เผยตัวเลขช็อก บุคลากรการแพทย์ติดโควิด 880 ราย เสียชีวิต 7 ราย ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดรวม 880 ราย ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว อาการไม่หนัก มีเสียชีวิตรวม 7 ราย เตรียมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) ให้ฉีดเข็ม 3 เป็นแอสตร้าหรือไฟเซอร์
วันที่ 11 ก.ค.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคได้แถลงข่าวประเด็นการติดเชื้อของโควิดของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเริ่มต้นได้แสดงความเสียใจกรณีพยาบาลเสียชีวิตเมื่อวาน (10 ก.ค.) จากการติดเชื้อโควิด ผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง
“ถือเป็นความเสียสละที่น้องพยาบาลได้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท แล้วติดโควิด อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ตั้งแต่ 1 ก.ค.จนถึงเมื่อวานนี้ กรณีดังกล่าวอยู่ในความสนใจของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คุณพยาบาลได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกช่วงเดือนเมษายน และได้เข็มที่สองช่วงต้นเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ด้วยการปฏิบัติงานที่แผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมิถุนายนก็มีโอกาสได้รับเชื้อ และด้วยมีประวัติเสี่ยง ภาวะอ้วน ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง”
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า คำถามที่ตามมาคือ การได้วัคซีน 2 เข็มเพียงพอหรือไม่ เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิทยา โรคติดเชื้อ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่าภูมิคุ้มกันจะลดลง หลังจากที่ฉีดไประยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาที่เสนอให้ฉีดกระตุ้น ถือเป็นการฉีดเข็มที่ 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยง เป็นการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่แตกต่างจากชนิดแรก อาจเป็นไวรัลแวคเตอร์/แอสตร้าฯ หรือ mRNA ซึ่งไม่นานไทยน่าได้รับการบริจาคจากไฟเซอร์ ข้อเสนอคณะกรรมการวิชาการจะนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.)
บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเท่าไร-เสียชีวิตเท่าไร
การระบาดเดือน เม.ย.-10 ก.ค. มีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด 880 ราย จากทั้งหมดราว 700,000 คน
ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 880 ราย ในจำนวนนี้ ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน 19.7% หรือ 173 ราย
สัดส่วน หญิง : ชาย = 3 : 1
วิชาชีพ แบ่งเป็น
54% พยาบาล/ ผู้ช่วยพยาบาล
7% แพทย์/ ทันตแพทย์
6% แม่บ้าน / หน่วยจ่ายกลาง
4% เจ้าหน้าที่รังสี / เภสัช
1% เวรเปล / รปภ.
28% อื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นใน รพ.
ช่วงอายุ แบ่งเป็น
20-29 ปี ประมาณ 340 คน
30-39 ปี ประมาณ 260 คน
40-49 ปี ประมาณ 150 คน
50-59 ปี ประมาณ 90 คน
การเสียชีวิต 7 ราย แบ่งเป็น
ไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 5 ราย
ได้รับซิโนแวค 1 เข็ม จำนวน 1 ราย (เริ่มป่วยหลังฉีดเข็ม 2 เพียงวันเดียวภูมิยังไม่ขึ้น)
ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม จำนวน 2 ราย
ตารางสรุปความรุนแรงของการป่วยโควิดในบุคลากรทางการแพทย์
อัตราการติดเชื้อในผู้ได้รับวัคซีน พบว่า ถ้าได้รับครบจะมีโอกาสป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตน้อยกว่า
ส่วนการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ต้องมีเตรียมการ ทั้งการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม ระบบการส่งวัคซีนไปยังหน่วยงาน หลังคณะกรรมการโรคติดต่อมีมติเห็นชอบวันจันทร์ 12 ก.ค.ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่อาจต้องสำรวจจำนวนก่อน โดยเน้นที่บุคลากรด่านหน้าเป็นกลุ่มแรก แล้วกลุ่มอื่นๆ จะตามมา