“เส้นด้าย - Up For Thai” พลังประชาชน สะท้อนสังคมช่วงโควิด-19

“เส้นด้าย - Up For Thai” พลังประชาชน สะท้อนสังคมช่วงโควิด-19

“เส้นด้าย - Up For Thai” พลังประชาชน สะท้อนสังคมช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คนไทยไม่เคยทิ้งกัน” คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอในทุกวิกฤตที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ภาพประชาชนที่ออกมาช่วยเหลือกันและกันในยามเกิดปัญหา กลายเป็นภาพชินตาและสร้างความอิ่มเอมใจให้กับทุกคนที่ได้พบเห็น เช่นเดียวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่แสดงให้เห็น “น้ำใจ” ของคนไทยที่ส่งต่อให้กันอย่างล้นหลามอีกครั้ง ทั้งโครงการ “ตู้ปันสุข” ที่แบ่งปันอาหารและของใช้จำเป็นให้กับผู้เดือนร้อน การดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ไปจนถึงการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อช่วยกันจัดการปัญหา “เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ” 

แม้การช่วยเหลือกันเองของภาคประชาชนจะทำให้หัวใจอบอุ่น แต่มันก็ทำหน้าที่สะท้อนสังคมไทยด้วยเช่นกัน แล้วภาพสะท้อนของสังคมที่ว่านั้นคืออะไร Sanook คุยกับตัวแทนของกลุ่มประชาชนที่รวมตัวกันในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเรียนรู้ปัญหาและสะท้อนเสียงของคนทำงานไปให้ถึงรัฐบาล ซึ่งเป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

หนึ่งความสูญเสีย สู่ล้านความช่วยเหลือ 

ข่าวการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของคุณกุลทรัพย์ วัฒนผล หรือ “อัพ VGB” นักกีฬาอีสปอร์ตรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจของประชาชนในช่วงที่โรคโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง ข้อความบนโลกออนไลน์ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตระบุว่า เขารอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวหลายวัน แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการรักษา จนกระทั่งเขาอาการทรุดหนักและเสียชีวิตในที่สุด การเสียชีวิตของคุณกุลทรัพย์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มภาคประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนด้วยกันเอง ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังอ่อนล้าและสิ้นหวัง 

“โครงการนี้เริ่มต้นจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของคุณอัพ ซึ่งเป็นเพื่อนของผม พอเขาเสียชีวิต ก็เลยมีการพูดคุยกันในโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า “คลับเฮ้าส์” ว่าเราจะทำอะไรได้บ้างที่จะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ในฐานะประชาชน เพราะเรารู้สึกว่า ลำพังแค่ภาครัฐอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าภาคประชาชนสามารถเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ น่าจะเป็นเรื่องดี เราก็เลยตั้งกลุ่มขึ้นมา เรียกว่ากลุ่มอาสาสมัคร Up For Thai ก็คือมาจากชื่อของคุณอัพนั่นเอง” คุณชายอดัม - หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล หัวเรือใหญ่โครงการ “ต้องรอด - Up For Thai” เล่าที่มาที่ไปของกลุ่มให้ฟัง 

ต้องรอด Up For Thai

เช่นเดียวกับคุณภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มเส้นด้าย” ที่เล่าว่า หลังจากที่คุณกุลทรัพย์เสียชีวิต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายคนหนึ่งได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเจรจากับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งให้ช่วยรับตัวคุณแม่ของคุณกุลทรัพย์เข้ารักษาโรคโควิด-19 นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งกลุ่มนี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลือคนอื่น ๆ ไม่ให้ต้องประสบชะตากรรมแบบที่คุณกุลทรัพย์เผชิญ ในขณะที่ชื่อ “เส้นด้าย” ก็มาจากในช่วงเวลานั้น มีการถกเถียงกันเรื่องการมี “เส้นสาย” จึงจะทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล 

“เราตั้งกลุ่มที่เรียกว่าเส้นด้ายขึ้นมา มันคือเส้นของคนที่ไม่มีเส้น คือถ้า “ได้” แปลว่ามีเส้น เราต้องมีเส้นเราจึงจะได้ เราจึงใช้คำนี้แทน ก็เหมือนกับว่า เราเองก็มีเส้นเหมือนกัน เส้นของคนที่ไม่มีเส้น เป็นเส้นด้ายเล็ก ๆ ธรรมดาที่มาช่วยกันทำ” คุณภูวกรกล่าว

ภารกิจหลักของกลุ่มเส้นด้ายคือการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งเรื่องการจัดเตรียมรถรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมถึงการติดต่อประสานงานเพื่อหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และส่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ พวกเขายังจัดทำ “โครงการบ้านเส้นด้าย” เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับเตียงรักษา เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปแพร่กระจายให้กับคนในครอบครัว ในขณะที่กลุ่ม Up For Thai ก็เริ่มจากการให้ความรู้และข้อมูลกับกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสี่ยงสูง ก่อนจะพัฒนาไปเป็น “โรงครัวต้องรอด” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้กักตัวและขาดรายได้จากการทำงาน 

“เราค้นพบว่าชุมชนแออัดเริ่มมีการติดเชื้อ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เขาต้องกักตัวและไม่มีรายได้ เราจึงคิดว่าการเข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านี้เพื่อพยุงให้เขาอยู่ได้ในพื้นที่ จนกระทั่งสามารถกลับมาทำงานได้ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นโรงครัวต้องรอดในปัจจุบัน” คุณชายอดัมเล่า 

รอยต่อของภาครัฐ 

“การรับมือภัยพิบัติระดับประเทศ ลำพังแค่ภาครัฐอย่างเดียว ทรัพยากร กำลังคน อาจจะไปโฟกัสที่เรื่องที่จำเป็นที่สุด เช่น การตรวจหาเชื้อ การดูแลจัดการผู้ป่วย หรือการบริหารจัดการวัคซีน ส่วนเราก็ช่วยในเรื่องของการดูแล จริง ๆ ไม่ใช่แค่เราหรอก หน่วยงานรัฐก็พยายามเข้ามาดูแลตรงนี้ แต่มันไม่เพียงพอ จำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นแสนคนในชุมชนแออัด 641 แห่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย” คุณชายอดัมตอบคำถามว่าทำไมประชาชนจึงต้องออกมาช่วยเหลือกันเอง 

ในขณะที่คุณภูวกรก็แสดงความคิดเห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบการทำงานของภาครัฐที่ไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ขณะที่แต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องปฏิบัติงานภายใต้กรอบกติกาที่ถูกบัญญัติขึ้นภายใต้ “สถานการณ์ปกติ” เมื่อเกิดภาวะโรคระบาด ซึ่งเป็น “สถานการณ์ไม่ปกติ” แต่ละหน่วยงานจึงไม่กล้าทำนอกกติกาของตัวเอง

เส้นด้าย - Zendai

เขาสั่งว่า 1669 จะไปบริการคนที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผลตรวจ แล้วคนที่ป่วยโควิด-19 แต่ไม่มีผลตรวจล่ะ พอเจอแบบนี้ ระบบบริการของรัฐไม่ขยับแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมีคนเยอะแยะที่อาการโควิด-19 กำเริบ โดยที่เขายังไม่ทันได้ไปตรวจ เพราะฉะนั้น คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่อาการกำเริบโดยที่ยังไม่ได้ไปตรวจจึงมีเยอะมาก” คุณภูวกรชี้ 

การปฏิบัติงานตามกรอบกติกาของหน่วยงานราชการ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในภาวะสิ้นหวังและหวาดกลัวเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคหนึ่งของกลุ่มภาคประชาชน ที่เข้าไปทำงานประสานและจัดการปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยเช่นกัน 

“เขาจะมองเราด้วยความหวาดระแวง และรู้สึกว่าเราคือปัญหาของเขา คือคนที่อยู่ในระบบ เขาจะมีวิธีคิดที่ว่า ทำอะไรต้องปลอดภัยในหน้าที่การงานเอาไว้ก่อน ถ้าทำดีอย่างเต็มที่ แต่มันส่งผลกระทบต่อความหน้าที่ความรับผิดชอบ เขาก็จะไม่ทำ ดังนั้น พอเราไปแตะหรือทำสิ่งนั้น มันจึงเป็นการไปทำให้เขาต้องมาทำตามเรา เขาก็จะรู้สึกว่าเราเป็นปัญหา” คุณภูวกรสะท้อน

อย่างไรก็ตาม คุณชายอดัมก็ระบุว่า กลุ่ม Up For Thai ไม่ได้มีปัญหากับระบบราชการมากนัก เนื่องจากมีทีมที่ทำงานประสานกับภาครัฐจำนวนมาก พร้อมกับเข้าไปสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐ และมี “ผู้ใหญ่” ในหน่วยงานนั้น ๆ ที่สามารถเข้าไปชี้แจงเมื่อเกิดปัญหาได้ ทั้งนี้ ทางกลุ่มจะติดต่อกับกับชุมชนโดยตรง เช่น ผู้นำชุมชนโดยธรรมชาติ ผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครในชุมชน จึงทำให้พวกเขาผ่านความยุ่งยากของการสื่อสารกับทางภาครัฐได้ 

ภาคประชาชนสะท้อนปัญหาสังคมไทย 

การลงมาทำงานช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ทำให้คุณภูวกรมองเห็นปัญหาของสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหา “ผู้มีอำนาจปกครอง” ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต 

ต้องรอด Up For Thai

“ประเทศไทยไม่มีความพร้อมในเรื่องสาธารณสุขในเวลาฉุกเฉินแบบนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วประเทศของเรามีงบประมาณมากพอ เรามีเงินพอที่จะดูแลคนได้ แต่เงินตรงนั้นไม่ถูกนำมาใช้อย่างรวดเร็ว จริง ๆ โควิด-19 เกิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ผู้บริหารอาจจะไม่ทันคิดว่าถ้าเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น จึงตั้งรับไม่ทัน” คุณภูวกรชี้ “จริง ๆ เรามี ม.44 สำหรับสถานการณ์นี้ เขาตั้งหน่วยงานฉุกเฉินขึ้นมาที่สามารถสั่งการข้ามกรม ข้ามกระทรวง ข้ามทุกอย่างได้หมด แต่การสั่งการแบบนั้นไม่ได้ถูกแบ่งมาใช้ในภาคการช่วยเหลือผู้ป่วย” 

ทางด้านคุณชายอดัมก็แสดงความคิดเห็นว่า แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติอยู่ทุกปี แต่ประเทศไทยกลับไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะวิกฤตเข้าด้วยกัน และทำหน้าที่สื่อสารให้กับประชาชนได้อย่างชัดเจน กระชับ และได้ใจความ กอปรกับสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้เกิดข่าวสารที่มีความคลาดเคลื่อนหรือเฟกนิวส์จำนวนมาก ขณะที่ภาครัฐก็ไม่สามารถตอบสนองต่อเฟกนิวส์ได้เร็วพอ จึงทำให้การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในช่วงเวลาวิกฤตกลายเป็นเรื่องลำบาก 

“คนที่อยากสื่อสารไม่ได้สื่อสาร คนที่สื่อสารก็สื่อสารคลาดเคลื่อน หรือคนที่รับสารก็รับสารคลาดเคลื่อน ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยไม่ชัดเจน” คุณชายอดัมชี้ 

“อีกเรื่องหนึ่งคือคนในสังคมกลัวกันเอง ไม่ไว้ใจกันเอง ชัดเจนที่สุดสองครั้ง คือผมประสานโรงพยาบาลไปตรวจเชิงรุก เราพูดชัดเจนก่อนจัดงานว่า จุดตรวจเชิงรุกนี้ไม่ได้ตรวจให้ชุมชนของคุณแค่นั้น แต่ตรวจให้คนไทยทุกคน เราแต่มาใช้พื้นที่ตรงนี้ แต่พอวันจริง คนในชุมชนก็ออกมาโวยวายว่าทำไมคนนอกมาตรวจ เดี๋ยวคุณจะเอาเชื้อมาติดฉัน แล้วก็ทะเลาะกัน หรือเหตุการณ์ที่มีคนป่วยโควิด-19 คนในชุมชนก็จะเริ่มบอกว่า เมื่อไรมันจะไปจากบ้าน” คุณภูวกรเสริม 

รัฐบาลคือกุญแจแก้ไขปัญหา 

“กระบวนการสำคัญที่เราทำอยู่ ณ วันนี้ เราทำเพื่อพยุงชุมชน อาสาสมัครทุกคน ทุกองค์กร ภาคประชาชน ที่เขาทำก็คือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จนกว่าภัยพิบัตินั้นจะจบลง แต่ภัยพิบัติระดับประเทศจะจบลงได้ ต้องเกิดจากการจัดการระดับประเทศ” คุณชายอดัมกล่าว 

เส้นด้าย - Zendai

รัฐบาลเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพราะรัฐบาลมีอำนาจในการบริหารและอำนาจสั่งการอยู่ในมือ รวมถึงอำนาจในการจัดหา “วัคซีน” ให้กับประชาชน ซึ่งคุณภูวกรชี้ว่า ถ้ามีการจัดการวัคซีนได้อย่างเร็วที่สุด เร็วกว่านี้ มีทางเลือกให้ประชาชนมากกว่านี้ ให้ทั่วถึงมากกว่านี้ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์โรคโควิด-19  และลดความตื่นตระหนกของประชาชนได้มากกว่านี้

“รัฐต้องทำให้คนติดเชื้อโควิด-19 ลดลง อัตราการตายลดลง คนเข้าโรงพยาบาลสนามได้รวดเร็วขึ้น คนที่จะไปจากเตียงเขียวเป็นเตียงแดงสามารถได้รับการตอบสนองได้อย่างทันท่วงที มีระบบสาธารณูปโภคที่รองรับผู้ป่วย หรือผู้กักตัว พร้อมมีระบบช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ผู้ป่วยติดเตียง คนแก่ชรา และเด็ก นั่นเป็นสิ่งที่เขาควรทำ ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะในกรุงเทพปริมณฑล หรือในต่างจังหวัด แล้วท้ายสุดคือการแจกจ่ายวัคซีนให้ทั่วถึง มีจำนวนหลากหลายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คุณชายอดัมแสดงความคิดเห็นปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook