ไอซ์ รักชนก: ประชาชนผู้ตาสว่าง บนเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ไอซ์ รักชนก: ประชาชนผู้ตาสว่าง บนเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ไอซ์ รักชนก: ประชาชนผู้ตาสว่าง บนเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ก่อนไอซ์-รักชนกจะตัดสินใจเล่นการเมือง และลงสมัครเลือกตั้ง สส. พรรคก้าวไกล)

ในช่วงเวลาที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สถานการณ์ในบ้านเมืองร้อนแรงด้วยการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ พร้อมกับการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “คลับเฮ้าส์” ที่ทำให้ชื่อของ “รักชนก ศรีนอก” หรือไอซ์ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “ตัวจี๊ด” ของแอปเกิดใหม่ ด้วยการถามตอบที่ “ปัง” จนคนฟังต้องซู๊ดปาก ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสื่อมวลชนอย่างออกรสจนถูกใจใครหลายคน แต่ก็ไม่วายถูก “ขุดคุ้ย” ว่าเธอเคยเป็น “ขนมหวานหลากสี” มาก่อน แล้วอะไรที่ทำให้เธอเปลี่ยนจาก “คนเชียร์รัฐบาล” สู่การเป็นผู้ต่อต้าน และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่ทุกคนมี “ศักดิ์ศรี” อย่างเท่าเทียมกัน

Sanook พาไปรู้จักกับเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเธอ ที่มาพร้อมกับหมายศาลและความอดทน  

ประชาชนผู้ตาสว่าง 

“เราแชร์โพสต์เป็นหมาเลียหน้าลุงตู่ คนนี้แหละนายกในฝันของเรา นี่แหละคนที่ได้รับความไว้วางใจ แล้วก็นี่แหละคือคนที่ประเทศต้องการในสถานการณ์แบบนี้ เพื่อนก็มาคอมเมนต์ว่า “แค่หมาเลียหน้า ก็แปลว่ามีความชอบธรรม แปลว่าเป็นคนดีแล้วเหรอ” เราก็แบบ ทำไมเราเป็นคนตื้นเขินแบบนี้” คุณรักชนกเล่าย้อนกลับไปในอดีต

คอมเมนต์ของเพื่อนในโลกโซเชียลทำให้คุณรักชนกผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “สลิ่ม” ในขณะนั้น ตั้งใจว่าหากเธอจะชื่นชมรัฐบาล เธอจะต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลให้ได้ แต่ทุกครั้งก็มีเพื่อนคอยส่งข้อมูลอีกด้านให้เธอได้ทำความเข้าใจ จนคุณรักชนกใช้คำว่า “หางรัฐบาลเริ่มโผล่” เธอจึงถอดใจจากการเชียร์รัฐบาลไปในที่สุด 

ในใจเราก็คือไม่เชียร์รัฐบาลนะ แต่ว่าเรายังเป็นสลิ่ม” 

กระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ทำให้คุณรักชนกได้พบกับหนังสือเรื่อง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ที่ทำให้เธอ “ตาสว่าง” และเข้าใจจุดเริ่มต้นของระบบโครงสร้างปัญหาที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้แม่ค้าออนไลน์วัย 28 ปี ตระหนักและหันมาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น แม้การยอมรับว่าตัวเองเคย “คิดผิด” มาก่อนจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ แต่เธอก็ชี้ว่า การจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของใครอีกหลายคน พร้อมกันนี้ เธอยังพยายามที่จะเดินหน้าทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อขอโทษสังคมและประชาชนที่สูญเสีย อันเนื่องมาจากการสนับสนุนของเธอในครั้งอดีต 

เรารู้สึกว่าเราผิดจริง เพราะว่าถ้าเราเป็นอิกนอร์แรนต์เฉย ๆ เราก็ลั้ลลาไป แต่เราสนับสนุนไง เราดันเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจริง ๆ ดังนั้น เราก็ยอมรับว่าเราผิด ทุกครั้งที่มีโอกาส เราก็จะออกมาขอโทษ เราพยายามทำทุกอย่างเท่าที่เราจะทำได้ คือถ้าเราจะขอโทษ มันอาจจะยังไม่พอ เราต้องทำอะไรให้เป็นรูปธรรม เพราะว่าขอโทษไปแล้ว มันไม่หายกับสิ่งที่เราไปสนับสนุนเอาไว้ จนกว่าที่ประเทศจะกลับไปเป็นประชาธิปไตยแบบก่อนหน้าที่มีคณะรัฐบาล หรือรัฐบาลชุดนี้จะออกไป เราจึงจะสามารถขอโทษได้แบบมีน้ำหนักมากขึ้น” 

“เปิดเครื่องด่า” คือหนทางการต่อสู้ทางการเมือง

ชื่อของคุณรักชนกกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการทำหน้าที่ “มอด” (moderator) หรือบทบาท “นักฉอด” ในคลับเฮ้าส์ พร้อมกับวีรกรรมสุดแสบที่ถูกใจใครหลายคน ซึ่งคุณรักชนกเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการเมืองอย่างเข้มข้นของเธอในโลกออนไลน์ คือ การอภิปรายเรื่อง “ตั๋วช้าง” ของคุณรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ก่อนที่จะกลายเป็นการพูดคุยเรื่องการเมืองและปัญหาสังคมเรื่องอื่น ๆ ตามมา 

“เราว่าไม่มีใครรู้ว่าอยู่ดี ๆ คลับเฮ้าส์จะเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเรื่องการเมืองนะ แต่ว่าด้วยตอนแรกมันเข้ายาก คนเลยอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเซฟโซน ที่ไอโออาจจะยังสมัครเข้ามาไม่ได้ มันเลยเปิดกว้างมากที่จะพูดถึงเรื่องการเมือง” คุณรักชนกแสดงความคิดเห็น 

ไม่เพียงลีลาการถามตอบที่ฉะฉานของคุณรักชนกที่สร้างความประทับใจให้คนฟัง แต่เอเนอร์จี้ “เครื่องด่า” ของเธอก็เป็นที่จดจำของคนมากมาย ทำให้เธอกลายเป็นคนดังในโลกออนไลน์ที่พูดถึงเรื่องการเมืองอย่างเผ็ดร้อน ทุกครั้งที่มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในสังคม คุณรักชนกก็ไม่รอช้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน และเธอก็สนับสนุนให้คนออกมาด่า เพื่อให้เสียงของทุกคนดังไปจนถึงหูของผู้มีอำนาจ 

“ตลกร้ายนะ ทำไมประชาชนต้องด่าก่อน ถึงจะมีแอคชั่นอะไรมาสักอย่าง” คุณรักชนกชี้ “เรื่องที่เราด่าทุกเรื่องแล้วเขาออกมาทำ แปลว่าเขาทำได้อยู่แล้ว ไม่ต้องรอให้เรามาด่าก็ได้ แต่เขาไม่ทำ ซึ่งพอเรารู้แบบนี้ เราถึงต้องออกมาด่ากันเยอะ ๆ ถ้าทุกคนในสังคมด่า มันก็จะเกิดแอคชั่นเยอะขึ้น เพราะเราทำอะไรไม่ได้ เรามีแค่โซเชียลมีเดีย เรามีแค่ปาก แล้วก็มีหนังสือเอาไว้อ่านหาข้อมูล ตะโกนคนเดียวมันเหนื่อย ดังนั้นเราต้องรวบรวมคนทั้งสังคมออกมาช่วยกันตะโกน” 

“เรามีสิทธิ์ด่าคนที่ใช้อำนาจรัฐที่กินเงินเดือนภาษีจากพวกเรา ดารานักร้องทั้งหลาย ถ้าเขายังต้องการแรงสนับสนุนจากพวกเราอยู่ รวมถึงสื่อมวลชนด้วย เรามีสิทธิ์ตรวจสอบการทำงานของใครก็ตามที่ยังต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนอยู่” คุณรักชนกกล่าว 

ผลลัพธ์ของการต่อสู้ 

เหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 คุณรักชนกรู้สึกไม่พอใจการทำงานของสื่อมวลชน ซึ่งรายงานสถานการณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

“สื่อรายงานว่าเพราะผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง เพราะผู้ชุมนุมเป็นพวกหัวรุนแรง มันสร้างความชอบธรรมให้รัฐมาใช้ความรุนแรงกับประชาชน แล้วก็ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ตรงนั้นเข้าใจผิด ถ้าคุณรายงานอย่างรอบด้าน เราจะไม่ว่าเลยนะ แต่คุณเลือกรายงานแค่บางส่วน” คุณรักชนกวิพากษ์วิจารณ์ 

ด้วยความไม่พอใจในการทำงานของสื่อมวลชนเป็นทุนเดิม ทำให้คุณรักชนกเผชิญหน้ากับสื่อมวลชนเจ้าหนึ่งในการชุมนุมของกลุ่ม REDEM วันที่ 6 มีนาคม 22564 บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอดีตผู้สื่อข่าวคนดังของช่องนั้น ๆ จนกลายเป็นคลิปที่สร้างความฮือฮาบนโลกออนไลน์ กระทั่งคุณรักชนกถูกผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว “ฟ้องร้อง” ในที่สุด 

เราเปิดหาเลย ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือประเทศเรา มันมีกรณีก่อนหน้านี้ไหมที่สื่อออกมาฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ได้คำตอบว่าไม่มี” คุณรักชนกเล่า “เราคิดว่าถ้าเขาฟ้อง มันก็อาจจะไม่เกี่ยว (กับการกลั่นแกล้งทางการเมือง) พอมันมีการพาดพิงก็อาจจะตีความว่าหมิ่น แต่พอมันเป็นตอนนี้ ช่วงเวลาที่ผู้สื่อข่าวช่องหนึ่งก็โดนรัฐบาลฟ้อง เราเลยรู้สึกว่ามันประจวบเหมาะกันเกินไป” 

“หรือมันจะเป็นกลยุทธ์ใหม่ของเขาที่เชือดไก่ให้ลิงดู ถ้ามีคนโดนแล้ว คนอื่นที่กำลังคิดจะทำก็จะไม่กล้าพูด จะได้อยู่เงียบ ๆ หุบปาก อยู่ในสังคมที่เงียบงัน อยู่ในกะลากันเหมือนเดิม” 

แม้จะตกเป็นผู้ถูกฟ้อง แต่คุณรักชนกก็ไม่เคยคิดว่าจะหยุดต่อสู้ เธอไม่ปฏิเสธว่ามีบางครั้งที่คิดว่าทำไมตัวเองต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้ หากอยู่เฉย ๆ ก็คงไม่โดน แต่สุดท้ายหากเธอไม่ออกมาพูดหรือส่งเสียงเรียกร้อง เธอก็คงไม่สามารถอยู่ในสังคมแบบนี้ได้ 

“ถ้าเหนื่อยก็ไปพัก แล้วถ้าไหวก็ออกมาสู้ต่อ ออกมาพูดต่อ ออกมาทำเหมือนเดิม เพราะเรารู้สึกว่าการออกมาพูดเรื่องอะไรแบบนี้ เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนจะออกมาทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เราจะทนอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปไหม เราจะรอดูความฉิบหายของประเทศที่จะลงเลวไปช้า ๆ ไหวไหม โดยที่ถ้าเราออกมาพูด มันก็อาจจะชะลอตรงนั้นได้สักนิดนึง เราจะทนได้ไหม เราก็ทนไม่ได้ เราก็ต้องออกมาพูด” 

สังคมไทยที่น่าอยู่ของรักชนก

จากอดีตผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร สู่การเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่มีผู้ติดตามในโลกออนไลน์จำนวนมาก ทำให้คุณรักชนกเชื่อในการเปลี่ยนแปลงคน ดังเช่นที่ตัวเธอเองเคยได้รับโอกาสจากกลุ่มเพื่อนที่คอยส่งข้อมูลให้เธอได้เรียนรู้ นั่นจึงทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลและรวบรวมคนเข้าไว้ด้วยกัน

“เราเชื่อในการรวบรวมคน เพราะมันจะเป็นฉันทามติของสังคมได้ มันต้องมีคนของเราเยอะ ๆ มันต้องมีคนที่เชื่ออะไรเหมือนกันเยอะ ๆ ถึงแม้มันจะช้า แต่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่มีเครื่องมืออะไรนอกจากนี้ เพราะเราไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีนายทุน ไม่มีเงิน เราไม่มีคนที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมมาสนับสนุนพวกเราเลย แม้แต่คนที่มีชื่อเสียงหรือว่ามีฐานแฟนคลับ ดังนั้นเราต้องอดทน ค่อย ๆ รวบรวมคนไปทีละหนึ่งคนสองคน” คุณรักชนกชี้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้ ขั้วอำนาจทางการเมืองอาจยังไม่เอนเอียงมาทางฝั่งที่คุณรักชนกเชื่อ แต่เธอก็ยืนยันที่จะสู้ต่อไปจนกว่าวันที่สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ “ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” เช่นเดียวกับโครงสร้างของสังคมที่เอื้อให้ผู้ใช้อำนาจรัฐถูกตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส รวมถึงโครงสร้างทางกฎหมาย ซึ่งทุกอย่างต้องยึดโยงอยู่กับประชาชน 

ถ้าประชาชนเข้าไปยึดโยง มีสิทธิ์ได้เลือก มีสิทธิ์มีเสียง เขาก็อาจจะหันมารับใช้ประชาชนมากขึ้น เราอยากเห็นสังคมไทยที่โครงสร้างอำนาจยึดโยงกับประชาชน และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” คุณรักชนกกล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ไอซ์ รักชนก: ประชาชนผู้ตาสว่าง บนเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook