ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เฉลยกำลังผลิตวัคซีน AZ ในไทย-สองเดือนนี้ส่งมอบได้รวม 10-12 ล้านโดส

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เฉลยกำลังผลิตวัคซีน AZ ในไทย-สองเดือนนี้ส่งมอบได้รวม 10-12 ล้านโดส

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เฉลยกำลังผลิตวัคซีน AZ ในไทย-สองเดือนนี้ส่งมอบได้รวม 10-12 ล้านโดส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยกำลังการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทยอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านโดสต่อเดือน แต่ต้องแบ่งไปส่งออก เชื่อในช่วง 2 เดือนนี้จะส่งมอบได้ราว 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

คณะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญชี้วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวยังช่วยลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เสนอฉีดวัคซีนให้ตรงประสิทธิภาพ เน้นกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน ช่วยลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ลดการใช้ไอซียู ส่วนการตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังรับมือได้ ส่วนซิโนแวคช่วยลดการติดเชื้อในผู้สัมผัส 69% เร่งจัดหาวัคซีนแหล่งอื่นเพิ่มเติม

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร”

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การเสวนาวันนี้เพื่อพูดถึงอนาคตของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนจากนี้ คือ กรกฎาคม - กันยายน 2564 จะเดินหน้าอย่างไร เนื่องจากประชาชนมีความสับสน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใส เน้นหลักวิชาการแพทย์และสาธารณสุข และนำข้อมูลจริงมาพูด ถ้าสายพันธุ์เดลตาเพิ่มจำนวนมากวัคซีนตัวไหนจะได้ผล ทั้งนี้ วัคซีนทุกตัวไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยลดการเสียชีวิตและนอนไอซียู ซึ่งวัคซีนทุกตัวยังมีประสิทธิภาพลดการป่วยและเสียชีวิต จึงเห็นตรงกันว่าควรใช้วัคซีนให้ตรงกับประสิทธิภาพ คือ ฉีดในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ลดการใช้ไอซียู ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีประมาณ 16 ล้านคน ฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านกว่าคน โดยภายในกรกฎาคมนี้ต้องฉีดให้ได้ 50% คือ 8 ล้านคน และแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ต้องดูแลป้องกันตัวเอง อย่ารวมกลุ่มเดินทางจำนวนมาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก เข้มมาตรการองค์กร ทั้งแคมป์ก่อสร้าง โรงงาน และตลาดสด

นายแพทย์ทวี กล่าวว่า ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค มีการศึกษาข้อมูลจากการใช้จริงในไทยมีประสิทธิผลป้องกันโรค 71-91% ในบราซิล ที่เมืองเซรานา ที่มีสายพันธุ์ P1 ระบาด มีการฉีดวัคซีน Sinovac ครอบคลุม 80-90% ของประชากร 7-8 หมื่นคน พบอัตราตายลดลง 95% ส่วนผลต่อสายพันธุ์เดลตามีรายงานของจีนว่า ที่เมืองกวางโจวมีผู้ติดเชื้อ 166 คน ช่วยลดการติดเชื้อในผู้สัมผัสลง 69% ลดปอดอักเสบ 73% ลดเป็นโรครุนแรงหรือเสียชีวิตถึง 95% รายงานเมื่อปลายมิถุนายน 2564 แต่ยังไม่มีข้อมูลต่อสายพันธุ์เบตา

สำหรับแอสตร้าเซนเนก้ามีผลต่อสายพันธุ์อัลฟา 70-90% มีผลต่อสายพันธุ์เดลตา 80-90% แต่สายพันธุ์เบตามีข้อมูลจากแอฟริกาใต้ได้ผลแค่ 10.4% สำหรับชนิด mRNA ใหม่ที่เพิ่งวิจัยและรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชื่อ "เคียวร์แวค" ของเยอรมนีศึกษาในอาสาสมัครในยุโรปและลาตินอเมริกา 4 หมื่นคน ประสิทธิผลการป้องกันลดลงเหลือ 48% แต่ลดป่วยหนักและตายยัง 100% สาเหตุน่าจะเกิดจากเชื้อกลายพันธุ์หลายชนิด

“วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญต่อสู้กับโรคระบาด วัคซีนที่เรามีอยู่ยังใช้ได้ ส่วนการฉีดสลับเข็มหรือต้องฉีดเข็ม 3 จะได้ผลดีขึ้นหรือไม่ต้องรอผลการศึกษา สำหรับวัคซีนในเด็กนั้น เด็กมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่ และไม่ค่อยมีอาการ การเสียชีวิตต่ำ ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ที่มีการใช้ในเด็กคือ จีนและอินโดนีเซียมีการขึ้นทะเบียนฉุกเฉินใช้ในเด็กอายุ 3-17 ปี ส่วนไฟเซอร์มีการขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในเด็ก 12-15 ปี ได้มีการเพิ่มคำเตือนในเอกสารกำกับยาว่า กลุ่มวัยรุ่นอาจก่อผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและมักเกิดในเข็มสอง ในเด็กผู้ชาย อัตราเกิด 2 ต่อแสนโดส” นายแพทย์ทวี ระบุ

นายแพทย์คำนวณ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปิดประเทศได้หรือวิกฤตเพิ่มขึ้น อยากเสนอข้อเท็จจริงคือ ระลอก 3 ส่วนใหญ่มาจากสายพันธุ์อัลฟา ติดต่อรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นตรงกันว่าเดือนต่อไปสถานการณ์จะแย่กว่าเดิมจากสายพันธุ์เดลตา เพราะติดต่อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า ซึ่ง กทม.เป็นเดลตาแล้ว 40% อีก 1-2 เดือนอาจเป็นเดลตาทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิต 992 คน เดือนกรกฎาคมอาจเสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,400 คน สิงหาคมเป็น 2,000 คน และกันยายนเป็น 2,800 คน โดยการใช้วัคซีนมี 2 วัตถุประสงค์ คือ ลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียน ลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90% และการฉีดแบบปูพรมสร้างภูมิคุ้มกัน นักวิชาการมองว่าอาจจะต้องฉีดให้ได้ร้อยละ 90 ของประชากร และจะทำได้ต้องมีวัคซีนมากพอ ซึ่งทั่วโลกยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนมากเพียงพอจะฉีดแบบปูพรม จึงต้องเริ่มด้วยการฉีดเพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต

“ถ้าประเทศไทยฉีดแบบปูพรมเดือนละ 10 ล้านโดส คนสูงอายุได้วัคซีนแค่ 10% อาจต้องใช้เวลา 7-8 เดือนกว่าจะป้องกันคนสูงอายุได้ จะไม่ทันวิกฤตเตียง ผู้ป่วยจะเกินและรับไม่ไหว เราต้องยอมรับว่าวัคซีนมีจำกัด จึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์เอาวัคซีนทั้งหมดในมือทำความตกลงกันทั้งสังคม โดยฉีดในผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคก่อน เพราะร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตเป็น 2 กลุ่มนี้ เราต้องปกป้องคนกลุ่มนี้ จะลดการเสียชีวิตลงได้มาก ซึ่งในอังกฤษและอเมริกาก็ทำเช่นนี้ คาดว่าจะลดการเสียชีวิตในเดือนสิงหาคมเหลือ 800 คน กันยายนเหลือ 600-700 คน หรือประมาณ 20 คนต่อวัน อยู่ในวิสัยที่ระบบเดินหน้าได้ ก็ไม่ต้องปิดกิจการมาก ไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม เยียวยาเพิ่ม อาจผ่อนคลายได้ แต่ต้องทำมาตรการเรื่องเตียง ค้นหาคนป่วยให้เร็ว ดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุด้วย” นายแพทย์คำนวณ กล่าว

ในขณะที่ นายแพทย์นคร กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ การวางแผนจัดหาควบคู่ขยายกำลังฉีดรองรับ โดยมีศักยภาพฉีดได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน และการได้มาซึ่งจำนวนวัคซีน ซึ่งช่วงที่มีวัคซีนจำกัดเราพยายามจัดหาทุกแหล่งมาใช้ในระยะเร่งด่วน ตัวแรกคือ ซิโนแวค ตั้งแต่กุมภาพันธ์ - มิถุนายน รวม 9.5 ล้านโดส ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ทำสัญญาส่งมอบ 61 ล้านโดสในปี 2564 แต่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าต้องส่งมอบเดือนละเท่าใด ซึ่งกรมควบคุมโรคเคยทำแผนความต้องการวัคซีนเสนอไป เช่น มิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนถัดไป 10 ล้านโดส แต่เมื่อดูกำลังการผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์อยู่ที่ 180 ล้านโดสต่อปี เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านโดส และต้องแบ่งส่วนหนึ่งให้กับต่างประเทศ ซึ่งรองประธานบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าทำจดหมายแจ้งว่า เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจะผลิตได้เดือนละ 16 ล้านโดส และจะส่งมอบให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนและความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยเดือนละ 10 ล้านโดส จึงต้องหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเสริม โดยอาจเจรจาขอให้สยามไบโอไซเอนซ์เพิ่มกำลังการผลิต รวมถึงเจรจานำซิโนแวคเข้ามาในเดือนกรกฎาคม-กันยายน

“ส่วนการใช้กฎหมายห้ามส่งออกเพื่อเอาวัคซีนมาใช้ในประเทศ มองว่าจะมีผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่รับวัคซีนจากแหล่งผลิตของประเทศไทย ซึ่งถ้าประเทศที่เป็นแหล่งผลิตให้ไทยห้ามส่งออก เราที่รอวัคซีนก็คงรู้สึกโกรธ และกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” นายแพทย์นคร สรุป

นายแพทย์นคร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับวัคซีน mRNA พยายามจัดหา โดยเจรจากับไฟเซอร์ที่ระบุว่าไม่ได้มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อกับไฟเซอร์ แต่เราสั่งจองตามขั้นตอนไปตั้งแต่ มิ.ย. จำนวน 20 ล้านโดส อยู่ระหว่างทำสัญญาสั่งซื้อ แต่ถูกเลื่อนส่งไปไตรมาส 4 เป็นข้อจำกัดของวัคซีน ไม่ได้มีการประวิงเวลา และเจรจาให้เราเสียเปรียบน้อยที่สุด ขณะนี้กำลังต่อรองหากเป็นไปได้ขอให้ส่งให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ เช่น วัคซีนของประเทศคิวบา ซึ่งเป็นซับยูนิตโปรตีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% และค่อนข้างปลอดภัย หรือวัคซีน mRNA เคียวร์แวคของเยอรมนีก็น่าสนใจ โดยในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น

“อังกฤษมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ครอบคลุมประชากร 50% อัตราการป่วยลดเหลือ 5,000-6,000 ราย แต่สายพันธุ์เดลตาทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 หมื่นราย แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้น แสดงว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันการเสียชีวิต และลดภาระระบบบริการทางการแพทย์ จึงต้องฉีดให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเพื่อลดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต” นายแพทย์นคร กล่าวย้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook