สื่อนอกตีข่าว ไทยเป็นชาติแรกชาติเดียวในโลก ฉีดไขว้ "ซิโนแวค - แอสตร้าฯ"
สื่อต่างประเทศหลายสำนักให้ความสนใจรายงานข่าวกรณีที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย แถลงปรับเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ไทยถือเป็นชาติแรกที่มีการใช้วัคซีนไขว้สองชนิด ระหว่างวัคซีนเชื้อตายของซิโนแวค กับวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า
Forbes รายงานว่า ความคืบหน้าของไทยนี้สืบเนื่องจากการที่ไทยพบเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลหลายคนติดเชื้อโควิด แม้จะรับวัคซีนของซิโนแวคครบแล้วทั้งสองโดส ท่ามกลางความคลุมเครือในประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนชนิดดังกล่าว
เช่นเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ที่รายงานโดยระบุถึงคำกล่าวของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวานนี้ว่า การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้านั้น จะช่วยป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ดียิ่งขึ้น และช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยชี้ว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ในเข็มสองนั้นจะทิ้งระยะห่างจากซิโนแวคเข็มแรก 3-4 สัปดาห์
แผนนี้จะถูกนำไปใช้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้วในเข็มแรก ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่รับซิโนแวคครบสองเข็มแล้วนั้น รัฐบาลไทยเตรียมฉีดบูสเตอร์เข็มสามเป็นวัคซีนต่างชนิดกัน ซึ่งอาจเป็นวัคซีนของไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ โดยจากข้อมูลของคณะกรรมการโรคติดเชื้อแห่งชาติระบุว่าจะทิ้งระห่างหลังรับซิโนแวคครบสองเข็มแลวราว 3 - 4 สัปดาห์ สื่อต่างประเทศบางแห่งรายงานด้วยว่า การให้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขไทย กับคณะทำงานควบคุมโรคโควิดของรัฐบาลมักเผยแพร่ข้อมูลไม่ตรงกันซึ่งสร้างความสับสนแก่สาธารณชนในหลายครั้ง
Reuters ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาหรืองานวิจัยอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการใช้วัคซีนไขว้ระหว่างซิโนแวค กับแอสตร้าเซเนก้า ประเทศไทยจึงเป็นชาติแรกที่ใช้รูปแบบการฉีดดังกล่าว ทว่าอย่างไรก็ตาม การใช้วัคซีนไขว้ต่างชนิดกัน หรือการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มสามที่ต่างชนิดจากสองเข็มแรกนั้น เกิดขึ้นแล้วในการทดลองของบางชาติอาทิ สหราชราชอาณาจักร สเปน สวีเดน เกาหลีใต้ และเยอรมนี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ง่าย และเป็นตัวแปรลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่าน กระทรวงสาธารณสุขไทย เผยว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กว่า 677,000 คนที่ได้รับวัคซีนชิโนแวคครบสองโดส จำนวนนี้พบว่ามีบุคลากรติดเชื้อ 618 คนระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม พยาบาลเสียชีวิต 1 คน และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 1 คน ป่วยอาการหนัก
ทั้งนี้ เพียงไม่นานหลังไทยประกาศปรับกลยุทธ์วัคซีนใหม่ ทางด้านองค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงเตือนให้นานาชาติ ระวังและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการผสมสูตรฉีดวัคซีน เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดอันตรายแก่ผู้รับวัคซีน เพราะยังไม่มีผลการทดลองที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว