นายกฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล
นายกรัฐมนตรี เดินหน้าแนวนโยบาย และ ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล อย่างสมบูรณ์ องค์การสหประชาชาติจัดไทย อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมาก
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางแนวนโยบายและขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้หรือการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเพิ่มการได้รับความเชื่อใจจากประชาชน (Public Trust)
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2020 หรือ UN E-Government Survey 2020 อันประกอบไปด้วยการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต่างๆ ใน 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น
โดยผลการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี พ.ศ.2563 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ซึ่งไทยได้รับตำแหน่งที่ดีขึ้นอย่างมาก จากอันดับที่ 73 ในปี 2561 และอันดับที่ 77 ในปี 2559 มีการพัฒนาในด้านการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งองค์การสหประชาชาติจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมาก โดยหากพิจารณาในรายละเอียดแต่ละด้าน ไทยได้รับคะแนนด้านการให้บริการออนไลน์ และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในระดับอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 11 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 47 ของโลก) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในรายงานฯ ได้เปิดเผยถึง ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเมินการใช้เครื่องมือดิจิทัล ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ ได้แก่ การเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น ในการกำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจน การร้องเรียนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 51 ปรับตัวขึ้นมาจากอันดับที่ 82 ในปี 2561 ซึ่งคงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 11 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 47 ของโลก) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในรายงานฯ ได้เปิดเผยถึง ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเมินการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ ได้แก่ การเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น ในการกำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจน การร้องเรียนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 51 ปรับตัวขึ้นมาจากอันดับที่ 82 ในปี 2561 ซึ่งคงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 6 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 29 ของโลก) ตามลำดับ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเข้มข้น โดยได้กำหนดเป็นแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 จึงส่งผลให้ประเทศได้รับการยอมรับและการจัดอันดับที่ดีในเวทีโลก และพร้อมวางแนวทางสู่อนาคตอย่างต่อเนื่อง