"แพทย์ชนบท" โพสต์ทวง "สยามไบโอไซเอนซ์" ไหน แอสตร้าฯ 10 ล้านโดสต่อเดือนที่สัญญา

"แพทย์ชนบท" โพสต์ทวง "สยามไบโอไซเอนซ์" ไหน แอสตร้าฯ 10 ล้านโดสต่อเดือนที่สัญญา

"แพทย์ชนบท" โพสต์ทวง "สยามไบโอไซเอนซ์" ไหน แอสตร้าฯ 10 ล้านโดสต่อเดือนที่สัญญา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วานนี้ (30 มิ.ย.) ชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ถึงกรณีการจัดสรรวัคซีนของรัฐบาล ที่ผิดไปจากที่เคยสัญญากับประชาชนไว้ ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จะเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย โดยจะมีการส่งมอบตั้งแต่ เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เดือนละ 10 ล้านโดส แต่มาจนถึงปัจจุบัน กลับกลายเป็นวัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก  ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว เปรียบเสมือนได้เสื้อเกราะบาง แทนเสื้อเกราะหนา โดยข้อความทั้งหมด ระบุว่า

มาตรการทวงคืนสัญญา แอสตร้าฯ 10 ล้านโดสต่อเดือนที่หายไป

รัฐบาลและ ศบค.แถลงชัดเจนพร้อมให้ความหวังกับประชาชนคนไทยมาตลอดว่า สยามไบโอไซเอนซ์ คือความมั่นคงด้านวัคซีนโควิดของประเทศ เราสั่งจองแอสตร้าฯ ในปี 2564 มีแผนการฉีดแอสตร้าฯ ที่เป็นวัคซีนหลัก แบ่งเป็นมิถุนายน 6 ล้านโดส แล้วหลังจากนั้นนับแต่กรกฎาคมเป็นต้นไปเดือนละ 10 ล้านโดส โดยมีซิโนแวคเป็นวัคซีนเสริม 3-5 ล้านโดส รอจนไตรมาส 4 ตุลาคมเป็นต้นไป จึงได้ไฟเซอร์โมเดิร์นนามาฉีดเพิ่ม แต่แล้วกลับกลายเป็นว่า แอสตร้าฯ สยามไบโอไซเอนซ์สามารถส่งมอบให้รัฐบาลไทยในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไปเพียงสัปดาห์ละ 1 ล้านโดสรวมเดือนละ 4 ล้านโดสเท่านั้น

หากประเทศไทยได้แอสตร้าฯ สยามไบโอไซเอนซ์เพียงเดือนละ 4 ล้านโดส เราจะมีซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะอาจต้องนำเข้าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6-10 ล้านโดสแทน ได้เสื้อเกราะบางมาใส่แทนเสื้อเกราะหนาปานกลางอย่างแอสตร้าฯ แบบนี้บุคลากรทางการแพทย์และคนไทยไม่โอเคนะครับ

รัฐบาลพยายามแก้เกมส์ขาดแคลนวัคซีนแอสตร้าฯ และ mRNA ด้วยการจัดหาวัคซีนบริจาคมาสมทบ เช่นขอบริจาคแอสตร้าฯ ญี่ปุ่นเข้ามาเสริม ขอของสหรัฐเข้ามาเสริม แต่นั่นคือของบริจาค ไว้เสริม ไม่ควรนำมานับเป็นวัคซีนหลักในระบบที่มีจองและการวางแผนสั่งซื้อตามสัญญาการจองวัคซีนไว้

ถึงเวลาแล้วที่รองนายกอนุทินในฐานะประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติต้องประชุมเพื่อจัดการปัญหานี้

เพราะแอสตร้าฯ สยามไบโอไซเอนซ์ทำให้การจัดหาวัคซีนปั่นป่วนมาก จำนวนที่ผลิตได้เดือนละ 15 ล้านโดส ทางบริษัทแม่เขาจะกันไว้ส่งมอบให้ประเทศอื่นๆด้วย จึงทำให้สัดส่วนวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตได้ จะส่งมอบให้รัฐบาลไทยประมาณ 25-30%เท่านั้น ที่เหลือต้องส่งออก และดูเหมือนวันรัฐบาลจะไม่กล้าไปต่อรองหรือใช้เครื่องมือทางกฎหมายใดๆในการทำให้ประเทศไทยได้วัคซีนแอสตร้าฯ 10 ล้านโดสต่อเดือนตามที่เคยคุยโวไว้เลย

ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายผู้ติดตามเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน จึงเห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำทุกวิถีทางให้ประเทศไทยได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ จากสยามไบโอไซเอนซ์ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือนตามที่เคยรัฐบาลเคยกล่าวอ้างไว้ให้ได้ นี่คือเป้าหมายที่ต้องทำให้ได้ แล้วค่อยจัดหาซิโนแวคมาเสริม 5 ล้านโดสให้ครบเดือนละ 15 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย

ดังนั้นวิธีการตามกฎหมายที่ทำได้ก็คือ อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561

มาตรา 18(2) ที่ระบุว่า รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจ "กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ” ฉะนั้น รัฐบาลจึงสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากสยามไบโอไซเอนซ์ได้ โดยควรกำหนดให้ส่งออกได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ที่ผลิตได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนแอสตร้าฯ ฉีดในประเทศไทย 10 ล้านโดสต่อเดือนตามเป้าเดิม เดินหน้าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างมั่นใจ

หนทางนี้สดใสและง่ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติส่วนใหญ่เขาก็เห็นด้วยแล้ว จึงหวังว่ารัฐบาลและ รมต.สาธารณสุขจะรีบดำเนินการ และทำทุกวิถีทาง ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน อย่างน้อยก็จากแอสตร้าฯ สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ใช่จากซิโนแวคที่ควรเป็นวัคซีนเสริมเท่านั้น

ประชาชนรอดูอยู่ ชี้ช่องกันขนาดนี้แล้ว อย่ารีรอเลยครับนายกประยุทธ์และรองนายกอนุทิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook