ส่องสาระสำคัญ 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอรัฐสภาพิจารณา 23-24 มิ.ย.นี้
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ได้ยื่นญัตติเสนอต่อประธานรัฐสภารวม 13 ร่าง ประกอบด้วย
* พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ 1 ร่าง ให้มีการแก้ไข 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น ได้แก่
- แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เช่น สิทธิการให้ประกันตัว สิทธิของชุมชนในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐ
- แก้ไขระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
- แก้ไขบทบัญญัติเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ที่อยู่ในมาตรา 144 ที่ห้าม ส.ส.และ ส.ว. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเสนอแปรญัตติงบประมาณ
- แก้ไขมาตรา 185 เพิ่มอำนาจ ส.ส.ให้นำประชาชนไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้
* พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ 6 ร่าง ได้แก่
– ร่างที่ 1 เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน
- แก้ไขมาตรา 29 เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม รายละเอียดของการประกันตัว รายละเอียดของการต่อสู้คดี เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มีรายละเอียดอยู่มาก แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เหลือเพียง 2 มาตรา
- แก้ไขมาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลักในการปกป้องสิทธิของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนนี้ออกไปมากพอสมควร
- แก้ไขมาตรา 46 เรื่องสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ระบุรายละเอียดไว้มากพอที่จะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตัดส่วนนี้ออกไป
- แก้ไขมาตรา 72 เรื่องหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยมีการแก้ไขเพื่อกำหนดให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ซึ่งจะต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
– ร่างที่ 2 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง
- แก้ไขมาตรา 83 เรื่องการกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง และสามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนได้
- แก้ไขมาตรา 91 เรื่องการคำนวณสัดส่วนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะมีสิทธิ์ได้รับจัดสรร ซึ่งเปิดกว้างให้มีการพูดคุย และหากจะมีการคำนวณสัดส่วนคะแนนก็จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
– ร่างที่ 3 เกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี
- แก้ไขมาตรา 159 เรื่องการกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทำได้ 2 กรณี คือ 1. บุคคลที่พรรคการเมืองได้ยื่นเป็นบัญชีของพรรคว่าบุคคลใดสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี 2. ผู้ได้รับการเสนอชื่อในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.
- ยกเลิกมาตรา 272 เรื่องอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี
– ร่างที่ 4 เกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
แก้ไขมาตรา 256 ให้สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นกว่าฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้ในวาระที่ 1 ต้องมี ส.ส.เห็นชอบจำนวน 1 ใน 3 (84 คน) และในวาระ 3 กำหนดเงื่อนไขว่า ส.ว.ต้องเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ใน 3 (84 คน) โดยให้ตัดเงื่อนไขที่กำหนดจำนวน ส.ส.และ ส.ว.เป็นจำนวนบังคับที่ต้องให้ความเห็นชอบในวาระ 1 และวาระ 3 ออกไป แล้วแก้ไขเป็นการใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ซึ่ง ส.ว.ก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการเติมเต็มในคะแนนเสียง 2 ใน 3
– ร่างที่ 5 เกี่ยวกับการตรวจสอบความผิดทางจริยธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
แก้ไขมาตรา 236 และมาตรา 237 เรื่องกระบวนการตรวจสอบและดำเนินคดีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดว่าการดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.นั้นให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา แล้วให้ประธานรัฐสภาพิจารณาตัดสินใจก่อนว่าจะเห็นสมควรยื่นต่อศาลฎีกาหรือไม่ โดยแก้ไขให้ประธานรัฐสภาเป็นคนกลางส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
– ร่างที่ 6 เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น
แก้ไขมาตรา 76/1 มาตรา 76/2 และมาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 และมาตรา 254 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจท้องถิ่นลดน้อยถอยลงจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่สาระสำคัญที่ระบุให้การเลือกผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ระบุเพิ่มเติมว่า หรือวิธีการอื่น โดยแก้ไขให้การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดในเรื่องการกำหนดหลักประกันขั้นพื้นฐานให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจในกิจการได้เองอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศรษฐกิจ และสาธารณูปโภคต่างๆ เมื่อมีการตั้งหลักในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ก็จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยต้องมีการกำหนดไว้เป็นสาระสำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
* พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกันเสนอ 2 ร่าง ได้แก่
– ร่างที่ 1 เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 1 มาตรา เรื่องบทบาทและหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยให้มีรายได้อยู่เหนือเส้นความยากจนที่ 36,000 บาทต่อปี
– ร่างที่ 2 แก้ไขมาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยระบุให้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและโลก
* พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ ร่วมกันเสนอ 5 ร่าง ประกอบด้วย
– ร่างที่ 1 แก้ไขมาตรา 272 โดยตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฉบับเดียวที่พรรคก้าวไกลร่วมลงชื่อด้วย
– ร่างที่ 2 เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 45 และ 47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
– ร่างที่ 3 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง แก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ โดยกำหนดให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม
– ร่างที่ 4 ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และ 279 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยกเลิกอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ส่วนร่างแก้ไขมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ประธานรัฐสภาระบุว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้นำมาบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุม