สไตรีนมอนอเมอร์ สารพิษโรงงานโฟมกิ่งแก้วระเบิด สุดอันตราย-ก่อมะเร็ง เลี่ยงสูดดม

สไตรีนมอนอเมอร์ สารพิษโรงงานโฟมกิ่งแก้วระเบิด สุดอันตราย-ก่อมะเร็ง เลี่ยงสูดดม

สไตรีนมอนอเมอร์ สารพิษโรงงานโฟมกิ่งแก้วระเบิด สุดอันตราย-ก่อมะเร็ง เลี่ยงสูดดม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเช้าวันจันทร์ (5 ก.ค.) โรงงานผลิตโฟมของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ที่ตั้งอยู่บนถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ทางทิศตะวันตกของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีสารเคมีอันตรายชื่อ สไตรีนมอนอเมอร์ เก็บอยู่ปริมาณมาก เกิดระเบิดขึ้น ซึ่งมีรายงานความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตขึ้นแล้ว ขณะกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็เตือนว่าอย่าสูดดมควันจากโรงงานแห่งนี้ เพราะสารดังกล่าวอันตรายและอาจก่อมะเร็งได้

วัตถุดิบผลิตพลาสติก-ยาง-โฟมน้ำหนักเบา

เว็บไซต์ของบริษัทน้ำมันระดับโลก รอยัล ดัตช์ แชลล์ ระบุว่า สไตรีนมอนอเมอร์ เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นมาใช้นานกว่า 70 ปีแล้ว หากอยู่ในสภาพปกติจะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี

สไตรีน มอนอเมอร์ ยังเป็นสารเคมีสำหรับอุตสาหกรรมและเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตพลาสติกสมัยใหม่และยางสังเคราะห์หลายประเภท ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ยางรถยนต์ ฉนวนอาคาร ฐานพรม คอมพิวเตอร์ เรื่อยไปจนถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์

เชลล์ ระบุอีกว่า เมื่อปี 2556 ทั้งโลกมีความต้องการใช้สไตรีนมอนอเมอร์ปริมาณมากถึง 27 ล้านตัน

หากให้ความร้อนหรือนำสไตรีน มอนอเมอร์ ไปหลอมละลาย ก็จะได้สารเคมีอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ พอลิสไตรีนขยายตัว (Expandable polystyrene/EPS) ที่ใช้ในการสร้างโฟมแข็งแต่น้ำหนักเบา สำหรับทำเป็นฉนวนกันความร้อนในบ้าน บรรจุภัณฑ์อาหาร นุ่นยัดเบาะจักรยาน หมวกนิรภัยสำหรับจักรยานยนต์ บางครั้งยังนำไปใช้ในฉากกั้นอาบน้ำ เรือ และกังหันลมด้วย

ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีการนำไปใช้ในโครงสร้างรถยนต์และรถไฟ เพราะทำให้น้ำหนักเบาลง ที่ส่งผลให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น

ส่วนเว็บไซต์ของ หมิงตี้ กรุ๊ป คอร์ป ระบุว่า บริษัทเป็นผู้บุกเบิกในการนำพอลิสไตรีนขยายตัว (อีพีเอส) มาใช้ทั่วโลก

อันตรายต่อตา-เมื่อสูดดม

ประโยชน์ที่มากมาย ก็ไม่ได้แปลว่าสารดังกล่าวจะไม่มีผลเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสุขภาพของบุคคลที่นำสารนี้มาใช้หรือสูดดม อย่างเช่น ในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (5 ก.ค.)

เอกสารของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ความเป็นพิษเฉียบพลันของสไตรีนมอนอเมอร์คืออาการระคายเคืองต่อส่วนที่สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ดวงตา ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร

  • เมื่อถูกผิวหนัง เกิดการระคายเคือง
  • เมื่อเข้าตา ระคายเคืองต่อดวงตา
  • เมื่อหายใจเข้าไป เป็นอันตรายเมื่อสูดดม ก่อให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้ไอ และหายใจลำบาก เมื่อดูดึมจนถึงระดังที่ก่อให้เกิดพิษ ทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม
  • เมื่อกลืนกิน ระคายเคือง และเป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร ทำให้เกอดอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน และเซื่อมซึม

หากสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานานเรื้อรัง ก็จะทำให้โครโมโซมผิดปกติ เกิดมะเร็ง แท้งลูก ฮอร์โมนผิดปกติ และเกล็ดเลือดต่ำ

ไม่ใช่แค่นั้น สารนี้ยังเป็นสารไวไฟ ไม่เสถียรและสามารถเกิดปฏิกิติยาพอลิเมอไรเซชันได้ง่าย เมื่อมีอุณหภูมิสูง

ย้อนอุบัติเหตุในอดีต

อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสไตรีนมอนอเมอร์ ไม่ได้เกิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยว่า เคยมีเหตุการณ์สารดังกล่าวรั่วจากถังบรรจุสารเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2548 ที่สนามบินลังเกน รัฐโอไฮโอ ของสหรัฐ

ครั้งนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าสารเคมีในถังอาจเกิดปฏิกิริยาคายความร้อน จากอุณหภูมิที่สูง ทำให้ความดันภายในถังสูงขึ้น จนวาล์วนิรภัยของถังดังกล่าวเปิดออก

หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นสั่งอพยพประชากรออกจากพื้นที่รัศมี 800 เมตร รอบตัวถัง และประกาศเขตควบคุมเป็นรัศมี 1.6 กิโลเมตร ทั้งยังสั่งให้ปิดสนามบินดังกล่าวชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีตำรวจ 2 นายสูดดมสารนี้เข้าไปโดยตรงขณะเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์ ทำให้ต้งนำตัวส่งโรงพยาบาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook