อภิสิทธิ์ ติง ฮุนเซน อย่าเป็นเบี้ยใคร
อภิสิทธิ์ เดือด ฮุนเซน เหยียบจมูก แนะ"ฮุนเซน"อย่าตกเป็นเบี้ย-เป็นเหยื่อใคร ถามจะเอาความสัมพันธ์หรือผลประโยชน์ 2 ประ เทศ ลั่น"ฮุนเซน"ต้องชี้แจง ซัดเข้าใจคาดเคลื่อนอย่างรุนแรง ย้อนให้มีกี่คนในโลกที่คิดว่า "ทักษิณ" เหมือน "อองซาน"
(23ต.ค.) เวลา 18.10 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน และทันทีเมื่อนายกฯเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม ผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้สอบถามถึงกรณีที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะตั้งให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่า คนไทยเป็นล้านๆคน เสื้อแดงก็เป็นผู้ที่สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วทำไมข้าพเจ้าซึ่งเป็นเพียงเพื่อน ซึ่งอยู่ห่างไกลจะไม่สามารถสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณได้ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนกังวลว่า นายกฯฮุนเซนอาจได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องในการประเมินสถานการณ์ที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ ที่มีความแตกต่างจากกรณีของนางอองซาน ซูจี เพราะตนก็ไม่ทราบว่าจะมีกี่คนในโลกที่คิดว่า ทั้ง 2 กรณีเหมือนกัน
ซึ่งการที่สมเด็จฮุนเซนเดินทางมาที่นี้ก็เพื่อประชุมในเรื่องการสร้างความเป็นปึกแผ่น และความเป็นเอกภาพของอาเซียน เราจึงไม่มีเวลาที่จะสนใจคนใดคนหนึ่งที่จะมาทำลายความสัมพันธ์อาเซียน ดังนั้นหน้าที่ของเราคือจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสมเด็จฮุนเซน
เมื่อผู้สื่อข่าวต่างชาติถามว่า กังวลแค่ไหนที่พ.ต.ท.ทักษิณใช้ประเทศเพื่อนบ้านโจมตีไทย นายกฯ กล่าวว่า เขาพยายามดำเนินการอย่างนี้มานานแล้ว ในประเทศที่ห่างไกล แต่เขาก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนคนอื่นเขาต้องยอมรับในสิ่งนี้ เมื่อถามว่า เหมือนประเทศไทยไม่มีความปรองดองด้านเศรษฐกิจ และการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรามีพัฒนาการทางการเมือง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็คงต้องใช้เวลา ส่วนการที่จะไม่ยึดกฎหมายก็ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง
จากนั้นสื่อมวลชนไทยได้ถามถึงกรณีโฆษกกระทรวงสารสนเทศของกัมพูชาระบุว่า ไม่สามารถส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณได้เพราะไม่ใช่คดีการเมือง แล้วรัฐบาลไทยจะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า 1.กระบวนการต้องมีการพิสูจน์กัน โดยปกติแล้วก่อนที่จะมีการใช้ดุลพินิจไม่ว่าจะเป็นฝ่าบริหาร หรือศาลก็ตาม ก็ต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติ ฉะนั้นจะต้องมีกระบวนที่เปิดโอกาสให้ 2 ฝ่ายได้เสนอข้อเท็จจริงว่า ตกลงเป็นเรื่องการเมืองหรือการคอรัปชั่นหรืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันตามกระบวนการ ตนคิดว่าพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายตามกระบวนการที่ควรจะเป็นในการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยหลักก็มีเท่านั้น
"ผมคิดว่า คงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างที่ผมเรียนว่า ไม่ทราบว่ามีกี่คนในโลกที่คิดว่า กรณีของอองซาน ซูจี เหมือนกับเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเข้าใจว่า เรื่องที่มีการหยิบยกขึ้นมา เช่นกรณีของนายสม รังสี หัวหน้าพรรคฟุนซิน เปก ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะมาเปรียบเทียบต่อกรณีที่รัฐบาลของอีกประเทศหนึ่งจะไปเปิดโอกาสให้มีใครจะใช้ประเทศเป็นฐานมาทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีและความมั่นคง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ประการที่ 2 เรื่องที่ได้แสดงจุดยืนไปและเทียบเคียงเป็นเรื่องของมติอาเซียน ซึ่งสืบเนื่องกันมา จึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ และไม่ทราบว่าข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาจากไหนอย่างไร แต่เราก็มีหน้าที่ที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
"คิดว่านายกฯฮุนเซนจะต้องคิดให้ดีว่า จะยืนยันการตัดสินใจที่จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์และผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้ง 2 ชาติเพื่ออะไร ผมก็เห็นว่า ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความอาวุโสอย่าไปเป็นเหยื่อและเป็นเบี้ยให้ใครเลย" นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า ในการพบกันในระดับทวิภาคีจะมีการสอบถามเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ผมคิดว่า ท่านอาจจะต้องชี้แจงผมก่อนมั๊งครับ" เมื่อถามต่อว่า หมายความนายกฯจะไม่เป็นคนเริ่มพูดเรื่องนี้ นายกฯ กล่าวว่า "ผมไม่มีอะไรต้องชี้แจงเท่าไร ผมคิดว่า น่าจะตั้งคำถามว่า สิ่งที่เคยแสดงจุดยืนโดยตลอดในการพบปะกัน ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปก็คงต้องชี้แจงทางเรา ผมได้แต่พูดสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง เผื่อท่านจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้น"
ผู้สื่อข่าวถามว่า คำชี้แจงของสมเด็จฮุนเซนยังจะฟังได้หรือไม่ เพราะคำพูดเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมตลอดเวลา นายกฯ กล่าวว่า ความจริงตนไม่แน่ใจว่า จุดยืนนี้จะเปลี่ยนอีกหรือไม่ แต่ตนก็ได้แสดงจุดยืนของตนไปแล้ว เมื่อถามว่า การที่นายกฯกัมพูชาพูดเรื่องนี้ในประเทศไทยหมายความอย่างไร นายกฯ ได้ตัดบทว่า "ผมได้พูดไปแล้วเมื่อสักครู่ ต้องถามว่า การที่ท่านเดินทางมาประชุมเพื่ออะไร แล้วสิ่งที่พูดและแสดงออกมันสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาหรือไม่" เมื่อถามว่า คิดว่าการพูดครั้งนี้จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรื่อไม่ นายกฯ นิ่งแล้วกล่าวว่า วันนี้ก็ต้องกล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาคือความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างแรง โดยประเทศไทยก็เพียงแต่บอกว่า ขอให้คิดให้ดี เพราะเรายังยืนยันว่า ความสัมพันธ์และผลประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศน่าจะสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด