เปิดใจ "ลุงนก" โวยการไฟฟ้า ขอผ่อนค่าไฟไม่ได้ ตัดพ้อนี่ไฟฟ้าหรือไฟแนนซ์

เปิดใจ "ลุงนก" โวยการไฟฟ้า ขอผ่อนค่าไฟไม่ได้ ตัดพ้อนี่ไฟฟ้าหรือไฟแนนซ์

เปิดใจ "ลุงนก" โวยการไฟฟ้า ขอผ่อนค่าไฟไม่ได้ ตัดพ้อนี่ไฟฟ้าหรือไฟแนนซ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีความเดือดร้อนของพี่น้องชาวไทย ตอนนี้ปฏิบัติตามมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ส่งผลให้ไม่มีงาน ไม่มีเงิน แต่ยังต้องจ่ายค่าไฟ ซึ่งตัวเลขรายรับ ไม่พอกับรายได้ ล่าสุดโซเชียลแชร์คลิปชายคนหนึ่งที่เสียงดังลั่นอยู่กลางการไฟฟ้า ระบุว่าได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าไฟได้ทั้งหมด จวกยับทำไมขอผ่อนจ่ายไม่ได้ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

รายการโหนกระแสวันที่ 8 ก.ค. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ ลุงนก” ชายในคลิปที่ได้รับความเดือดร้อน มาพร้อม ดร.ประสิทธิ์ สิริทิพย์รัศมี ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง

ลุงนกอายุเท่าไหร่?

นก : 48  ย่าง 49

วันนั้นเกิดอะไรขึ้น ลุงนกไปทำอะไรที่การไฟฟ้า?

นก  : เท้าความก่อน ประมาณสิ้นเดือน เดือนที่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าไปตัดไฟบ้านผม ถือบิลมาปึกนึง เขาไปตัดบ้านนึง ผมถามเขาว่า น้องมีของพี่เปล่า เพราะผมรู้ว่าผมติด เขาบอกว่าไม่มี เพราะส่วนใหญ่จะติดประมาณ 10-15 เดือน เพราะผมก็รู้ว่าค่าไฟผมเยอะ ต้องไปประนอม ผ่อนชำระ พอวันที่ 5 ก็เดินทางไปผ่อนชำระ แต่ระหว่างทางที่ไปบรรยากาศมันไม่ดี แถวคนมาเสียค่าไฟมันยาวเกินไป เพราะเรารู้แล้วว่าเขาโดนเร่งรัดมา เราไปที่การไฟฟ้านครหลวงตรงจรัญสนิทวงศ์

มีคนอื่นเห็นเหตุการณ์ เขาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ลุงโวยวาย อยากขอผ่อนผัน แต่ไม่ได้ มีพนักงานช่องข้างๆ ที่อยู่ข้างใน ลุกขึ้นมาตะโกนด่าลุงว่าเงียบๆ หน่อยได้มั้ย จะทำงาน ก็สงสาร พนักงานน่าจะคุยกับเขาดีๆ ลุงก็โมโหหนัก รปภ. ก็มาดึงแขนเขา วันนั้นเราไปเพื่อขอเจรจา?

ลุงนก : ใช่ครับ วันนั้นผมไม่ได้โดนตัดไฟนะ เจ้าหน้าที่มาตัดไฟผมก็ถามแล้วว่ามีของผมมั้ย เขาก็บอกว่าไม่มี แต่ผมรู้แล้วว่าเขากำลังมา กำลังจะไปตัดไฟทุกคน ผมก็จัดการปัญหาทำยังไงให้มันทอนลง

ติดกี่เดือน?

ลุงนก : 7 เดือน เป็นเงินประมาณ 1.2 หมื่น

ไปขอผ่อนผันเขาว่ายังไง?

ลุงนก : ผมกะไปเสียอยู่แล้ว 2 เดือน ที่เหลือจะขอผ่อนผัน หมายถึงทุกสิ้นเดือนจะไปเสีย 2 เดือน เดือนเก่าเดือนนึง เดือนใหม่เดือนนึง ไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้ทำงาน จะเอาเป็นก้อนเราไม่ไหว เราไม่มีรายได้มาเกือบ 2 ปี กิจการธุรกิจก็เจ๊งหมด เพราะผมทำอิงท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ผมโดนก่อนใครเพื่อน เกือบ 2 ปีที่อยู่อย่างประหยัด ความเครียด โควิดต้องคอยหลบ ผมก็เครียด ไม่ได้ออกจากบ้านตั้งแต่เดือนเม.ย. เก็บตัว เพราะเริ่มระบาดหนักผมก็เก็บตัวแล้ว พอเราเอาไปเสียก็เครียดอยู่แล้ว ระหว่างเดินทางไป ระหว่างรอแถวยาวมาก ไปเจอผู้หญิงสองคน มาคนละบ้าน คนนึงกอดลูกอยู่ นั่งน้ำตาคลอเบ้า ร้องไห้ เขาบอกผมว่าเขาโดนยกหม้อ ผมถามว่าเขาติดเท่าไหร่ เขาติด 15 เดือน (เสียงสั่นเครือ) 15 เดือนถูกยกหม้อต้องจ่ายหมด เป็นกติกาของไฟฟ้า อีกคน 10 เดือนเป็นผู้หญิง เขาบอกว่าหนูไม่รู้จะทำยังไง ไม่มีตังค์ จะไปหาตังค์ที่ไหนตั้ง 15 เดือน ผมเข้าไปบรรยากาศไม่ใช่ไฟฟ้าเลย

หลังต่อรอง พนักงานเขาลุกขึ้นมาหรือยังไง?

ลุงนก : ตอนช่วงที่ต่อรอง ผมบอกว่าผมมาขอเสียก่อน 2 เดือน เจ้าหน้าที่ผู้หญิงเป็นคนรับเรื่อง มีฝ่ายเร่งรัดอยู่ 2 โต๊ะ แล้ว 2 โต๊ะนี้ เวลาผ่อนผันเหมือนกัน ลักษณะการปฏิบัติข้อตกลงเหมือนกัน คือผมมี 2 เดือน ถ้าจะเสียค้างต้องเสียครึ่งนึงก่อน

ก็หมายถึงโดน 4 เดือนก่อน?

ลุงนก : ใช่ แล้วผมก็บอกว่าผมเตรียมมาแค่ 2 เดือนก่อน ผมขอชำระ 2 เดือนก่อนได้มั้ยเพราะช่วงนี้ผมตกงาน ผมได้รับผลกระทบจากโควิด ผมไม่มีรายได้เลย แค่หามา 2 เดือนนี้มันก็ยากพอแล้ว เสร็จแล้วเขาก็บอกว่าต้องเสียครึ่งนึงเป็นตามกติกาไฟฟ้า คุณต้องเสียครึ่งนึง ผมบอกว่าผมไม่มีหรอก ผมมีในตัวแค่ 3 พัน เขาบอกเอางี้แล้วกัน คุณเสียตรงนี้ไปก่อน 2 พัน อีก 2 วันคุณมาเสียอีก 2 เดือน ผมบอกผมจะไปหาเงินจากตรงไหน ผมหาเงินไม่ได้หรอก เวลาแค่นี้ ผมหาไม่ได้จริงๆ จะให้ผมรับปากให้ได้ และไม่ยอมให้ผมไปเสีย เพราะนโยบายไฟฟ้า ถ้าตกลงตรงนี้ไม่ได้คุณไม่มีสิทธิ์เสีย คุณกลับไปเลย เขาเรียก 4 คุณต้องมา 4 ถ้าคุณมา 2 ให้กลับไปรอที่บ้าน รอโดนตัด นี่คือเรื่องจริงนโยบายไฟฟ้าทำแบบนี้จริงๆ ตั้งแต่รุ่นพระเจ้าเหา กฎคุณไม่เคยเปลี่ยนแปลง

วันนั้นทะเลาะอะไรกัน ทำไมถึงโวยวายขึ้นมา?

ลุงนก : เขาจะให้ผมรับปาก ผมบอกว่าผมรับปากได้นะ แต่ถ้าผมหาไม่ได้ถึง 2 เดือน ผมขอชำระเดือนเดียวได้มั้ยเพราะผมต้องกลับไปหาตังค์ เขาบอกไม่ได้ คุณต้องมาภายใน 2 วันที่บอกนี้ ผมก็คุยอีกผมไม่มีตังค์ ถ้าผมจ่ายพี่อีก 2 เดือน ผมคงไม่ต้องกินข้าวกินปลาแล้ว เพราะผมไม่มีตังค์แล้ว

ประเด็นที่ทำให้เดือดขึ้นจริงๆ?

ลุงนก : ประเด็นที่ทำให้เดือด ผมบอกว่าถ้าผมไม่มีมาให้ คุณจะตัดไฟผมมั้ย เขาบอกว่ามันเลยเวลามาแล้ว มันถึงเวลาตัดแล้ว แล้วขู่จะตัดไฟผม ผมก็บอกว่าตกลงจะตัดไฟผมใช่มั้ย ได้ ไม่เป็นไร คุณตัดนะ ผมก็จะเดินไปติดโควิดให้ลุงตู่ดู เพราะผมก็ไม่มีที่ไป ก็ไปกินนอนในศูนย์ มีเตียงนอนที่ดี มีคนเฝ้า แต่ไปอยู่รวมกัน ผมว่าทุกคนอาจมีใครไปทำแล้วก็ได้ เพราะไฟฟ้าเขาโดนตัด ผมมีคนรู้จักบางคนเขาอายเรื่องนี้มาก วันนี้เขาโดนตัดไฟไปเดือนกว่าแล้ว ผมถามว่าเขาอยู่ยังไง

คุณปะทุเลย แล้วโวยมาเลย ฝั่งพยานเขาบอกมีพนักงานลุกขึ้นมาโวยคุณด้วย?

ลุงนก : จริงๆ ผมเริ่มเสียงดัง เพราะผมพูดแล้วเขาไม่ยอม ที่โมโหมาก เขาเรียกรปภ. มาจับผม ในคลิปจะได้ยิน ผมบอกว่าคุณจับเลย พอรปภ.เข้ามา มีพนักงานคนนึงลุกขึ้นมาตะโกน หนวกหูเว้ย จะทำงาน ไม่ได้ยินอะไรเลย ก็เลยจะเห็นคลิปหลังที่ผมจะเดินไปหาเขา เพราะเขาลุกขึ้นมาเหมือนจะเอาเรื่องผม

วันนี้ถูกตัดไฟหรือยัง?

ลุงนก : ยังครับ เพราะผมไม่ได้โดนตัดไฟ ผมไปผ่อนผัน พอมันเกิดเรื่องเสร็จ เขาก็บอกว่าจะโวยวายทำไม กำลังทำให้อยู่ อ้าว แล้วทำไมก่อนหน้านี้บอกว่าคุณทำไม่ได้

เปรียบเทียบความรู้สึกจากไฟฟ้าเป็นอะไร?

ลุงนก : เหมือนผมเดินเข้าโรงเชือด พอเข้าไปเจรจา มันไม่ใช่ไฟฟ้า มันเป็นไฟแนนซ์ ถ้าไฟแนนซ์คุณไม่จ่ายชำระตามเขา เขายึดรถ แต่ไฟฟ้าเอาหม้อไฟเป็นตัวประกัน ไม่จ่ายตามเขา เขายึดหม้อไฟ

ท่านรองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า คนไม่มีตังค์ ไม่มีงานทำ มันหนักหนาสาหัสมาก ตอนนี้จะทำยังไง?

จาตุรงค์ : จากสถานการณ์โควิด ไฟฟ้าเข้าใจผู้ที่กำลังลำบาก เราก็พยายามหาทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะมีมาตรการลดค่าไฟต่างๆ ทั้งนี้ก็ผ่านมา 3 รอบแล้ว ที่เรามีการลดค่าไฟ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีความจำเป็นที่หลายๆ บ้าน ต้องเอาเงินที่เคยจ่ายค่าไฟไปทำอย่างอื่น เราเห็นใจคุณลุงนะ ต้องกราบขออภัยคุณลุง ณ วันนี้ที่น้องๆ หน้าเคาน์เตอร์ทำแบบนั้น (ยกมือไหว้)

ลุงนก : ผมก็กราบขอโทษการไฟฟ้าด้วย (ยกมือไหว้) ที่วันนั้นมีอารมณ์ แต่วันนั้นเครียดมาก อาจจะฟิวส์ขาด

จาตุรงค์ : เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจความรู้สึก เป็นใครก็คงของขึ้นในวันนั้น แต่เราเรียนว่า สังเกตดูนะครับ จริงๆ ของคุณลุงค้างอยู่ 8 เดือน แล้วคุณลุงไม่ถูกตัดไฟ คุณลุงต้องดูสถานการณ์ว่าความเป็นจริงการไฟฟ้าเรายืดหยุ่น เราไม่ได้ตัดไฟหรอก อาจมีเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยว่ามันหลายเดือนแล้ว ช่วยมาแบ่งจ่ายบ้าง พอมีกำลังก็เข้ามาจ่าย แต่คราวนี้พนักงานที่หน้าเคาน์เตอร์คงเห็นว่าคุณลุงมา คราวนี้มันก็มีเงื่อนไขพอสมควรในการชำระ แต่เราไม่ได้ว่าอะไร ทางฝ่ายบริหารการไฟฟ้าเองเราให้นโยบายอยู่แล้วว่าลูกค้ามีเท่าไหร่ก็รับเท่านั้น ใครไม่มีก็ยืดหยุ่นไปก่อน นี่คือนโยบายที่ท่านผู้ว่าการได้ให้นโยบาย

ลุงนก : แต่วันนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำแบบที่ท่านพูดนะครับ เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกว่าไฟฟ้ามีนโยบายไม่ตัดไฟ แต่เขาขู่ผมว่าจะตัดไฟ

จาตุรงค์ : ต้องเรียนว่าเราพยายามช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนจริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่อยากให้คนมีกำลังจ่ายค่าไฟแล้วเลียนแบบคุณลุงแบบนี้ ว่าอย่างนี้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ เพราะไม่งั้นเรายุ่งเลย เพราะการไฟฟ้านครหลวงเราซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เราก็มาปักเสา พาดสาย ทำระบบมาจำหน่ายไฟให้แก่บ้านผู้อยู่อาศัย เราไม่อยากให้กลายเป็นว่าไม่ต้องจ่ายค่าไฟก็ได้ เราจะเลือกบุคคลที่มีความจำเป็นจริงๆ คุณลุงอยู่ในข่ายนั้นครับ

ลุงนก : จริงๆ ไม่ใช่ความรู้สึกอย่างนั้น ถามว่าทำไมชาวบ้านติดถึง 10-15 งวด เพราะเขามีไป 2 เดือน ไฟฟ้าไม่รับ ถ้าไม่ใช่จำนวนที่เขาบอกเขาไม่รับ เขาไม่ให้เสีย ต้องให้ตามที่เขาบอก เสร็จแล้วชาวบ้านก็เป็นดินพอกหางหมู วันนี้ผมมาขอร้องท่านว่าวันนี้ชาวบ้านที่เดือดร้อนค่าไฟ เขามีไปเดือนนึงคุณรับไว้เถอะ อย่างน้อยทุกเดือนๆ เขาจะไม่ได้พอกหางหมู เขามีเท่าไหร่คุณต้องรับเพื่อไม่ให้มันพอกสูง เขาติด 7 งวดเหมือนผม ถ้าผมไม่โวยวายแล้วกลับไป ผมหาเงินไม่ได้แล้วทำไง ผมไม่มาเสีย พอไม่มาเสียก็พอกไปๆ ทีละเดือนคุณก็ต้องรับไว้มันจะได้ไม่พอก แล้วพวกคุณทำให้ชาวบ้านพอกเอง เพราะพวกคุณไม่ยอมรับ

จาตุรงค์ : ขออนุญาตเรียนคุณลุงว่าจริงๆ มาเดือนเดียวเรารับ แต่อาจเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ถ้าใครบอกว่าลูกค้าถือค่าไฟมา 8 ฉบับ แล้วมีเงินจ่ายแค่เดือนเดียว สองเดือน ก็ต้องรับครับ เป็นไปไม่ได้เลย

ต้องเรียกพนักงานท่านนั้นมาสอบถามมั้ย?

จาตุรงค์ : ผมคุยแล้วครับ เขาก็ยืนยันว่ามันมีหลายๆ อย่าง คุณลุงเองก็มาด้วยอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก วันนั้นก็คนแน่น

ลุงนก : ไม่ครับ วันนั้นผมไม่ได้มีอารมณ์อะไรเลย พอผมเข้าไปวันนั้นถึงมีอารมณ์ เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง วันนั้นผมบอกว่ามี 2 เดือนแล้วเขารับเสีย มันไม่มีเรื่องแล้วครับ ถ้าเขาพูดว่าไฟฟ้าไม่มีนโยบายตัดไฟ มันจะมีเรื่องมั้ยครับ แต่เขาขู่ผม ว่าจะตัด ผมเดินเข้าไปเอง ขอผ่อนผัน ความรู้สึกเหมือนเดินเข้ามาหาเรื่องในโรงเชือด ถ้าผมอยู่บ้าน 10 เดือนก็ยังไม่ตัดผม แล้วผมไปก่อนเนี่ย กลับโดนบีบให้เสีย

 ทีมงานบอกว่าประชาชนโทรมาเยอะมาก สายไหม้ ถามคำเดียวว่าลดค่าไฟให้หน่อยได้มั้ยเพราะตอนนี้เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า การไฟฟ้ามองเรื่องนี้ยังไง?

จาตุรงค์ : สำหรับมาตรการลดค่าไฟ มีเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระลอกที่ 1 ต้นปี 63 ทางการไฟฟ้านครหลวงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ ลดค่าไฟหลายเดือนทีเดียว ตั้งแต่มี.ค.-มิ.ย. เราใช้เม็ดเงินไป 5,445 ล้านบาท ในเรื่องการลดค่าไฟ พอต้นปี 64 ระลอกที่ 2 มา ก.พ. และ มี.ค. ให้ส่วนลดค่าไฟไปทั้งสิ้น 1,356 ล้านบาท ล่าสุดเป็นการลดค่าไฟรอบเดือนพ.ค. และมิ.ย. เป็นเงิน 1,435 ล้านบาท เราไม่ได้ทอดทิ้งในเรื่องมาตรการส่วนลด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการส่วนลดเป็นนโยบายภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลจะกำหนดมา การไฟฟ้าเราตัดสินใจเรื่องการยืดหยุ่นในการชำระ อย่างของคุณลุงโดนประเด็นการยืดหยุ่น ตัดไฟ อะไรยังไงกัน

ในมุมการยืดหยุ่นที่เกี่ยวกับการไฟฟ้า ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่มีการตัดไฟในช่วงนี้?

จาตุรงค์ : สำหรับผู้ใช้ไฟที่มีความเดือดร้อน เราให้สิทธิ์เป็นรายๆ ไป ขอให้มาคุยด้วยเหตุและผล เรายินดี มีเดือนเดียวก็จ่ายเดือนเดียว ยังไม่มีก็ยืดไปก่อน แล้วเราก็ยืนยันกับคุณลุงว่าเราไม่มีนโยบายตัดไฟสำหรับผู้ที่เดือดร้อนแน่ๆ

กรณีเร็วๆ นี้ สมมติถ้าภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ ชาวบ้านอยู่บ้าน อาจมีบางหลังที่เขาถูกยกหม้อไปแล้ว เอาหม้อไปคืนเขาก่อนได้มั้ย?

จาตุรงค์ : สำหรับกรณีถูกตัดไฟไปก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นช่วงที่เราไม่ได้มีมาตรการ ก็เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าถูกยกหม้อ น่าจะช่วงหลายเดือนไปแล้ว ช่วงที่โควิดจางหายไปแล้ว

ลุงนก : ไม่ครับ ผมเพิ่งไปเจอเขาเมื่อวันที่ 4 เพิ่งโดนยกหม้อ 2 ราย ผมงง พอท่านบอกเป็นเดือนที่แล้วมันไม่ใช่ เป็นเดือนนี้

จาตุรงค์ : ต้องเรียนว่านโยบายที่ได้มอบหมายไปกับ 18 ที่ทำการเขตที่สัมผัสกับลูกค้า คือให้ไปเตือน ให้ไปคุยกับลูกค้าว่ามีความจำเป็นยังไง และจะยืดหยุ่นกันได้ประมาณไหน แต่การยกหม้อนโยบายที่มีการพูดคุยกัน เราไม่ตัดไฟอยู่แล้ว

ลุงนก : แต่ผมไม่เห็นว่ามีไปเตือนนะ ผมเห็นว่ามีไปยกเลย

จาตุรงค์ : เดี๋ยวหลังไมค์มาคุยกัน มาดูว่าหลังไหนที่ถูกยกหม้อกรณีแบบนี้ ขอเช็กนิดนึงครับ

ดร.ประสิทธิ์ครับ?

ดร.ประสิทธิ์ : ขออนุญาตให้รายละเอียด ตั้งแต่ปีที่แล้วระลอกแรก มีการช่วยเหลือเป็นนโยบายจากภาครัฐเลย เป็นนโยบายช่วยเหลือทุกกลุ่ม มาทั้งหมด 3 ระลอกด้วยกัน ขอพูดถึงภาพรวม สิ่งที่เราทำหนึ่งมาตรการตั้งแต่ปีที่แล้ว มีเรื่องการลดค่าไฟ 3 เปอร์เซ็นต์ เงินที่ใช้ค่อนข้างจะเยอะ แต่ผลกระทบที่ได้ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ก็ใช้ไปเกือบ 5 พันล้านที่ดูแลเรื่องลดค่าไฟทุกประเภทผู้ใช้ไฟที่เคยทำไป มาตรการที่สอง ช่วยเกี่ยวกับเฉพาะกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งบ้านที่อยู่อาศัยกับประเภทธุรกิจ บ้านที่อยู่อาศัยก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบ้านเล็ก ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย กลุ่มบ้านใหญ่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย กลุ่มบ้านเล็กช่วยค่าไฟไป 90 หน่วยแรก กลุ่มบ้านใหญ่ช่วยคือตอนนั้นเป็นมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม มาตรการที่เราทำคือดูเดือนฐานช่วงก่อนเกิดมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม หลังเวิร์กฟรอมโฮม มีการใช้ไฟสูงขึ้น เราก็มีให้ช่วยเฉพาะในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น ตามสัดส่วน กลุ่มแรกใช้ไฟไม่มากก็ช่วยส่วนต่าง 100 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มสองช่วยครึ่งนึง กลุ่มสามคือกลุ่มมากหน่อย ช่วย 30 เปอร์เซ็นต์ อันนี้เป็นภาครัฐที่กำหนดลงมาในส่วนบ้านที่อยู่อาศัย

ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักจริงๆ เขาอยากให้มีการลดค่าไฟมากกว่านี้ ทำยังไงได้บ้าง เขาต้องการการเยียวยาเรื่องลดค่าไฟ ไปขอรัฐบาลให้ได้มั้ย?

ดร.ประสิทธิ์ : หลักใหญ่ใจความเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินที่จะมาอุดหนุนว่าต้องใช้ยังไง ต้องนำเรียนว่ามาตรการเฉพาะตัวบ้านที่อยู่อาศัยรอบล่าสุดที่เราใช้ไป เราเรียกมาตรการ 500 พันนึง กลุ่มบ้านเล็กกับบ้านใหญ่ที่ช่วย 90 หน่วยกับที่ช่วยตอนนี้ ต่อเดือนใช้ประมาณ 4 พันล้าน เป็นตัวเลขรวมระหว่างการไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาค ต่อเดือนใช้เดือนละ 4 พันล้าน ถ้าต้องมาอุดหนุนตรงนี้ รอบล่าสุดเราใช้เงินงบประมาณ เงินกู้ตามพ.ร.บ.เงินกู้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องเข้าครม. เพื่ออนุมัติช่วยเหลือ อย่างเดือนพ.ค. มิ.ย.ก็มีการใช้ไป 8 พันล้าน 2 เดือน ขึ้นอยู่ที่ว่าถ้าเรามีเม็ดเงินเข้ามาอุดหนุนได้ก็จะช่วยได้ แต่ช่วยได้ตามมาตรการที่ได้นำเรียนไป จริงๆ ต้องกลับไปนำเรียนเพิ่มเติม เมื่อสักครู่มีภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม มีมาตรการช่วยเหลือที่เรียกว่ายกเว้นมินิมั่นชาร์ต คือกลไกภาครัฐในการเรียกเก็บค่าไฟ ปกติเขาจะดูธุรกิจที่ใช้ไฟเยอะๆ จะมีการควบคุมว่าในรอบ 12 เดือนใช้ไฟเท่าไหร่ เขาจะนำปริมาณใช้สูงสุดตรงนั้นมาคิดที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นการันตี ตรงนี้ปัจจุบันลดมาให้ใช้ตามค่าจริง ซึ่งจะลดค่าไฟภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี

จะรับเรื่องนี้ไปนำเสนอให้ ตอนนี้ประชาชนคับแค้นใจ น้อยใจ ไม่มีรายได้แต่ต้องเสียค่าเทอม ค่าไฟ เด็กอยู่บ้านเรียนอินเตอร์เน็ต มันจิปาถะ ในมุมการไฟฟ้า ณ วันนี้เรื่องนโยบายไม่มีนโยบายยกหม้อแล้ว?

จาตุรงค์ : ใช่ครับ ใครที่ดูรายการโหนกระแสอยู่ตอนนี้อยากเรียนว่าในเรื่องของผู้ที่มีความเดือดร้อน ไม่สามารถชำระค่าไฟแบบปกติได้ ก็มาพูดคุย ทั้งนี้ทั้งนั้นการไฟฟ้าเราเปิดช่องพิเศษสำหรับการชำระบางส่วนโดยสามารถชำระทางออนไลน์ได้ เช่นค้างค่าไฟ 3 เดือน แต่มีกำลังชำระแค่เดือนเดียวก่อน ก็สามารถเลือกชำระเป็นบางเดือน ไปชำระที่เซเว่นก็ได้ ไปเลือกชำระบางเดือนโดยไม่ต้องมาที่การไฟฟ้าก็ได้ ส่วนใครไม่สะดวก ให้มาติดต่อที่การไฟฟ้าจะให้ดูรายละเอียด และให้ผ่อนชำระ เดือนนึงผ่อนได้ 6 ครั้ง 6 รอบ ตรงนี้เราเห็นใจผู้ที่ลำบาก เรื่องสถานการณ์โควิดในขณะนี้

เราชนะกับคนละครึ่ง จ่ายได้มั้ย?

จาตรุงค์ : มาตรการนี้ไม่ได้รองรับเรื่องค่าไฟ แต่ก็เรียนว่ามาพูดคุยเถอะ การไฟฟ้าไม่ได้ใจดำ ลูกค้าก็เป็นผู้มีพระคุณอยู่แล้ว เรายินดีให้ความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราพิจารณาเป็นรายๆ

แต่เดือดร้อนทุกรายนะ?

จาตุรงค์ : เข้าใจครับ

ลุงนก : บัตรประชารัฐได้มั้ย

จาตุรงค์ : จริงๆ เรามีมาตรการที่ใช้ได้อยู่แล้ว แต่ประชาชนอาจไม่ค่อยได้ติดตามข่าวตรงนี้ มันใช้ได้เป็นพื้นฐานค่าไฟอยู่แล้ว ของคุณลุงเอง เราก็ดูแล ค่าไฟส่วนที่ค้างถ้าคุณลุงมีโอกาส มีกำลังก็เข้ามาติดต่อ มาพูดคุย

ลุงนก : จริงๆ ผมทำงานเวิร์กช็อปที่บ้านด้วย เรารอโอกาสเหมือนกัน รอวันฟ้าใส แต่ตัวเลขโควิดขึ้นจนเราไม่ไหวจริงๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook