เปิดสถิติที่ไม่อยากทำลาย! โควิดระลอกเดือนเมษายน ผ่านไป 3 เดือน ตายพุ่งเกือบ 2 พันศพ

เปิดสถิติที่ไม่อยากทำลาย! โควิดระลอกเดือนเมษายน ผ่านไป 3 เดือน ตายพุ่งเกือบ 2 พันศพ

เปิดสถิติที่ไม่อยากทำลาย! โควิดระลอกเดือนเมษายน ผ่านไป 3 เดือน ตายพุ่งเกือบ 2 พันศพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หรืออาจเรียกว่าระลอกที่ 3 หรือ ระลอกเดือนเมษายน ตัวเลขยอดสะสมตั้งวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมกัน 230,438 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 2,023 ราย 

สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ วันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 26 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,889 ราย หายป่วยแล้ว 27,548 ราย เสียชีวิตสะสม 94 ราย ดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่ไม่รุนแรง และน่าจะควบคุมได้ จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยคือ คลัสเตอร์ทองหล่อ (อีกครั้ง)

กระแสของโควิดในผับทองหล่อปรากฏครั้งแรกจากข่าว ลือสะพัด! รัฐมนตรีเที่ยวผับทองหล่อที่เดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด แต่ยังทำงานปกติ-ไม่ได้กักตัว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ก่อนที่จะกลายเป็นไฟไหม้ฟาง ผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงสถานบันเทิงย่านทองหล่อ กระจายไปทั่วประเทศ วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ 96 ราย แต่ในวันที่ 5 เมษายน 2564 ยอดผู้ติดเชื้อกระโดดไปที่ 194 ราย 

หลังเทศกาลสงกรานต์ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แตะหลักพันมาโดยตลอด ก่อนที่ในวันที่ 23 เม.ย. 64 จะทะยานเป็น 2,070 ราย ซึ่งสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประจำเดือนเมษายน คือ 2,839 ราย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 และเสียชีวิตรายวันสูงสุดคือ 15 ราย สรุปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 65,153 ราย เสียชีวิตสะสม 203 ราย

สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 2-4 พันรายต่อวัน จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 พบว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไปถึง 9,635 ราย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,782 ราย และกลุ่มใหญ่จากเรือนจำ 6,853 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดคือวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 จำนวน 47 ราย สรุปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 125,444 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 918 ราย (นับตั้งแต่ 1 เมษายน)

สถานการณ์ในเดือนมิถุนายน 2564 กราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งชันขึ้นในทุกวัน ยอดสูงสุดคือวันที่ 28 มิถุนายน 2564 รวม 5,406 ราย และยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดคือวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 53 ราย สรุปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ยอดติดเชื้อรวมระลอกเมษายน 230,438 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 1,929 ราย พร้อมกันนี้ยังได้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งใหม่ เนื่องจากทรัพยากรและบุคลากรไม่เพียงพอ ทำให้มีผู้ป่วยรอเตียงเป็นจำนวนมาก และบางรายสิ้นลมหายใจก่อนที่จะได้รับการรักษาด้วยซ้ำ

ล่าสุดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ส่งสัญญาณวิกฤตหนักอย่างไม่มีคำว่าแผ่ว โดย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 5,533 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 5,489 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 44 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 57 ราย นับเป็นตัวเลข New High ทั้งผู้ติดเชื้อ (นอกเรือนจำ) และยอดผู้เสียชีวิต นับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิดมากถึง 2,080 ราย 

เรียกได้ว่าระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน (1 เมษายน 64 - 1 กรกฎาคม 64) เป็นช่วงเวลาที่วิกฤตอย่างแท้จริงของประเทศไทย ผู้ป่วยโควิดรายใหม่สะสมมากถึง 235,971 ราย และเสียชีวิตแล้ว 1,986 ราย ซึ่งก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า หลังจากนี้จะเจอตัวเลขที่หนักหนาสาหัสกว่านี้อีกหรือไม่ สถิติที่เราไม่อยากให้ทำลายจะพุ่งไปถึงจุดไหน และเมื่อไหร่ที่เราจะผ่านวิกฤตนี้ไป (ด้วยกัน) ได้จริงๆ เสียที

นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เห็นตัวเลขการระบาดของโควิด-19 รายวันที่ไม่มีแนวโน้มลดลง คงเหนื่อยใจกันทุกคน ในส่วนที่สนใจคือ ปัญหาการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์อย่างมาก

ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่่วยหายใจทั่วประเทศในรอบ 2 เดือน ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. ถึง 23 มิ.ย. 2564 จะเห็นว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังสงกรานต์ มีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า แต่หลังจากนั้นตัวเลขที่รายงานค่อนข้างคงที่ พอบริหารจัดการได้ แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา แนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยอาการหนักกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 1,209 ราย เป็น 1,526 ราย แต่จำนวนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจกลับไม่เพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 400 กว่าราย อันนี้อาจเกิดจากมีการใช้ high flow มากขึ้นแทนการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือแต่ละโรงพยาบาลต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในเตียงผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยเสียชีวิตไปก่อนที่จะสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะตอนนี้เตียงสำหรับผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มแล้วก็ได้

นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า ถึงตรงนี้เราไม่สามารถเพิ่มเตียงระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดขัดเรื่องกำลังคน ถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลหลักเพิ่มขึ้นเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะต้องนำไปดูแลรักษาในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้รับการบริการลดกว่ามาตรฐานมาก (เดิมลดบ้างพอรับได้) ทำให้ผู้ป่วยโควิดไม่ได้รับการดูแลเต็มที่เพราะคนและเครื่องมือติดตามไม่พอ และท้ายสุดทำให้บุคลากรและผู้ป่วยอื่นเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล

คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤตโควิดระลอก 4 คือ การล็อกดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าที่กว่ามาตรการเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพฯ แตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เคยทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook