เสียงของร้านอาหารในวันที่รัฐบาล “ห้ามลูกค้านั่งในร้าน” อีกครั้ง
นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกวงการ ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา หลายคนปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ขณะที่อีกหลายชีวิตไม่สามารถเดินต่อไปได้ และต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า สังคมไทยดำเนินไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ท่ามกลางภาวะโรคระบาด จนกระทั่งกลางดึกวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่มาตรการควบคุมเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการงดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และอนุญาตให้ซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านได้เท่านั้น มาตรการดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นเหมือน “ฟ้าผ่า” ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่เพิ่งจะฟื้นตัวกลับมาเปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น
ไม่มีเก้าอี้ = ฆ่ากันทั้งเป็น
“การไม่มีเก้าอี้มันเหมือนฆ่ากันทั้งเป็นเลยนะคะ เพราะว่าลูกค้าไม่กิน ลูกค้าก็เดินผ่านไป” คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งส่งผลให้รายได้ของร้านอาหารลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเธอระบุว่า รายได้หลักของร้านอาหารในประเทศไทยมาจากการนั่งรับประทานที่ร้าน ไม่ใช่การซื้อกลับบ้าน และการเดลิเวอรีเป็นแค่ 10% ของยอดขายเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารบางรายเคยมีรายได้หลักแสนต่อวัน ทว่าทุกวันนี้เหลือหลักพัน และต้องลุ้นกันรายวัน ขณะที่รายจ่ายยังอยู่ในระดับหลักหมื่นถึงหลักแสน
เช่นเดียวกับคุณนิค เจ้าของร้านอาหารบ้านโบ้ ที่รายรับของร้านหายไปกว่า 80% เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถเข้ามารับประทานอาหารที่ร้านได้ ประกอบกับการที่ทางร้านเป็นกึ่งบาร์คราฟต์เบียร์ ซึ่งไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไม่เข้าร้านเลย นอกจากนี้ คุณนิคยังเล่าว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการขายอาหารเป็นการซื้อกลับบ้านหรือใช้แพลตฟอร์มส่งอาหาร ก็มีข้อเสียเช่นกัน
“อาหารบางประเภทที่ไม่สามารถขายแบบซื้อกลับบ้านได้ ซื้อไป รสชาติไม่เหมือนเดิม ลูกค้าก็เลือกที่จะไม่สั่ง ต่อให้สั่งผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ สุดท้ายร้านก็เสียค่า GP ร้านก็ต้องไปบวกเพิ่มจากลูกค้าอีก จากที่สมมติว่าลูกค้ารับประทานอาหารที่ร้าน 50 บาท แต่พอสั่งไลน์แมน นอกจากอาหารจะไม่สดแล้ว ยังต้องเสียเพิ่มอีก” คุณนิคกล่าว
ชายขอบผู้ประกอบการ
แม้ว่าในภาพรวม ผู้ประกอบการร้านอาหารจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดอย่างถ้วนหน้า และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปจะพบว่าผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป รวมทั้งความช่วยเหลือที่ไม่ทั่วถึง เพราะในขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและแหล่งเงินทุนได้ง่าย ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ กลับเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยไป
“กลุ่มใหญ่ ถ้าเขามีสายป่าน มีทุน เขาก็สามารถที่จะอยู่ได้ มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่หนักเท่ากับ SME การเข้าถึงแหล่งทุนด้วย รายใหญ่ก็จะมีหลักทรัพย์ไปกู้กับธนาคาร มีความช่วยเหลือที่ถูกวางเป็นอันดับแรก ส่วน SME รายย่อยจะถูกวิเคราะห์สินเชื่อและให้ความช่วยเหลือในระดับรองลงมา เนื่องจากถูกมองว่าความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการดำเนินกิจการไม่เท่ารายใหญ่ บางรายที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล ก็จะได้รับความช่วยเหลือ แต่คนส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้งเพราะเป็น SME รายเล็ก ก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบและความช่วยเหลือทุกรูปแบบ เรียกได้ว่าเป็นชายขอบ SME น่ะครับ” คุณจอจาน เจ้าของร้าน Area 11 กล่าว
แม้จะพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แต่คุณจอจานก็ยอมรับว่า เสียงของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กไม่เคยดังไปถึงรัฐบาลแต่อย่างใด จนกระทั่งมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านรอบล่าสุด ที่ดูเหมือนเป็นการ “ตอกฝาโลง” ผู้ประกอบการร้านอาหาร คุณจอจานและผู้ประกอบการรายอื่นๆ จึงตัดสินใจที่จะไม่ทนอีกต่อไป และออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ ศบค. ทบทวนมาตรการใหม่อีกครั้ง โดยใช้วิธี “อารยะขัดขืน”
“คุณต่อสู้ด้วยวิธีการแบบเดิม แล้วคุณจะคาดหวังให้ผลมันเปลี่ยนแปลง มันก็ทำไม่ได้หรอกครับ ผมก็เลยออกมา แม้ว่าจะถูกมองว่าฮาร์ดคอร์หรืออะไรก็ตาม เราก็ใช้วิธีแบบอารยะขัดขืน ตอนนี้เราได้ 70 กว่าร้านแล้ว เราก็จะขึ้นข้อความอารยะขัดขืนร่วมกันในเฟซบุ๊กแต่ละร้าน แล้วก็ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล แล้วก็หลังจากนี้ก็จะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นต่อไป เราต้องดึงแนวร่วมทุกคน อย่าให้ใครมาส่งเสียงแทนเรา เราต้องออกมาพูดด้วยกัน” คุณจอจานกล่าว
ทางรอดในวิกฤตล่าสุด
เมื่อถามถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร คุณฐนิวรรณเสนอว่า นอกเหนือจากการให้เงินช่วยเหลือร้านอาหารแล้ว ในช่วงที่มีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมทั้งมีคนตกงาน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานตลอดเวลา รัฐบาลควรจัดสรรงบจ้างร้านอาหารให้ผลิตข้าวกล่องเพื่อนำไปแจกคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนงานในแคมป์ โรงพยาบาลสนาม และบุคลากรทางการแพทย์
“ตอนนี้ที่กลุ่มเราเสนอก็คือ เอาตัวเลขคร่าวๆ จากการที่มีแรงงานจากแคมป์คนงานที่รัฐบาลสั่งปิด 200,000 คน ให้รัฐบาลจ้างเราทำข้าวกล่อง 200,000 กล่อง ส่งให้แคมป์คนงานหรือโรงพยาบาลสนามที่รัฐบาลไปเปิดอยู่ แล้วก็บุคลากรทางการแพทย์ คนที่ตกงาน ในเวลา 1 เดือน มันช่วยได้ตรงที่ว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารก็มีรายได้ พนักงานก็ยังมีการจ้างงานอยู่ วัตถุดิบต่างๆ ก็ได้จำหน่ายต่อไป อันนี้ใช้เงินประมาณ 300 ล้านเท่านั้น” คุณฐนิวรรณกล่าว
ด้านคุณจอจานมองว่า รัฐบาลควรให้เงินอุดหนุน ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของแต่ละร้าน โดยอาจพิจารณาจากข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการของรัฐในช่วงที่ผ่านมา
“หลังจากที่ให้เงินอุดหนุนแล้ว ก็ต้องให้สินเชื่อซอฟต์โลนที่รัฐบาลกู้เงินมา ต้องกระจายให้ถึงแต่ละราย อาจจะเป็นให้ 5 เท่า หรือ 10 เท่าของค่าเช่าก็ได้ ให้เขาอยู่ได้อย่างน้อย 1 ปี โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงเกณฑ์รายได้หรือเกณฑ์การพิจารณาตามปกติของธนาคาร ซึ่งพวกนี้เป็นภารกิจของธนาคารของรัฐอยู่แล้ว ที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชน อย่าคำนึงถึงแต่ความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน” คุณจอจานระบุ
แต่สำหรับคุณนิค การให้เงินช่วยเหลือถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น และเขามองว่า แนวทางการช่วยเหลือที่จำเป็นที่สุดคือการเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้าน
“ร้านอาหารไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรมาก แค่อยากให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้อย่างเดียวเท่านั้น มันคือเหตุผลหลักที่ทำให้ร้านขายได้ ถ้าร้านมันเปิดได้ตามปกติ ร้านจะมีรายได้เข้ามาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินให้เราทุกเดือนเหรอ เขาไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าแต่ละร้านเขาพร้อมให้ความร่วมมือในการป้องกันภายในร้านของเขาอยู่แล้ว ทุกวันนี้ในร้านอาหารก็มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์อยู่แล้ว แต่รัฐไม่ได้สนใจ” คุณนิคกล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณจอจานมองว่า วิธีการกู้วิกฤตที่ดีที่สุด คือรัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป
“ผมก็เชิญชวนผู้ประกอบการ SME ที่ต้องออกมายืนแถวหน้า เข้ามายืนข้างหน้าด้วยกัน อย่าให้คนใดคนหนึ่งสู้โดยลำพัง และอย่าให้เป็นหน้าที่ของเพียงสมาคม องค์กรใด ทุกคนตระหนักร่วมกันว่าต้องออกมาเรียกร้องต่อสู้ ผมเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการยืนหยัดอยู่ได้ เศรษฐกิจก็อยู่ได้” คุณจอจานทิ้งท้าย