เปิดปากคนด่านหน้า กทม. "โควิดหนักมาก" วอนเปลี่ยนวิธีรับมือ ก่อนต้องเลือกใครอยู่ใครไป
ผ่านมาแล้ว 2 เดือนกว่า โรคโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้ มิหนำซ้ำ ภาวะเตียงขาดแคลนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. กลับมาได้ยินหนาหูอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน มิ.ย. จนผู้คนในวงกว้างหันกลับมาให้ความสนใจ
เพจหมอแล็บแพนด้า ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.9 ล้านบัญชีในเฟซบุ๊ก โพสต์เมื่อช่วงค่ำวันพุธ (23 มิ.ย.) ว่ามีคนจำนวนมากส่งข้อความมาขอความช่วยเหลือ เพราะญาติหรือคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไม่มีเตียงรองรับ
นายแพทย์วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในคนด่านหน้า ที่เพิ่งกลับจากการลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยช่วงค่ำวันพุธ (24 มิ.ย.) ยืนยันเรื่องดังกล่าวว่าสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครขณะนี้เข้าขั้น "หนักมาก" เตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤต ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่เพียงพอแล้ว
แพทย์รายนี้ พูดต่อไปว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดแคลนและสำคัญในการรับมือต่อการระบาดในครั้งนี้ ก็คือ บุคลากรทางการแพทย์
"อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ป้องกันเชื้อ ยังพอหาซื้อได้อยู่ แต่ตอนนี้เราขาดกำลังคนมากกว่าครับ"
นพ.วิรุฬ บอกอีกว่า การที่ภาครัฐรับรู้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ที่เกิดจากการขาดการสื่อสารกัน ก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งต่อการควบคุมการระบาด ยกตัวอย่างชุมชนคลองเตย ว่าเดิมทีสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุกและเก็บข้อมูล แต่เมื่อกรุงเทพมหานครรับงานช่วงดังกล่าวต่อ และว่าจ้างเอกชนมาทำหน้าที่ตรงนี้ การเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันก็มีระยะห่างมากขึ้น
ข้อมูลจากเพจ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 พบว่า ระหว่างวันที่ 11-24 มิ.ย. กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) รายใหม่ในแต่ละวันสูงที่สุดของประเทศ โดยสูงกว่า 800 รายทุกวัน ยกเว้นวันที่ 21 มิ.ย. ที่พบ 624 คน ส่วนวันที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่สูงที่สุดในช่วงดังกล่าว คือ วันที่ 24 มิ.ย. ที่ 1,359 คน
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพรายนี้ บอกอีกว่า ตนประเมินไม่ได้ว่าระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครจะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเข้ามาเฉลี่ยวันละราว 1,000 รายเช่นนี้ได้อีกนานเท่าใด แต่สิ่งที่ควรรีบตัดสินใจคือเปลี่ยนวิธีรับมือให้ได้ประสิทธิภาพมากกว่านี้
"ถ้าไม่ปรับมาตรการการควบคุมโรค เราอาจจะต้องเลือกว่าจะให้ผู้ป่วยคนไหนอยู่ คนไหนไป" นพ.วิรุฬ ให้ความเห็น
นพ.วิรุฬ กล่าวว่า การระบาดที่รุนแรงขึ้น เท่ากับว่าก็จะต้องมีคนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามีผู้ป่วยที่อยู่ติดบ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรัง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ อีก ที่นอกจากต้องดูแลรักษาเป็นประจำแล้ว คนกลุ่มนี้อาจมีอาการหนักกว่าคนอื่นเมื่อโรคโควิด-19 แพร่เข้าไปถึง
แพทย์รายนี้ให้มุมมองเกี่ยวกับวัคซีน โดยยกตัวอย่างชุมชนคลองเตยว่า ที่นี่ยังมีคนติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน แม้ฉีดวัคซีนไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับวัคซีน ส่วนคนที่ฉีดไปแล้ว ก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ได้อีก เพราะอย่างที่ทราบว่าวัคซีนที่มีนั้นป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ คนด่านหน้าที่คลองเตยก็ยังคงต้องรับมือกับการระบาดทุกวัน สิ่งที่คนทั่วไปจะช่วยสนับสนุนได้ คือ อาหารสำหรับคนในชุมชน ที่ขาดรายได้เพราะต้องกักตัว และสิ่งของอื่นๆ ที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ในแต่ละวัน
ส่วนผู้ที่ยังต้องออกไปทำงาน หาเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายและประทังชีวิตอยู่นั้น นพ.วิรุฬ มองว่า ก็คงต้องป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ต่อไป