เกาหลีเหนือเผชิญข้าวยากหมากแพง ราคาอาหารพุ่ง กล้วยกิโลฯ เกือบ 1,500 บาท

เกาหลีเหนือเผชิญข้าวยากหมากแพง ราคาอาหารพุ่ง กล้วยกิโลฯ เกือบ 1,500 บาท

เกาหลีเหนือเผชิญข้าวยากหมากแพง ราคาอาหารพุ่ง กล้วยกิโลฯ เกือบ 1,500 บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภัยธรรมชาติ - โควิดรุมเร้า ทำเกาหลีเหนือส่อขาดแคลนอาหาร ราคาข้าวในประเทศ พุ่งเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์

ช่วง 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา การปรากฏตัวของ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ในสภาพที่ดูซูบผอมผิดปกติ พร้อมกับประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก สืบเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เผชิญตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งพายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วมจึงทำให้เป้าหมายในการเก็บเกี่ยวไม่เป็นไปตามแผนและเพียงพอจะเลี้ยงประเทศ

ประกอบกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่แม้รัฐบาลเปียงยางจะอ้างว่า ยังไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศ แต่ผลจากการปิดพรมแดนจีนทำให้การขนส่งสินค้าที่จะเป็นระหว่างพรมแดนต้องชะงักงัน

เรื่องดังกล่าว เป็นเหตุให้มีรายงานว่าราคาอาหารในเกาหลีเหนือกำลังพุ่งกระฉูด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประการเริ่มผันผวนอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเปิดพรมแดนกับจีนอีกครั้ง

โดยสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) รายงานว่า ราคาอาหารในเกาหลีเหนือกำลังพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดย RFA อ้างแหล่งข่าวว่าจากการสำรวจในกรุงเปียงยาง ราคาสินค้าอาหารโดยเฉพาะข้าว เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 30% อันเป็นผลจากการปิดจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีเหนือและเป็นช่องทางหลักที่เกาหลีเหนือพึ่งพิงด้านอาหาร ปุ๋ย และพลังงานเป็นหลัก

ผู้อาศัยในทางใต้ของชานกรุงเปียงยาง เผบกับ RFA เมื่อ 9 มิ.ย. ว่าเป็นเรื่องแปลกมากที่ราคาอาหารของช่วงเช้ากับค่ำผันผวนแตกต่างกัน "เช้าเมื่อวานนี้ที่ตลาดท้องถิ่นในเปียงซอง ราคาข้าวในประเทศอยู่ที่ 5,400 วอนเกาหลีเหนือ (KPW) หรือ ราว 188 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ราคากลับลดเหลือ 4,900 วอนเกาหลีเหนือ (ราว 170 บาท) ก่อนเวลาตลาดปิด ส่งผลให้ชาวเมืองหลายคนเลือกที่จะไปใช้จ่ายกันในช่วงตลาดใกล้ปิดเนื่องจากราคาที่ถูกกว่า

ชาวบ้านอีกรายในมณฑลรยองชอน จังหวัดพย็องอันเหนือ เผยกับ RFA ว่าตอนนี้ข้าวที่ผลิตในประเทศราคากิโลกรัมละ 5,000 วอน หรือ 174 บาท สูงกว่าราคาเฉลี่ยของเดือน เม.ย. ที่เคยอยู่ที่กิโลกรัมละ 4,000 วอน หรือ 139 บาท

ชาวบ้านรายนี้ยังเผยอีกว่า ช่วงเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย. เป็นช่วงที่เรียกว่า "Barley Hump" อันหมายถึงช่วงที่การเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วงหมดลง แต่ข้าวบาร์เลย์ยังไม่สุก ชาวเกาหลีสมัยก่อนหลายคนจึงต้องอดอาหารอดอาหารในช่วงนี้ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในสต็อกของรัฐเกือบหมดคลัง ราคาข้าวจึงพุ่งขึ้นสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมาหากเป็นช่วงเวลาปกติ เกาหลีเหนือจะสามารถนำเข้าผลผลิตจากจีเพื่อชดเชยกับส่วนที่ขาดแคลนในประเทศ แต่การปิดพรมแดนจากการระบาด ทำให้การนำเข้าอาหารขาดแคลนและราคาสูงขึ้นกว่าปกติ บางรายงานคาดการณ์ว่าเกาหลีเหนืออาจประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารสูงถึง 1.35 ล้านตัน

ในกรุงเปียงยาง แม้มีความพยายามควบคุมราคาสินค้าแล้ว แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ราคาข้าวจะขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 7,000 วอน (ราว 244 บาท) จาก 5,000 วอน (170 บาท) เมื่อเดือนที่แล้ว

ขณะที่เว็บไซต์เดลี เอ็นเค (Daily NK) ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวในเกาหลีเหนือรายงานว่า นอกจากราคาข้าวที่ผันผวนและพุ่งกระฉูด กล้วยหนึ่งกิโลกรัมมีราคาเกือบ 45 ดอลลาร์ (หรือราว 1,400 บาท) ภายใต้ความดิ้นรนทางเศรษฐกิจที่เกาหลีเหนือยังคงอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของนานาชาติ เนื่องจากการเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการกลางพรรคแรงานเกาหลี นายคิมยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารกับคณะโปลิตบูโร โดยตอนหนึ่งนายคิมยังคงแสดงความยินดีที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศเติบโตขึ้นหนึ่งในสี่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้จะสวนทางกับการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ นายคิมยังกล่าวถึงประเด็นความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา แต่รายงานข่าวจากสื่อกระบอกเสียงเกาหลีเหนือไมได้ระบุถึงรายละเอียดเรื่องดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook