นายกสภาวิศวกร ถอดบทเรียนโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ "โรงงานอันตราย ควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง"
จากกรณีเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 ม.15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แรงระเบิดทำให้ตัวพื้นที่โรงงาน รวมถึงบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบเกิดความเสียหายทั้งหมด อีกทั้งสารพิษในควันที่ลอยไปในอากาศ จนต้องมีการอพยพประชาชนในรัศมี 10 กิโลเมตร
เฟซบุ๊ก สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ Suchatvee Suwansawat ของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นายกสภาวิศวกร ออกมาโพสต์ถอดบทเรียนเหตุการณ์นี้ ด้วย 5 ข้อหลักๆ พร้อมแนะนำการป้องกันไปพร้อมๆกัน ขอบคุณภาพ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ Suchatvee Suwansawat
โดยข้อความระบุว่า
เมืองไทย ไม่เคยไกลจากภัยพิบัติ พี่เอ้มีคำตอบ เพราะการป้องกัน #จะทำก็ทำได้
....อีกครั้ง เช้ามืดวันนี้ โรงงานระเบิดกลางพื้นที่ชุมชนถนนกิ่งแก้ว ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ และเส้นทางบางนาสายหลักเข้ากรุงเทพฯ ไฟไหม้รุนแรง และปล่อยก๊าซมลพิษ สร้างความเสียหายรุนแรงต่อสุขภาพคนเมือง
...เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่อแก๊สระเบิด แถวขอบกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ กลางวันแสกๆ มีผู้เสียชีวิต บ้านเรือนหลายหลังถูกเผาวอดวาย...
พี่เอ้ ในฐานะนายกสภาวิศวกร (และชาวบ้านคนหนึ่งที่มีครอบครัว) ขอเสนอ
1.การกำหนดพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานทำสารเคมี หรือบรรจุสารเคมีในกทม. หรือแนวที่ท่อแก๊สพาดผ่าน ให้ชาวบ้านได้รับรู้รับทราบ และได้พึงระวัง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ ได้มีการป้องกันตน และการเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งหน่วยงานดับเพลิงของกทม. และจังหวัดปริมณฑลในพื้นที่เสี่ยง ที่มีโรงงานเคมี จะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีแก่นักดับเพลิง ให้พร้อม!
2. อาจถึงจุดเปลี่ยน ที่โรงงานอันตราย ควรย้ายออกจากพื้นที่เมือง แน่นอนโรงงานเขาอาจมาก่อน ชุมชนเมืองขยายตามมาเอง... แต่รัฐและเมือง ในต่างประเทศ ได้เสนอความช่วยเหลือทางภาษีและอื่นๆ หากโรงงานเต็มใจย้าย (ที่จริง ขายที่ก็กำไรอภิมหาศาล แล้วนำกำไรไปขยายโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้!)
3. สำนักงานเขต หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องขึ้นทะเบียนโรงงานทุกประเภท เพื่อจำแนกประเภทเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย (ทุกโรงงานมีความเสี่ยง) เพื่อตรวจสอบ ประเมินทุก 6 เดือน และให้โรงงานส่งรายงานการประเมินตนเอง แบบนี้ได้ความกระตือรือร้น ความเสี่ยงต่อชาวบ้าน ลดน้อยลงทันที!
4. ต้องรายงานมลพิษ และสารก่อมะเร็งในอากาศ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประชาชนได้ป้องกันสุขภาพตนเองและครอบครัว เพราะสารอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากเพลิงไหม้เม็ดพลาสติก อันตรายถึงชีวิต
5. ถึงเวลาพัฒนานวัตกรรม การควบคุมเพลิงสารพิษ เพราะในอดีตเกิดความสูญเสียของนักดับเพลิงจำนวนมาก เพราะฉีดน้ำช่วยลดความร้อนเท่านั้น มิได้ผลยับยั้งเพลิงจากสารเคมี แต่ต้องใช้โฟมดับเพลิง ระเบิดในกทม.และปริมณฑลแบบนี้ เราเจอมาตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้ลูกหลานเรา ต้องพบเจอต่อๆไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของเหตุสลด เราไม่ควรมาแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องเปลี่ยน