ยูเนสโกยกย่อง ครูเอื้อ - คึกฤทธิ์ บุคคลสำคัญของโลก
ยูเนสโกประกาศยกย่อง"ครูเอื้อ สุนทรสนาน-ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช"บุคคลสำคัญของโลกร่วมวาระ"โชแปง-เทเรซา"รวม63คน วธ.ร่วมจัดฉลอง100ปีชาตกาลปี53-54
เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2552 นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยรายงานจากผู้แทนวธ.ของไทยเข้าร่วมประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
โดยทางคณะกรรมการฝ่ายพิจารณาบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของยูเนสโก มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ของโลก รวม 63 ท่าน ในวาระครบรอบ 50 ปี 100 ปี 150 ปี 200 ปี และมากกว่านั้น ประจำปี พ.ศ.2553-2554 โดยมีบุคคลสำคัญของไทย 2 ท่าน ตามที่ทางประเทศไทยเสนอ ได้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2528 ยกย่อง 4 สาขา การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน กับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ สาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล
นายธีระ กล่าวอีกว่า ยูเนสโกยังได้ยกย่องบุคคลสำคัญของโลกอีก เช่น แม่ชีเทเรซา หรือนางแอ็กเนส กอนจา โบยาจู เสนอโดยอินเดีย เฟรเดริก ฟรองซัวส์ โชแปง นักประพันธ์เพลงชาวโปแลนด์ เสนอโดยโปแลนด์ ฟรานซิส เบคอน นักเขียนและนักปรัชญาชาวอังกฤษ เสนอโดยสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ ไฮน์ริช ฟอน ไคลสท์ นักเขียนชาวเยอรมัน อาเธอร์ โชเปนฮอยเออร์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ "ทา ลอง" ฮานอย ของเวียดนามรวมอยู่ด้วยฉลองครบรอบ 1,000 ปี ทั้งนี้ยูเนสโกได้ยกย่องบุคคลสำคัญของไทยมาแล้วในอดีต 17 ท่าน และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวน 1 รายการ ซึ่งครูเอื้อจะจัดอยู่ในลำดับที่ 19 ครบวาระ 100 ปีชาตกาล ในวันที่ 21 มกราคม 2553 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จะอยู่ในลำดับที่ 20 ครบวาระ 100 ปีชาตกาลในวันที่ 20 เมษายน 2554
รัฐมนตรีวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า การเฉลิมฉลองครูเอื้อ สุนทรสนาน รัฐบาลจะร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาคอื่นๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี 2553 อาทิ การแสดงคอนเสิร์ตพิเศษ บรรเลงโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ในประเทศไทย อเมริกา จีน และลาว ติดป้ายชื่อถนนครูเอื้อ ที่อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม และบริษัทไปรษณีย์ไทยได้จัดจำหน่ายดวงตราไปรษณียากรณ์รูปครูเอื้อ และจัดทำอัลบั้มพิเศษย่อขนาดเอกสารชุดที่ยื่นเสนอต่อยูเนสโกเป็นต้น
"ส่วนการเฉลิมฉลอง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลร่วมกับมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 พระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานอื่นๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล 2554 ตลอดทั้งปี อาทิ นิทรรศการเคลื่อนที่ชีวิตและผลงานของท่านไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จัดแสดงละครสี่แผ่น ดินจากบทประพันธ์ของท่าน และจัดการแสดงเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในความสนใจของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกด้วย" รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับประวัติและผลงาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 ชาวอัมพวา จ.สมุทรสง คราม สิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 รวมอายุ 71 ปี เป็นลูกศิษย์พระเจนดุริยางค์ เรียนโรงเรียนพรานหลวง ในรัช กาลที่ 6 ตั้งขึ้นมาเพื่อสอนดนตรีคลาสสิก ครูเอื้อเล่นไวโอลินเป็นอันดับแรกและเข้าวงมหรสพตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ได้รับพระ ราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 6 เป็นประจำเนื่องจากตัวเล็กที่สุด ชีวิตรับราชการที่กรมศิลปากร ท่านเป็นนักดนตรีคนแรกได้รับมอบหมายให้เขียนโน้ตเพลงดนตรีไทยเดิม มีความสามารถด้านการประพันธ์ ทำนองและคำร้อง นักร้อง และผู้ควบ คุมวงดนตรีสุนทราภรณ์ ผลงานแต่งเพลงไทยมีมากกว่า 2,000 เพลง อาทิ รำวงวันลอยกระทง รำวงวันสงกรานต์ ขอให้เหมือนเดิม ขวัญใจเจ้าทุย เป็นต้น
ส่วนประวัติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2528 เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายนพ.ศ. 2454 ชาวสิงห์บุรี อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 รวมอายุ 84 ปี การศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ (P.P.E) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นหลายด้าน เป็นนักเขียน เรื่องสั้นที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดคือ "มอม" นวนิยายชิ้นโบว์แดง "สี่แผ่นดิน" และ "หลายชีวิต" แปลภาษาอังกฤษ "A river boat sank and many drown" และเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา สามารถเลือกใช้ภาษาไทยให้เหมาะกับวรรณกรรมแต่ละเรื่องได้อย่างลงตัวที่สุด
ด้านวัฒนธรรม ท่านให้ความใส่ใจมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เรื่องนาฏศิลป์โขน (โขนธรรมศาสตร์) รวมถึงดนตรีไทย บทบาทสื่อสารมวลชน เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ(25 มิถุนายน พ.ศ.2493) นักเขียนประจำผ่านคอลัมน์ ซอยสวนพลู ข้างสังเวียน ข้าวนอกนา ตอบปัญหาประจำวัน ฯลฯ และปกป้องเสรีภาพทางความคิด และจุดสูงสุดทางการเมืองคือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ขาดความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลมาเป็นเวลานาน 20 ปี
สำหรับบุคคลสำคัญของไทยที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโกที่ผ่านมามีทั้งหมด 17 คนและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 1 รายการ ลำดับที่ 1.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครบรอบ 100 พรรษา วันประสูติ วันที่ 21 มิถุนายน 2505 ลำดับที่ 2.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ครบรอบ 100 พรรษา วันประสูติ วันที่ 28 เมษายน 2506 ลำดับที่ 3.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครบรอบ 200 พรรษา วันพระราชสมภพ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511 ลำดับที่ 4.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 100 พรรษา วันพระราชสมภพ วันที่ 1 มกราคม 2524 ลำดับที่ 5.สุนทรภู่ ครบรอบ 200 ปีเกิด วันที่ 26 มิถุนายน 2529
ลำดับที่ 6.พระยาอนุมานราชธน ครบรอบ 100 ปีเกิด วันที่ 14 ธันวาคม 2531 ลำดับที่ 7.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครบรอบ 200 พรรษา วันประสูติ วันที่ 11 ธันวาคม 2533 ลำดับที่ 8.พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ครบรอบ 100 พรรษาวันประสูติ วันที่ 25 สิงหาคม 2534 ลำดับที่ 9.สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครบ 100 พรรษา วันพระราชสมภพ วันที่ 1 มกราคม 2539 ลำดับที่ 10.การสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ครบรอบ 700 ปี วันที่ 12 เมษายน 2539 ลำดับที่ 11.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ครองสิริราชย์สมบัติครบ 50 ปี วันที่ 9 มิถุนายน 2539 ลำดับที่ 12.สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ 100 พรรษา วันพระราชสมภพ วันที่ 21 ตุลาคม 2543 ลำดับที่ 13.นาย ปรีดี พนมยงค์ ฉลองครบ 100 ปี วันที่ 11 พฤษภาคม 2543
ลำดับที่ 14.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ 150 พรรษา วันพระราชสมภพ วันที่ 20 กันยายน 2546 ลำดับที่ 15.หม่อมหลวง ปิ่นมาลากุล ครบรอบ 100 ปี วันที่ 24 ตุลาคม 2546 ลำดับที่ 16.นาย กุหลาบ สายประดิษฐ์ ครบรอบ 100 ปี วันที่ 31 มีนาคม 2548 ลำดับที่ 17. พุทธทาสภิกขุ ครบรอบชาตกาล 100 ปี วันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ลำดับที่ 18. งานฉลอง 200 ปี วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท