ที่ปรึกษา ศบค.เผยเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์-กลุ่มเสี่ยง

ที่ปรึกษา ศบค.เผยเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์-กลุ่มเสี่ยง

ที่ปรึกษา ศบค.เผยเตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์-กลุ่มเสี่ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ปรึกษา ศบค. เผยเตรียมนำวัคซีนไฟเซอร์ที่จะได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยง แต่ถ้ามาช้าจะนำแสตร้าเซนเนก้ามาฉีดให้ไปก่อน

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงว่า ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค.วานนี้ (5 ก.ค.) ได้หารือเรื่องของวัคซีน และรายงานผลการประชุมให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า ในช่วง 2 เดือนนี้ พบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาทั่วโลกไปกว่า 96 ประเทศ

โดยในประเทศไทยช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. พบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาแล้วกว่า 30% หากนับเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล พบสายพันธุ์เดลตากว่า 50% ซึ่งระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา 40% ทำให้เราคาดการณ์ว่าอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งโลกและประเทศไทยจะเป็นการระบาดที่มาจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเกือบทั้งหมด

“ลักษณะพิเศษของสายพันธุ์เดลตา จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปอดอักเสบได้เร็วขึ้น ซึ่งใช้เวลาเพียง 3-5 วันก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว และส่งผลทำให้มีความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเตียงสีแดง และหากปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข” ศ.นพ.อุดม ระบุ

ทั้งนี้ ไวรัสกลายพันธุ์จะทำให้เกิดการดื้อของภูมิที่เกิดจากวัคซีน ซึ่งก่อนหน้าเรามีวัคซีนเป็นตัวควบคุมการระบาด วัคซีนทำจากไวรัสตัวดั้งเดิม คือ ไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ตัวกลายพันธุ์ยังไม่มี และตอนนั้นไวรัสที่ทำจากอู่ฮั่นได้ผลดีมาก แต่ตอนนี้กลายพันธุ์เป็นเดลตา, อัลฟา ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงชัดเจน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่การกลายพันธุ์ทำให้ดื้อต่อภูมิที่เกิดจากวัคซีน ซึ่งไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ แต่เกิดจากไวรัสได้กลายพันธุ์นั่นเอง

“มีความจำเป็นต้องมีวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ที่จะคลอบคลุมตัวกลายพันธุ์ทั้งหลาย ทั้งอัลฟาและเดลตา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มี เขากำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ไฟเซอร์ โมเดอร์นา คาดว่าเร็วสุดปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า” ศ.นพ.อุดม ให้ข้อมูล

สำหรับวัคซีนที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เมื่อพบว่าติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง ส่วนการป้องกันโรคนั้น วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 93% เหลือ 88% ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 66% เหลือ 60% แต่ป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาล การเจ็บป่วยรุนแรง ไฟเซอร์ป้องกันได้ 96% แอสตร้าเซนเนก้าป้องกันได้ 92%

“ซิโนแวค ข้อมูลน้อย เราไม่มีข้อมูลว่าป้องกันได้เท่าไร แต่ถ้าเราเทียบจากภูมิต้านทานที่เราดู เราคิดว่าป้องกันสายพันธุ์เดลตาไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็ม จะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเข้าโรงพยาบาล หรือป้องกันตายได้มากกว่า 90% ในข้อมูลในหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค และในประเทศไทยที่เราเก็บข้อมูลที่ภูเก็ต ที่เราฉีดซิโนแวคเยอะสุด” ศ.นพ.อุดม กล่าวเสริม

พร้อมย้ำว่า การป้องกันให้ไม่เจ็บป่วยรุนแรง จะช่วยให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะจำนวนเตียงที่มีขณะนี้ถือว่าตึงมากในทุกระดับ ทั้งสีเขียว เหลือง และแดง โดยเฉพาะสีแดงเหลือแค่เพียง 20-30 เตียง ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้หนักจริงๆ ในภาวะก่อนโควิดเฉพาะกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเตียงสีแดงรวมกันประมาณ 230 เตียง แต่ต้องขยายเตียงเพิ่มเป็น 400 กว่าเตียง แต่แพทย์และพยาบาลยังเท่าเดิม

ศ.นพ.อุดม ระบุว่า แม้คนไข้ติดโควิดตามธรรมชาติ แต่มีข้อมูลออกมาว่าหลังติดเชื้อแล้วภูมิต้านทานจะลดลงเร็ว 3-6 เดือน และบางคนภูมิต้านทานกลับไม่เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างที่รอวัคซีนตัวใหม่ต้องมีกระบวนการในการสร้างภูมิเพิ่มขึ้น เพื่อไปต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ หรือการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แต่ยอมรับในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก หรือจากประเทศใดๆ ว่า ต้องฉีดเข็มที่ 3 มีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ที่มีการฉีดเข็มที่ 3 แต่หลักการสำคัญคือ ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ให้ครบก่อน

ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนซิโนแวคฉีด 2 เข็ม ค่าครึ่งชีวิตของระดับภูมิคุ้มกันอยู่ประมาณ 3-4 เดือน และจำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้น ซึ่งจากผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนเมื่อวานนี้ เห็นว่ากลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก ต้องได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งต้องเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์หากได้มาในเวลาอันใกล้เพราะเรากำลังจะได้มา 1.5 ล้านโดสในเดือนนี้ แต่ยังไม่รู้ว่าแน่นอนจะมาเมื่อไหร่ เพราะมีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มแล้วเว้นไป 6 เดือน แล้วฉีดเข็ม 3 จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ 6 เท่าและปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงมากมาย

แต่ถ้าหากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสเข้ามาได้เร็ว ทางคณะที่ปรึกษาฯ จะให้คำแนะนำไปที่นายกรัฐมนตรีว่าควรจะให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดเป็นกลุ่มแรกก่อน ส่วนที่เหลือให้กับคนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มโรคต่างๆ

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม และเมื่อผ่านไป 3-4 เดือน ควรมีการฉีดเข็มที่ 3 และต้องเป็นวัคซีนชนิดอื่น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนประเภท mRNA

“ท่านทั้งหลายอย่าไปกรุณาดาวน์เกรดซิโนแวค แม้จะรู้ว่าประสิทธิภาพการป้องกันมันน้อยก็จริง แต่มันลดเจ็บป่วยรุนแรงไม่ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์นัก ท่านฉีดไปก่อน เมื่อมีเข็ม 3 มา ซึ่งมีเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า แล้วท่านรอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข” ศ.นพ.อุดม ระบุ

อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างการทำวิจัยเรื่องเข็มที่ 3 ว่าวัคซีนตัวไหนที่เหมาะสม หรือ ดีที่สุด ซึ่งอีก 1 เดือนถึงจะทราบผล ซึ่งเราจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีผลศึกษาดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้สลับฉีดวัคซีนระหว่างเข็ม 1 และ เข็ม 2 ควรรอฟังคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ซึ่งให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาและรอข้อมูลจากต่างประเทศ

“การให้บูสเตอร์โดส กลุ่มแรก ก็คือ คนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะไปสัมผัสโดยเฉพาะกับตัวเดลตา ซึ่งก็คือ บุคลากรทางการแพทย์ ที่มี 7 แสนกว่าคน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มโรคต่างๆ” ศ.นพ.อุดม กล่าว

ศ.นพ.อุดม ยังชี้แจงว่า วัคซีนในกลุ่ม mRNA คือ ไฟเซอร์ จะฉีดฟรี แต่เร็วสุดที่ได้วัคซีนนี้คือในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.)

นอกจากนี้ คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของ ศบค.ได้มีการตั้งคณะทำงาน นำผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาว่า วัคซีนตัวไหนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ เพื่อจะให้รัฐบาลไปทำการจองวัคซีนก่อน เพราะคาดว่าวัคซีนคงจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า และทางคณะที่ปรึกษาฯ จะประชุมครั้งถัดไปในวันศุกร์นี้ (9 ก.ค.) เวลา 9.30-12.00 น. ที่โรงพยาบาลราชวิถี

พร้อมกับยืนยันว่า การที่มาชี้แจงในวันนี้ไม่ได้เกิดจากประเด็นเรื่องวัคซีนในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา แต่ทางคณะกรรมการวัคซีนฯ ได้มีการหารือในประเด็นนี้มา 2-3 เดือนแล้ว ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือการฉีดสลับยี่ห้อระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 แต่อาจไม่ได้ชี้แจงเป็นทางการ ซึ่งข่าวที่ออกมาเป็นข่าวที่เล็ดรอดออกมา แต่อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษา ศบค. ยังยอมรับว่า การแพร่ระบาดในปัจจุบันนี้จากความเห็นส่วนตัวถือได้ว่าเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 เพราะเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในครอบครัวหรือชุมชมที่หาสาเหตุที่มาไม่ได้ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก

“มีคนถามว่าจะจบเมื่อไร ตอนนี้เรายกระดับมาตรการไปแล้ว ซึ่งต้องทำ แต่ยังไม่ยกระดับมาตรการสูงสุด เราเรียกแค่เซมิล็อกดาวน์ แต่กว่าจะเห็นผลอย่างน้อย 14 วัน เพราะฉะนั้นหลัง 14 วันเราจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากจะบอกว่าอย่าให้เกินกำลังบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งเตียง ทั้งยา เราต้องการจะเห็นตัวเลขไม่เกินวันละ 500-1,000 คน อย่างน้อยเราสู้ไหว แต่ตอนนี้บอกตรงๆ สู้ไม่ไหว” ศ.นพ.อุดม กล่าว

พร้อมระบุว่า ทุกคนต้องช่วยกัน โดยต้องเน้นทำ 2 อย่างให้เข้มข้นขึ้น คือ ปฏิบัติตามมาตรการทางสังคม และต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 70% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา

สำหรับมาตรการที่ใช้ขณะนี้เพียงพอหรือไม่นั้น ศ.นพ.อุดม เชื่อว่า ตัวเลขการติดเชื้อหลังจากนี้อาจจะลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น ถ้าตัวเลขลดลงมาระดับ 3,000-4,000 คน ก็ยังถือว่าสูงเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเคลื่อนไหวของคน เชื้อโรคไปเองไม่ได้ คนต้องพาไป จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่อยากให้เคลื่อนไหว อยากให้อยู่กับบ้าน Work from Home ต้องให้ได้ 75% แต่ที่ดูยังไม่ถึง 50% ต้องช่วยกัน ถ้าทำไม่ได้ ต้องยกระดับมาตรการจริงๆ ต้องล็อกดาวน์จริงๆ เหมือนเมษายนปี 63 ซึ่งตอนนั้นระบาดแค่ไม่กี่ร้อยคน แล้วเราคุมอยู่ แต่ตอนนี้ต้องบอกว่าช้าไปหน่อย เราให้เวลา 2-3 เดือนแล้ว มันยังคุมไม่ได้ ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชนทุกคน ต้องช่วยกันยกระดับมาตรการให้สูงสุด” ศ.นพ.อุดม กล่าวย้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook