ผู้ป่วยวิกฤตใน กทม. พุ่งสูงทุกวัน กรมการแพทย์ ยอมรับขยายเตียงไอซียูไม่ได้อีกแล้ว
ผู้ป่วยวิกฤต กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พุ่งทุกวัน แต่ทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีจำกัด กรมการแพทย์ยอมรับขยายเตียงไอซียูไม่ได้แล้ว
(23 มิ.ย.64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่าสถานการณ์จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มศักยภาพเกือบทุกแห่ง ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการสีเขียว กลุ่มมีอาการป่วยเล็กน้อย สีเหลือง และกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักสีแดง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยทุกรายต้องใช้เวลา โดยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยอาการหนักไอซียู มีจำนวนเพิ่มขึ้นในขณะที่ศักยภาพทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีจำกัด ทั้งเตียงและบุคลากรซึ่งไม่สามารถขยายเพิ่มได้แล้ว
โดย ก่อนหน้านี้ทางกรมการแพทย์ได้มีการขยายเตียง ICU เพิ่มอีก 400 เตียง จากเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ข้อมูลการครองเตียงล่าสุด พบว่า ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล 21 มิถุนายน 2564 ห้องไอซียูความดันลบ ครองเตียง 268 เตียงว่าง 46 หอผู้ป่วยวิกฤตที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียงว่าง 68 ขณะที่เตียงสนาม ครองเตียง 2,541 เตียงว่าง 803
ส่วนแนวทางการรักษามีการปรับการให้ยาเฉพาะเร็วขึ้นจากเดิม เพื่อลดกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ICU เพราะต้องรอเตียง อาจเป็นส่วนที่ทำให้อาการทรุดหนักเร็วขึ้น
ขณะนี้ ผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน อ้วน และตอนนี้พบผู้สูงอายุติดเตียงมากขึ้น ได้หารือกับ กทม. เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต ยืนยัน การพบผู้เสียชีวิตที่มากขึ้นไม่ได้มาจากระบบการรักษาที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่เป็นผลต่อเนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น
การแก้ปัญหาขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข และทุกฝ่าย พยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง ทั้งการแบ่งโซนดูแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ได้หารือกับ กทม. ออกแนวทาง Community Isolation คือ ให้ชุมชนดูแลกันในกรณีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระหว่างรอการเข้าระบบการรักษา และกรณีการป่วยที่ไม่มีอาการ อีกทั้งทำบับเบิลแอนด์ซีลไว้
ขณะเดียวกันตอนนี้ มีการติดเชื้อในผู้สูงอายุมากขึ้น เบื้องต้นได้มีการหารือ กทม. จัดทำแนวทาง Nursing Home Isolation กรณีหากผู้ดูแลและผู้สูงอายุติดเชื้อ แต่อาการไม่มาก ให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุระหว่างรอเตียง ขณะเดียวกันจะมีแพทย์ในพื้นที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อผ่อนคลายระหว่างการจัดสรรเตียง