอง และเดินหน้าทดลองใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการโดยไม่ทำตามสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นเรื่อง “ปกติ”  

ความเป็นเพศที่ไม่สามารถนิยามได้ 

“สำหรับเราคำว่าเพศมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มากกว่าในเชิงรูปแบบของการใช้ชีวิต อย่างตัวเรา เราเชื่อว่าเราถูกจำเพาะ และถูกตัดสินความเป็นเพศจากการมองรูปลักษณ์ภายนอกเป็นอย่างแรก เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นเรื่องกายภาพมากกว่าเป็นเรื่องที่จะบ่งบอกว่าเราคือเพศอะไร หรือเราคือใคร” คุณยงสุวัฒน์กล่าวถึงนิยามความเป็นเพศในมุมมองของเขา

คุณยงสุวัฒน์ เป็นดีไซน์เนอร์และสไตลิสต์ ผู้ชื่นชอบในแฟชั่นแบบดีคอน (Deconstruction) และฉีกรูปแบบของแฟชั่นที่คนทั่วไปคุ้นเคย นอกจากนี้เขายังหลงใหลใน “เอเลี่ยนบิวตี้” ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องใหม่ แต่แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ในสังคมมาเป็นเวลานานตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการใส่คอร์เซ็ตของผู้หญิง หรือแม้แต่การใส่รองเท้ากลีบบัวของผู้หญิงชาวจีน เขานั่งคุยกับเราอย่างสบาย ๆ ข้างสระว่ายน้ำประจำอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งใจกลางกรุง พร้อมใบหน้าที่ตกแต่งด้วยเส้นลวดลายสีเขียวสลับดำ และมีเส้นสีขาวตัดอยู่ตรงกลางใบหน้า เขาสวมเสื้อสีดำทับด้วยเสื้อสูทครึ่งตัว กางเกงขาสั้น พร้อมถุงเท้าและรองเท้าสีแดงสด 

“ตั้งแต่เกิดมา สังคมก็ตีกรอบคุณแล้วว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้เราตีกรอบทุกอย่าง ว่าเราเป็นใคร เราเป็นเพศไหน แต่เพศเป็นเพียงกายภาพ มันเป็นแค่คำจำกัดความเฉย ๆ” คุณยงสุวัฒน์ชี้ “ทำไมเราต้องบอกว่าฉันเป็นหญิง ฉันเป็นชาย เป็นเกย์ เป็นนอนไบนารี ไม่นอนไบนารี เพราะสุดท้ายแล้ว เราอยากรู้จักคุณในฐานะที่คุณเป็นนักเขียน ทำงานตรงนี้ มีแพสชั่นกับการทำงานตรงนี้ แล้วเราทำงานดีไซน์เนอร์ เป็นสไตลิสต์ ทำงานศิลปะ รักในการแต่งตัวแบบดีคอน มีแนวคิดแบบดีคอน มาเรียนรู้กับเราตรงนี้ไหม ไม่ใช่มานั่งดูว่าผู้ชาย ผู้หญิง เกย์”

คลับของคนชายขอบ 

เพราะความชื่นชอบในแฟชั่นแบบดีคอน ซึ่งยังเป็นที่รู้จักในวงแคบในประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงนี้กลายเป็นกลุ่ม “ใต้ดิน” ที่ไม่มีสิทธิ์เสียง ทั้งยังต้องเผชิญกับสายตาเหยียดหยาม เพราะการแต่งตัวที่ไม่เป็นไปตามขนบของสังคม ด้วยเหตุนี้ คุณยงสุวัฒน์จึงก่อตั้ง “The Marginal Club BKK” ขึ้น เพื่อให้เป็นคลับที่รวบรวมกลุ่มคนที่รักในแนวทางการแต่งตัวแบบเดียวกัน พร้อมเปิดพื้นที่ให้ใครก็ตามที่สนใจได้เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่จะทำให้พวกเขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

“The Marginal Club เกิดขึ้นจากธีสิสปริญญาโทของเราที่จุฬา เราทำเรื่องกลุ่มแฟชั่น เป็นกลุ่มใต้ดินกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีน้อยมากในไทย แต่เริ่มเป็นกระแสมากที่เมืองนอก ซึ่งเขามีความเป็นเอเลี่ยน The Marginal Club มีความเป็นเอเลี่ยนบิวตี้ มีความไร้ขอบ ไม่เป็นวงกลม ไม่เป็นสี่เหลี่ยม ไม่เป็นสามเหลี่ยม แต่มีความไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น The Marginal Club ก็คือกลุ่มคนหรือลัทธิที่เราดึงจากใต้ดินขึ้นมาบนดิน และกำลังบอกกับทุกคนว่า มันมีกลุ่มคนที่แต่งตัวแบบนี้นะ แต่งหน้าแบบนี้นะ

คุณยงสุวัฒน์เล่าว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือการแต่งตัวของเขา ล้วนก็ถูกกฎเกณฑ์ของสังคมผลักดันให้กลายเป็นคนชายขอบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคำว่า Marginal หรือชายขอบ มาใช้ในโปรเจ็กต์ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ The Marginal Club BKK จะถูกก่อตั้งมาเพื่อสื่อสารว่ายังมีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคม และอย่ามองว่าพวกเขาเป็นตัวตลก แต่คุณยงสุวัฒน์ก็ย้ำว่าไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาอยู่ในคลับนี้ได้

“เพราะมันคือประสบการณ์ที่ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เราพยายามเซ็ตบิวตี้สแตนดาร์ด (Beauty Standard) ให้บาร์มันสูงขึ้น ไม่ใช่เป็นความงามในยุคปัจจุบัน ว่าต้องแต่งตาแบบนี้ ต้องคัดเบ้า ต้องผิวสวย แต่ The Marginal Club คือการ “embrace yourself” และ “embody your flaws” หมายถึงว่า โอบรัดสิ่งที่คุณมีอยู่ และสิ่งที่เป็นจุดบกพร่องไม่ต้องปิดบัง ทำให้มันชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครก็เป็นหนึ่งใน The Marginal Club ได้” คุณยงสุวัฒน์กล่าว 

การทดลองของชีวิตที่ไม่มีวันจบ 

เพราะการแต่งตัวที่จัดจ้านของคุณยงสุวัฒน์ จึงทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรทำให้เขากล้าและมั่นใจที่จะแสดงออกแบบนี้ ในสังคมที่ “อาจจะ” ยังไม่เข้าใจหรือเปิดกว้างเรื่องแฟชั่นที่เขาสนใจมากนัก เขาเงียบไปอึดใจก่อนจะตอบเราอย่างชัดเจนว่า เพราะเขา “รักตัวเอง” มาก 

ทำไมเราถึงกล้า เพราะเรารักตัวเองมาก มากเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งแรกที่เราเริ่มต้นในการใช้ชีวิต หรือในการทำทุกอย่าง เราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งอันดับหนึ่ง ไม่ใช่ครอบครัว ไม่ใช่สังคม ไม่ใช่มุมมองจากคนภายนอก เพราะฉะนั้น การที่เราจะแต่งตัวแบบไหน มันเป็นเรื่องของเรา ถ้าได้ติดตามเรามา จะเห็นว่าถึงเราจะแต่งบอยหรือแต่งเป็นผู้หญิง มันจะมีความไม่เป็นขนบอยู่ หมายความว่า เราไม่สนใจว่าสิ่งนี้คือเสื้อหรือกางเกง วันหนึ่งเราอาจจะเอากางเกงขึ้นมาทำเป็นเสื้อ หรือเราอาจจะใส่เสื้อ 3-4 ตัวในแบบที่ทุกคนเห็นเป็นแค่ตัวเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เรื่องอื่น ๆ ก็จะหายไป” คุณยงสุวัฒน์กล่าว 

แม้จะมั่นใจในตัวเองมากแค่ไหน แต่เขาก็ยอมรับว่าหลายครั้งที่เสียงพูดของคนรอบข้างก็บั่นทอนจิตใจของเขาไม่น้อย คุณยงสุวัฒน์เล่า 2 เหตุการณ์ที่ทำให้เขาทั้งขำและเสียใจให้เราฟัง โดยครั้งหนึ่งเขาเคยโดน “ป้าข้างบ้าน” นินทาเรื่องทรงผมของเขา และอีกครั้งเมื่อเขาโดนเด็กไทยในประเทศญี่ปุ่น 4 คน ล้อเลียนอย่างสนุกสนานว่าทรงผมของเขา เป็น “ทรงผมลืมกระเป๋าตังค์ไว้ที่ห้อง” 

“คือสุดท้ายมันเป็นเรื่องของเรา เราคิดเสมอว่า ถ้าเราทำ ปัญหามันจบที่เราแล้ว เราตัดสินใจที่จะทำแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญหาอย่างอื่น เช่น เสียงรอบข้าง มันไม่ได้อยู่ที่ตัวเราแล้ว ปัญหามันไปอยู่ที่คนที่มองเรา หมายถึงคุณมองเรา แล้วคุณรู้สึกว่ามันขัดหูขัดตา มันก็เรื่องของคุณ คุณต้องแก้ปัญหาของคุณเอง ไม่ใช่จะให้เราไปแก้ให้เจริญหูเจริญตาของคุณ มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทำ เราไม่ได้แก้ผ้าออกไปจากบ้าน ก็ถือว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือผิดจารีตแล้ว”

“เราเชื่อว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาของเขา ทำให้เขารู้สึกว่าแบบนี้ไม่ถูก แบบนี้ไม่ควร แบบนี้ไม่ใช่ ตัดผมควรจะเป็นแบบนี้สิ มันมีบรรทัดฐานของมันนะ ซึ่งไม่ใช่ ชีวิตเราคือการทดลอง แล้วเรารู้สึกว่ามันชีวิตเดียว ไม่ว่าจะเป็นอะไรของเรา เรารู้สึกว่ามันทดลองได้ไปจนตาย ต่อให้เราแก่กว่านี้หรือเด็กกว่านี้ เราก็อยากทดลองของเราไปเรื่อย ๆ” คุณยงสุวัฒน์กล่าวปิดท้าย

ขอขอบคุณสถานที่: ร้าน Venus.infur พหลโยธิน 12 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ โลกไร้กรอบ ความชอบไร้เพศของ “เทน ยงสุวัฒน์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook