กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชื่ออีก 2-3 เดือน โควิดอินเดียครอง กทม. แซงพันธุ์อังกฤษ
นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) แบบกลายพันธุ์ชนิดเดลตา (อินเดีย) อาจมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อชนิดแอลฟา (อังกฤษ) ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ถ้าหากอัตราการติดเชื้อยังเป็นเหมือนเดิม
"ถ้าเรตมันยังเป็นอย่างงี้เนี่ยนะครับ เราก็คาดว่าอีกสัก 2-3 เดือนเนี่ย สายพันธุ์เดลตาเนี่ยนะครับ ในเขตกรุงเทพมหานครเนี่ย อาจจะมากกว่าสายพันธุ์ UK เดิมนะครับ" นายศุภกิจ กล่าว
"แต่ว่าถ้าดูจากอัตราการเพิ่มแบบนี้เข้าใจว่า ไม่เกิน 2 เดือน น่าจะ UK น่าจะถูกเดลตาแซง"
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยอีกว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร 1,022 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. พบว่า การติดเชื้อชนิดแอลฟายังคิดเป็นส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อที่ 67.51% ส่วนชนิดเดลตาอยู่ที่ 32.39% ขณะที่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) มีเพียง 0.01%
ส่วนกลุ่มตัวอย่างนอกกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,744 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังคงติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดแอลฟา ที่ 87.61% ชนิดเดลตา 7.34% แต่ชนิดเบตากลับสูงถึง 5.05%
วารสารการแพทย์บริเตน (บีเอ็มเจ) เผยว่า ไวรัสแบบกลายพันธุ์ชนิดเดลตา (อินเดีย) ติดต่อได้มากกว่าชนิดแอลฟา (อังกฤษ) ถึง 60%
ศาสตราจารยเวนดีย์ บาร์กลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและหัวหน้าภาควิชาโรคติดต่อ ราชวิทยาลัยลอนดอน ในสหราชอาณาจักร เผยว่าสำนักข่าวการแพทย์ เมดิคอล นิวส์ ทูเดย์ ว่าชนิดเดลตามีการกลายพันธุ์ที่สำคัญตรงโปรตีนส่วนที่เป็นหนาม 2 อย่าง หนึ่งในนั้นทำให้ไวรัสแข็งแรงมากขึ้นเมื่ออยู่ในทางเดินหายใจ
"ชนิดแอลฟาพัฒนาไปขั้นหนึ่งเพราะมีการกลายพันธุ์บางอย่าง ส่วนชนิดเดลตาพัฒนาขึ้นมาจากตรงนั้นอีกที เรียกได้ว่าก้าวไปสองขั้น แล้วเป็นขั้นใหญ่ด้วย เพื่อให้ตัวเองพัฒนาขึ้น"