ชายแดนสุรินทร์โวย รัฐบาลลำเอียง! ไม่จัดสรรวัคซีนให้ ทั้งที่เสี่ยงโควิดกว่าบุรีรัมย์
โวยรัฐบาลลำเอียง ไม่จัดสรรวัคซีนในจำนวน 10 ล้านโดสให้ชายแดนสุรินทร์ ที่เสี่ยงมากกว่าบุรีรัมย์ ล่าสุดพบ เจ้าหน้าที่ ตม. ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแต่ยังติดเชื้อ
วันนี้ (21 มิ.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ที่ประชุม ศบค.พิจารณาแผนการจัดสรรและจัดหาวัคซีนโควิดในแต่ละจังหวัด ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยเริ่มจากการจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดส โดยพิจารณาจัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้แก่ผู้ที่จองฉีดวัคซีนล่วงหน้าในระบบ “หมอพร้อม” คือ กลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องได้รับก่อน
ขณะที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม และพิจารณาให้ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในกรกฎาคมเช่นกัน โดยพื้นที่แดงเข้ม จะเน้นจังหวัดที่มีการระบาดโควิดสูง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีกรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี และบวกอีก 1 จังหวัด คือ ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ดังนั้น 5 จังหวัดจะได้รับก่อน
ส่วนพื้นที่สีส้ม มี 23 จังหวัด จะได้รับวัคซีนลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมย) พังงา และกระบี่ ส่วนจังหวัดที่เหลือ 49 จังหวัด จะได้อีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564 จากเป้าหมายวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564 ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับควบคุมสูงสุด เข้มงวด และจังหวัดเศรษฐกิจท่องเที่ยว 5 จังหวัด ได้วัคซีนร้อยละ 30 แยกย่อยดังนี้ -กรุงเทพมหานคร (รวมทปอ. และประกันสังคม) จำนวน 2.5 ล้านโดส -นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 6 แสนโดส -ภูเก็ต จำนวน 2 แสนโดส
กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรอง รับสถานการณ์ภายหลังการระบาดจำนวน 23 จังหวัด ได้ร้อยละ 25 รวม 2.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แสนโดส)
กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่เหลือของประเทศไทย 49 จังหวัด ร้อยละ 35 จำนวน 3.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส)
กลุ่มที่ 4 อื่นๆ ได้แก่หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด ร้อยละ 10 จำนวน 1 ล้านโดส
โดยการจัดสรรวัคซีนดังกล่าว จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีตลาดการค้าชายแดนช่องจอม ซึ่งถือว่าเป็นตลาดชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอีสานใต้ และยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีประชาชนเดินทางผ่านไปมาทั้งขนส่งสินค้าจากพื้นที่จังหวัดต่างๆ เข้ามา รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเลือกซื้อสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ ชายแดนดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ใช้ผลักดันแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงและจังหวัดต่างๆเพื่อกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนให้ ทั้งที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่ติดกัน ไม่มีตลาดการค้าชายแดน แต่กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนก่อน ทำให้ประชาชน พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าต่างๆ ในพื้นที่ตลาดชายแดนช่องจอม ได้เรียกร้องสื่อนำเสนอข่าวถึง นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และ ศบค. ให้เล็งเห็นความสำคัญชายแดนด้าน จ.สุรินทร์ อย่างเร่งด่วนด้วย
อีกทั้งล่าสุดพบข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ติดโควิด 3 ราย จากชาวกัมพูชาที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงและถูกผลักดันกลับประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ตม. ประจำสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง 1 ราย และ จนท.ตม.จากสุวรรณภูมิ ที่ย้ายมาช่วยราชการ 2 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทำประวัติแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ที่กลับจากจังหวัดต่างๆ ก่อนผลักดันกลับประเทศกัมพูชา โดยแรงงานกัมพูชาจะมารวมตัวกันอยู่ที่ข้าง สนง.ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง อ.กาบเชิง ซึ่งพบข้อมูลว่า จนท.ตม.กาบเชิง 1 รายดังกล่าว ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แต่ยังสามารถติดไวรัสโควิด-19 ได้
ขณะที่พบชายอีก 1 ราย อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นคนขับรถส่งสัมภาระให้กับแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชากลับประเทศ ที่จุด สนง.ตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง ติดโควิด-19 ซึ่งทราบผลตรวจทั้งหมดวันที่ 17 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา และถูกนำตัวรักษาที่ รพ.กาบเชิงอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ พบว่าภาคเศรษฐกิจชายแดนเริ่มซบเซามาตั้งแต่ไวรัสโควิดระบาดระลอกแรก จนมาถึงขณะนี้ ทำให้บรรยากาศการค้าขายสินค้าต่างๆในพื้นที่ชายแดนเงียบเหงา ร้านค้าปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง พ่อค้าแม่ค้าที่หาเช้ากินค่ำ ยังคงคาดหวังกับมาตรการของรัฐบาลที่จะควบคุมให้สถานการณ์ในประเทศเป็นปกติโดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 ที่ให้มีคุณภาพและทั่วถึงโดยเร็ว โดยเฉพาะเมืองหน้าด่านชายแดนอย่าง จ.สุรินทร์ ก่อนที่เศรษฐกิจจะย่ำแย่ไปมากกว่านี้
นางพัชรินทร์ อายุ 52 ปี แม่ค้าร้านโชว์ห่วย ตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดชายแดนช่องจอม กล่าวว่า ตรงนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความเสี่ยงเยอะ อยากให้รัฐบาลเร่งจัดสรรวัคซีนให้เร่งด่วนด้วย เพราะเป็นตลาดให้ชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน ใหญ่กว่า จ.บุรีรัมย์ และเป็นพื้นที่ที่ผลักดันชาวกัมพูชากลับประเทศด้วย มีความเสี่ยงมาก เพราะส่งแรงงานต่างด้วยกลับประเทศเป็นร้อยคนทุกวัน จ.บุรีรัมย์ ไม่มีความเสี่ยงเท่า จ.สุรินทร์ ไม่มีแรงงานต่างด้าวผ่านกลับประเทศ เหมือนกับที่ชายแดนช่องจอม เรามีความเสี่ยงเยอะกว่า แต่ทำไมบุรีรัมย์ได้ สุรินทร์ถึงไม่ได้ก็น่าคิด ากถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมองเห็นความสำคัญด้วย
ด้าน นางศิริภา อายุ 49 ปี แม่ค้าขายสินค้าโชว์ห่วย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญชายแดนด้าน จ.สุรินทร์ เพราะมีความเสี่ยงมากที่สุด เห็นว่า จ.บุรีรัมย์ ได้ ทำไม จ.สุรินทร์ ไม่ได้ เป็นเมืองหน้าด่านที่มีคนเข้าออกมาก แรงงานต่างด้าวก็ถูกผลักดันที่ช่องจอมแห่งนี้เยอะ อยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญด้วย