สั่งปลดล็อก ให้โรงพยาบาลตรวจโควิดให้ประชาชน แม้ไม่มีเตียงรองรับ
โฆษก รบ.เผย รัฐบาลปลดล็อกแก้ไขโควิด-19 ให้ทุกโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อโควิด-19 แม้ไม่มีเตียงรองรับ พร้อมเผยไทยผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้เอง เกือบ 5 ล้านเม็ดต่อเดือน เร่งกระจายยาให้ผู้ป่วย
วันที่ 13 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้นรัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องยกระดับการบริหารจัดการให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน และปลดล็อคในหลายเรื่องเพื่อเอาชนะเชื้อโควิด ซึ่งในช่วงสองสัปดาห์จากนี้ไป จะระดมฉีดวัคซีนให้ได้ 1,000,000 โดสในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ขณะเดียวกันมีการเก็บตัวอย่างการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ราว 700,000 คนทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าโดยจากรายงานพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพียง 707 คนคิดเป็น 0.01% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแม้ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้100เปอร์เซ็นต์แต่ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ส่วนการตรวจคัดกรอง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีการปลดล็อกไป 2 เรื่องคือให้โรงพยาบาลเปิดรับการตรวจให้ประชาชนแม้จะไม่มีเตียงรองรับ แต่เมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเพื่อแยกกับตัวและรักษาตามอาการต่อไป โดยให้สถานพยาบาลนั้นต้องทำหน้าที่ประสานในเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหา
และปลดล็อกให้ใช้เครื่องมือการตรวจแบบไว หรือ Rapid Antigen Test เพื่อให้คนที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงรู้เบื้องต้นว่าตนติดเชื้อหรือไม่ และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และหากพบว่าติดเชื้อจะมีการตรวจแบบ RT-PCR ต่อไป ปัจจุบันชุดตรวจ Rapid Antigen Test จะดำเนินการใช้ได้ในส่วนของสถานพยาบาลก่อนและในอนาคตจะมีมาตรการต่างๆรองรับว่าจะหาซื้ออย่างไรและการควบคุมราคาด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าราคาต้องไม่แพงประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกันได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 200 ชุด ทำหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนเพื่อคัดกรองเชิงรุกโดยเร็วส่วนมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโควิด-19 จะยึดหลักเกณฑ์การเข้าถึงง่ายและขยายศักยภาพ และเพิ่มจำนวนเตียงให้สอดคล้องกับความรุนแรงของอาการทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เช่นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะเพิ่มเตียงในพื้นที่โรงพยาบาลบุษราคัม จะทำให้มีเตียงไม่ต่ำกว่า3,000 -4,000 เตียงและเปิดศูนย์พักคอยอีก 17 แห่งรองรับผู้ป่วยอีกกว่า 2,560 เตียง และจะเสริมให้ครบ 3000เตียงในระยะต่อไป
ขณะที่ยารักษายาฟาวิพิราเวียร์ขณะนี้ประเทศไทยสามารถผลิตได้ด้วยตัวเองวันละ3-5 ล้านเม็ดต่อเดือน และจะเร่งกระจายไปยังสถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศ ยืนยันจะไม่สต๊อกไว้ส่วนกลาง จะกระจายเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักต่อไป พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างจริงจังด้วย