สปสช.ลุยตรวจเชิงรุก ยันผู้ติดเชื้ออาการไม่หนัก รักษาตัวที่บ้านได้ ไม่มีลอยแพแน่นอน
สปสช. เคลียร์ ! ตรวจเชิงรุก ติดเชื้อแล้วให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน แก้ปัญหาได้จริง? ลั่นจะไม่ลอยแพผู้ป่วย รับใช้งบไปแล้ว 17,000 ล้าน
รายการโหนกระแสวันที่ 13 ก.ค. 64 “หมวย อริสรา กำธรเจริญ” ดำเนินรายการแทน “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรณีการตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen test กระทรวงสาธารณสุขมีการตั้งเป้าจะตรวจให้ได้ 1-2 หมื่นคนต่อวัน จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ระบบการรักษาต่างๆ เตรียมไว้อย่างไร มีความพร้อมแค่ไหน และถ้าอาการหนักขึ้นมาจะทำอย่างไร
เมื่อวานมี 3 จุด ที่สนามกีฬาธูปะเตมีย์ ปทุมธานี , ที่ราชมังคลา บางกะปิ และที่ศูนย์ราชการ เป็นไปตามเป้าของคนที่อยากให้มารับการตรวจไหม?
“การตรวจ Rapid Antigen เป็นการตรวจในเวลารวดเร็ว สามารถทราบผลได้เลยในเวลาไม่เกิน 30 นาที เมื่อวานที่เราทดลองนำร่องลองดู ก็พบว่าคิวที่คอยไม่ยาวนัก สามารถตรวจเสร็จได้ใน 1 วัน รายงานผลได้เสร็จสิ้นในเย็นวันนั้น เราสามารถทราบว่าท่านใดมีผลบวกหรือผลลบ กรณีผลบวกสามารถให้คำแนะนำในการดูแลรักษาต่อไปได้ ดังนั้นวันนี้เรามีขยายจำนวนให้มากขึ้นอีก ตราบใดที่พี่น้องประชาชนที่มีความสงสัยต้องการตรวจ ก็ตรวจใน 3 จุดเดิมก่อน ในวันพรุ่งนี้เริ่มนำร่องเข้าไปในชุมชน ไปค้นหาในชุมชน ใช้รถเคลื่อนที่เข้าไปตรวจ เพราะ Rapid test ตรวจได้เร็ว ให้ผลเร็ว ถ้าหากพบผู้ป่วยเราก็แยกกักได้เลย พรุ่งนี้อาจใช้รถจำนวนเยอะนิดนึงในการลงชุมชน ต่อจากนั้นถ้าหากมีความต้องการอีก สปสช. จะเพิ่มจุดตรวจขยายจุดตรวจเพิ่มเติม ให้พี่น้องเข้าถึงจุดตรวจได้มากที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศให้มีการลดการเดินทางในพื้นที่สีแดง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเป็นโอกาสที่ดีมากในการเพิ่มการตรวจให้มาก กว้างขึ้น มากขึ้น ขยายจำนวนมากขึ้น ช่วงนี้อาจตรวจมากขึ้น มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เราวางแผนไว้ทั้งหมด เพื่อค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และแยกออกมารักษา ถ้าแยกจากตรงนี้ได้ในช่วง 14 วันที่ลดการเดินทาง เชื่อว่าจะทำให้การแพร่กระจายลดลง
จริงๆ แล้ว Rapid Antigen test มีตั้งนานแล้ว ทำไมกระทรวงฯ เพิ่งนำมาใช้?
“จริงๆ Rapid Antigen มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่อย่างที่ทราบว่าบางตัว บางยี่ห้อ ผลลัพธ์ยังไม่ค่อยดี แต่วันนี้ที่อย.ประกาศแล้ว มีประมาณ 24 ยี่ห้อที่ใช้ได้ดี เขามีการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์เขาเหมือนกัน จนทำให้เราตรวจสอบพบว่าถ้าตรวจมาตรฐานได้ผลบวก ตัวนี้ก็ได้ผลบวกที่ประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เรามีลักษณะว่าถ้าเกิน 95 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าน่าจะใช้ได้ นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาคนไปตรวจวิธีมาตรฐาน 100 คน อาจมีผิดพลาดแค่ 5 คน 5 คนนี้คือผลบวกลวง ซึ่งเขาไม่ได้ป่วย แต่ผลบวกลวง แต่เป็นข้อดี เราก็ให้คำแนะนำการรักษาไปก่อน แล้วไปตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐานอีกครั้ง ขณะเดียวกันอาจมีปรากฎการณ์ป่วย แต่เป็นลบปลอม ซึ่งน้อยมาก แทบเป็นศูนย์เลย ดังนั้นการตรวจ Rapid Antigen ข้อดีคือถ้าผลลบค่อนข้างมั่นใจว่าท่านไม่ติดเชื้อ หรือเชื้อไวรัสไม่มาก เราก็แนะนำให้กักตัวได้ อยู่บ้านได้ ด้วยผลดีของการตรวจรวดเร็วและจำนวนมาก ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เราก็คิดว่าถึงเวลานำRapid Antigen มาใช้
ถ้าเรานำมาใช้ก่อนหน้านี้ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ไหม มันช้าไปไหมก่อนที่จะตัดสินใจ?
“จริงๆ Rapid Antigen จะได้ผลดี ถ้ามีอัตราการติดเชื้อในชุมชนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นสูงแค่ไหนถึงจะเหมาะและเอามาใช้ก็บอกยากนิดนึง เราก็เตรียมการมาหลายเดือนพอสมควร โดยเฉพาะมีการนำร่องหลายพื้นที่ จะเห็นว่าเราเคยนำร่องที่ภูเก็ต ช้าไปหรือไม่ต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง ที่เราทำมา เราพยายามเร่งทำให้เหมาะกับสถานการณ์ ถ้ามาเร็วไป ความเข้าใจประชาชนไม่ดี ก็อาจมีกระแสว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ช้าไปก็อยู่มุมมองผู้วิจารณ์ด้วย แต่เราพยายามเร่งกระบวนการให้ดีที่สุด
ถ้าตรวจที่ธูปะเตมีย์ รู้ผลใน 30 นาทีถ้ารู้ว่าเราติดขึ้นมาจะทำยังไง ไปกักตัวที่บ้านจะเดินทางยังไง?
“ตอนนี้เรามีรถประสานเพื่อนำท่านกลับไปที่บ้าน แต่ตอนมาท่านอาจมารถสาธารณะเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเดินทางไปหรือกลับคงต้องใช้มาตรการป้องกันตัวเองสูงสุด แม้ท่านมีผลบวก ถ้าท่านป้องกันตัวได้ดี ก็ลดการแพร่กระจายได้ แต่ขณะนี้เราได้จัดบริการรถรับส่ง ประสานหน่วยงานราชการ ทหาร มาช่วยดูแลให้ เมื่อวานนี้มีหลายรายที่เราเป็นผู้นำส่งกลับ บางท่านที่มาขอตรวจ บางครั้งเราไม่ได้มีการดำเนินการอะไร แต่ขณะนี้ถ้าท่านพบว่าบวกเราจะแนะนำให้ท่านอยู่บ้านแล้วรักษา ยกเว้นท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ยังไงต้องเอาเข้ารพ. อย่างเช่น ท่านสูงอายุ เป็นโรคอ้วน มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้จะขออนุญาตเอาเข้ารพ.เลย เพราะถ้าเป็นผลบวก โอกาสป่วยถึงเสียชีวิตมี แต่ถ้ากลุ่มอื่น จะเรียกว่าสีเขียว 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ป่วยและไม่ค่อยมีอาการ เดินไปมาได้จนครบ 14 วัน ร่างกายก็กำจัดไวรัสออกไปได้ กลุ่มนี้จะเริ่มการรักษาโดยวิธีการที่เรียกว่า โฮม ไอโซเลชั่น
ครอบครัวคนไทยอยู่กันหลายคน ถ้าเขาไปกักตัวที่บ้านแล้วเราไม่มีความพร้อมจะทำยังไง?
“เราก็มีสองมาตรการ ตอนนี้นอกจากมีการทำโฮม ไอโซเลชั่นดูแลที่บ้านแล้ว เรายังมีการดูแลในลักษณะชุมชนใกล้บ้าน เรียกว่าคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น ขณะนี้จัดตั้ง 20 กว่าชุมชนแล้ว เราตั้งเป้าว่าในกรุงเทพฯ จะตั้งให้ได้ 650 ชุมชน เราเชื่อว่าจะรองรับผู้ป่วยที่อาจไม่มีความพร้อม อาจดูแลที่บ้านได้ เช่น อยู่ที่บ้านหลายคน ท่านป่วยหนึ่งคน ก็ขออนุญาตนำท่านมาอยู่ในคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่นแทน หรือถ้าไม่มีคอมมูนิตี้ฯ เราก็ต้องหาเตียงให้ท่านแยกกักอยู่ดี ดังนั้นหลายส่วนเราเชื่อว่าท่านอยู่กันไม่เยอะและพื้นที่บ้านมี เราก็ให้ท่านอยู่ในลักษณะโฮม ไอโซเลชั่น แต่ต้องเรียนว่าตอนนี้เรากำลังปรับวิธีดำเนินงาน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่เรานำร่องเราให้แพทย์จากรพ. เข้ามาดูแล แต่พบว่าจำนวนแพทย์ที่มาดูแลท่านยังน้อย เราเลยเปลี่ยนให้แพทย์ที่เรียกว่าหน่วยบริการปฐมภูมิดูแลแทน ได้แก่ คลินิก ศูนย์สาธารณสุข ซึ่งมีมากมาย และมีบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยคน ก็ให้มาดูแลแทน วิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้ดูแลได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับคนมีความพร้อมในการรักษาตัวอยู่บ้าน เราเตรียมอะไรไว้บ้าง?
“จากการติดตามไวรัส ช่วงนี้แม้มีการเปลี่ยนแปลงของไวรัสแต่พบว่า 100 คนที่ป่วย 80 เปอร์เซ็นต์ยังป่วยในลักษณะอาการไม่รุนแรง คือเป็นสีเขียวที่ 14 วันร่างกายกำจัดเชื้อได้ มีประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สีเหลือง มีอาการปอดบวม 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นมากจนต้องเข้าไอซียู เราพยายามดูว่าจากข้อมูลใครเป็นกลุ่มสีเขียวดูแลที่บ้านได้ เราก็พยายามจัดระบบดูแลที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าปล่อยท่านไปอยู่ที่บ้านและดูแลตัวเอง ตรงกันข้ามเรามีบุคลากรทางการแพทย์ ทำบ้านท่านให้เป็นเหมือนรพ. จินตนาการดู ถ้านอนรพ. คุณหมอจะมาดู 2 ครั้งเยี่ยมไข้ พยาบาลประมาณ 3 ครั้ง อาหารสามมื้อ เราก็จำลองสถานการณ์ต่างๆ ขอให้หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ใช้วิดีโอคอล อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อถามอาการ กับการส่งอุปกรณ์เพื่อวัดอุณหภูมิกับออกซิเจนในเลือดให้ท่าน เพื่อเวลาเยี่ยมไข้ ออกซิเจนในเลือดเป็นหลัก เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าท่านมีอาการปอดบวมหรือไม่ นอกจากนั้นเราจะส่งอาหารให้ท่านวันละ 3 มื้อ เพราะถ้าไม่มีอาหาร ท่านออกจากบ้านแน่นอน ดังนั้นถ้าเราให้อาหาร ก็ไม่น่ามีเหตุให้ท่านเดินออกไปนอกบ้านเพราะเป็นความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนั้นถ้าท่านอาการแย่ลง เราจะจัดรถส่งต่อให้ จะเอาตัวมาเอ็กซเรย์ปอดดูก่อน ถ้าปอดไม่อักเสบก็กลับไปอยู่ที่บ้านเหมือนเดิม แต่ถ้าปอดอักเสบก็เข้ารพ. การทำโฮมไอโซเลชั่น มีความกังวลว่าถ้าอาการหนักจะทำยังไง ต้องเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขตอนนี้กำลังเตรียมรพ. ที่เรียกว่าฟาสแทร็กให้ท่าน ส่งเข้าเลยโดยไม่ต้องถาม ถ้าหมอบอกว่าหนัก หมอที่อยู่รับก็ไม่ต้องถามว่าหนักจริงหรือเปล่าก็เอาเข้าเลย ซึ่งถ้าเราจัดดีๆ คนไข้กลุ่มนึงที่อยู่บ้านจนครบ 14 วันจนหาย คนไข้กลุ่มนึงประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเหลือง อย่างไรก็ตามเราจะให้ยาเร็วนิดนึง เราพบว่ายาหลายตัวจะลดอาการรุนแรงได้ ไม่ว่าจะฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้ท่านได้รับยาเร็ว และเชื่อว่าคนที่เป็นเขียวแล้วเป็นเหลืองจะลดลงด้วย ทำให้เราบริหารจัดการได้
เมื่อวานที่เริ่มตรวจไป ที่เจอผลเป็นบวก ประชาชนพร้อมกักตัวที่บ้าน มากน้อยแค่ไหน?
“ตรงศูนย์ราชการ 700 กว่าราย เป็นบวกสักประมาณ 50 กว่าราย 1 รายเป็นผลบวกปลอม เราก็แนะนำกลับบ้าน ที่เหลือเราแนะนำให้ทำโฮม ไอโซเลชั่นทั้งหมด บางส่วนมีรถพากลับบ้าน และมีระบบว่าจะมีการจัดหมอที่ดูแลท่านเลย เดี๋ยวกลับบ้านปุ๊บจะมีหมอ มีอาหารไปส่งที่บ้าน เพียงแต่แนะนำว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ใส่หน้ากากยังไง คิดว่าถ้าทำได้แบบนี้ทุกวัน จะมีคนกลุ่มนึงไปอยู่ในโฮม ไอโซเลชั่น ถ้าดูแลตัวเองกักตัวได้ดี ท่านหาย ก็จะลดการแพร่กระจายตัวในชุมชนได้”
หลายคนเป็นห่วงเวลารักษาตัวที่บ้านจะถูกลอยแพ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างไร?
“ตอนนี้สถานการณ์จริงผู้ป่วยหลายรายเมื่อพบว่าตัวเองบวก ไม่ว่าจะตรวจที่รพ. หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ท่านก็หาเตียงไม่ได้ และไม่มีใครไปดูแล อันนั้นประชาชนอาจรู้สึกว่าถูกลอยแพหรือเปล่า เราพยายามจัดระบบที่ว่าโทรศัพท์ไปสอบถาม แต่การโทรศัพท์ไปถามอย่างเดียวไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นที่เราพัฒนาคือให้บุคลากรทางการแพทย์ไปดู ให้มั่นใจว่าเราเข้าใจความรู้สึกคนป่วยที่อยู่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าอยู่บ้านจะถูกละเลย ตรงกันข้ามการอยู่บ้านจะได้รับการดูแลที่มากขึ้น ถ้าเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังมีการดูแลที่มากขึ้น แต่ถ้าเอาทุกคนมาอยู่รพ. ซึ่งขณะนี้ไม่มีเตียงพอ ตรงนั้นจะยิ่งทำให้คนมีอาการหนัก ไม่สามารถเข้ารักษาได้ ต้องเรียนว่ายุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขจะเปลี่ยนไปว่าทำยังไงให้คนเสียชีวิตน้อยที่สุด ถ้าเราจัดการดีๆ จะลดอัตราการตายได้ดี”
การทำจุดพักคอย ช่วยได้มากน้อยขนาดไหน?
“จริงๆ จุดพักคอย คือคอมมูนิตี้ ไอไซเลชั่นนั่นเอง ถ้าท่านอยู่ในบ้านไม่ได้ก็ต้องเป็นจุดพักคอย ใกล้ๆ บ้าน อย่างน้อยญาติพี่น้องคิดถึงจะได้แวะเวียนได้ ซึ่งมีหมอมาดูแลเหมือนกัน มีอุปกรณ์ มียา มีออกซิเจนมาให้ ถ้าอาการแย่ลงก็เข้ารพ.เหมือนกัน เราเปลี่ยนวิธีหน่อยนึงว่าแทนที่จะให้รพ.มาดู เราจัดหมอตามคลินิก สาธารณสุข หรือบุคลากรการแพทย์เข้ามาช่วยกันดู”
Rapid Antigen test ที่ตรวจได้ด้วยตัวเอง เมื่อวาน คุณอนุทิน เพิ่งประกาศลงนามกระทรวง เราจะได้ซื้อมาใช้เองเมื่อไหร่?
“ต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเข้าใจว่าตัวบริษัทต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากอย. ในการเข้ามาขายได้ คงใช้เวลาช่วงนึงในการกระจายออกไป แต่ช่วงแรกอยากให้มีการซื้อผ่านร้านขายยาก่อน อย่างน้อยมีเภสัชกรแนะนำการตรวจ สิ่งสำคัญคือวิธีการเก็บส่งตรวจ ประชาชนต้องมีความเข้าใจและเก็บให้ถูกต้อง ชุดที่จะตรวจหลักๆ ถ้าให้ประชาชนนำมาใช้ได้ จะเก็บส่งตรวจผ่านทางช่องจมูก ซึ่งวิธีการจะมีไม้พันสำลีแยงเข้าไป เพื่อกวาดเอาสารคัดหลั่งที่อาจมีไวรัสหรือตัวเชื้ออยู่ เอามาผสมกับตัวน้ำยา ใช้น้ำยาหยดไปในกล่องเล็กๆ ใช้เวลา 15 นาที ให้ปฏิกิริยาเคมีทำงาน หากมีเส้นสีแดงขึ้น 2 เส้นก็จะแสดงว่าเป็นบวก ส่วนใหญ่ที่ต้องระวังคือเมื่อตรวจเองแล้ว ถ้าเป็นบวกจะเป็นยังไง กำจัดตัวเชื้ออย่างไร ซึ่งหลายบริษัทมีน้ำยาที่ฆ่าเชื้อโรคไว้เลย เมื่อท่านทำเสร็จ ส่วนหนึ่งเชื้อโรคจะถูกฆ่าไปด้วย แต่การทิ้งก็ต้องทิ้งให้ดี เพราะเป็นขยะติดเชื้อ ต้องมีกระบวนการจัดการให้ดี เวลาเก็บทิ้งต้องใช้ถุงแดงแยกออกมา เพื่อให้ผู้เก็บขยะได้ทราบว่าเป็นขยะติดเชื้อ ตรงนี้ก็เป็นการกังวลว่าหากใช้กันแพร่หลายจะป้องกันอย่างไร วันก่อนมีการคุยกับกรุงเทพฯ ท่านจะจัดระบบในการจัดเก็บขยะติดเชื้อต่างๆ ออกไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อประชาชนจะซื้อมาใช้ก็ต้องศึกษาถึงการเก็บ การกำจัดให้ดี เมื่อพบผลบวก เราก็แนะนำว่าเนื่องจากท่านตรวจเอง แนะนำให้ติดต่อ 1330 กดเบอร์ 14 เราจะมีคุณหมอประจำครอบครัว คุณหมอบริการปฐมภูมิซึ่งมีจำนวนมากในการให้คำแนะนำ ให้ท่านกักตัวอยู่บ้าน หากไม่มีข้อห้ามใดๆ ก็ส่งอุปกรณ์ไปให้ ส่งอาหารไปให้ทั้งหมด ก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิด แต่ช่วงที่ประชาชนไม่ได้ซื้อมาใช้เอง เราพยายามกระจายชุดตรวจไปยังสถานที่ต่างๆ ให้มากที่สุด สิ่งที่เปลี่ยนไปคือต่อไปนี้ไม่ต้องไปตรวจที่รพ.เท่านั้น ไปตรวจที่คลินิก หรือรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ต่างๆ ที่เรากำหนดไว้ เพราะตรวจง่ายตรวจแล้วเจอเองก็ได้ เราพยายามกระจายไปให้มากที่สุดเพื่อให้เข้าถึงบริการมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามบางท่านอาจรู้สึกว่าลองซื้อมาเองดีกว่า เราคงมีมาตรการในการแนะนำ ต้องดำเนินการอย่างไรออกมาอีกครั้ง”
เราแยงจมูกเองเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากวาดเชื้อได้ทั้งหมด?
“ต้องมีมาตรการในการแนะนำ อย.จึงอยากให้ซื้อผ่านร้านขายยาก่อน ให้เภสัชกรแนะนำ เร็วๆ นี้จะมีการเรียกเภสัชกรทุกร้านขายยามาอบรมว่าจะเก็บตัวอย่างอย่างไร แต่หากไม่แน่ใจ ไปตรวจยังหน่วยบริการหรือสถานที่ต่างๆ ที่เรากระจายออกไปได้ ส่วนที่เราดูแล การตรวจตามสถานที่ต่างๆ ยังคงยืนยันว่าตรวจฟรี
ราคาประมาณเท่าไหร่?
“ราคามีการแข่งขันกันสูงมาก เมื่อเทียบกับตรวจวิธีมาตรฐาน rp-cr ราคาตัวนี้จะถูกกว่า 20 เท่า เราคิดว่าถึงเวลากระจายตัวนี้ไปให้มากขึ้น ไม่ว่าจะหน่วยบริการของเรา ซึ่งโชคดีมีหน่วยบริการทุกระดับเยอะมาก ไม่เหมือนต่างประเทศต้องไปรพ. จุดนึงเราอาจแจกให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ท่านไม่สามารถซื้อหามาตรวจเองได้ และกลุ่มที่กำลังทรัพย์อาจไม่พออะไรต่างๆ
แจกฟรีได้ไหม?
“กำลังคิดอยู่ในรูปแบบ สิ่งที่เรากังวลไม่ใช่เรื่องแจก แต่คือท่านจะเก็บสิ่งส่งตรวจยังไง บวกแล้วจะทำยังไง จะทิ้งสารต่างๆ อย่างไร ถ้าตกผลึกคิดว่าเป็นไปได้ให้ท่านบริหารจัดการเองได้ ขอเวลาทำงานสักระยะนึง ตอนนี้อยากกระจายชุดตรวจไปตามสถานที่ต่างๆ ก่อนแล้วดูอีกสักอาทิตย์นึงว่าเข้าถึงบริการดีไหม เพราะไปหน่วยบริการข้อดีคือมีคนเก็บให้เรา รู้วิธีเก็บ เรื่องกระจายผลตรวจคิดว่าภายในสัปดาห์นี้ เพราะชุดตรวจในประเทศมีหลักแสน แต่วันนี้เข้าใจว่ามาเป็นหลักล้านทุกๆ วัน กระจายไปยังหน่วยบริการก่อน ก่อนที่ประชาชนจะไปซื้อหา และถ้าพร้อมใจกันตรวจจะลดแรงกดดันในการตรวจ เราก็แนะนำว่าหากไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ต้องรีบก็ได้ ชุดตรวจพวกนี้ต่างประเทศก็ตรวจกันเยอะแยะ ถ้าทำมาตรฐานดี ไม่เป็นปัญหากระจายชุดตรวจไปยังประชาชน ขอเวลาทำงานสักอาทิตย์สองอาทิตย์”
ซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ได้?
“เท่าที่ลองเช็กดู มีหลายตัวขายผ่านอินเตอร์ แต่เข้าใจว่าคงไม่ใช่ตัวที่อย.ให้การรับรอง ให้ระมัดระวังสักนิด ตอนนี้อย.ประกาศรายชื่อแล้ว คงมีการเผยแพร่ความรู้ตรงนี้มากขึ้น เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ขายในอินเตอร์เน็ตคือของจริงหรือของปลอม ให้พึงระวัง เพราะถ้าท่านซื้อมาตรวจแล้วเป็นบวก แล้วท่านบอกว่าท่านเป็น แต่ชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน เราก็ต้องตรวจใหม่อยู่ดี เราก็อยากได้ชุดตรวจที่ได้มาตรฐาน”
แฟนรายการเสนอให้รัฐแจกชุดตรวจ แจกถุงแดงให้ด้วย?
“เป็นข้อเสนอที่ดี”
เรื่องงบประมาณสปสช. ใช้เงินกับการระบาดครั้งนี้เยอะ จะไปส่งผลต่อบัตรทอง หลักประกันสุขภาพของชาติยังไงบ้าง?
“ตั้งแต่มี.ค. ปี 63 เราใช้เงินนอกหลักประกัน ส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ที่รัฐกู้มาเมื่อปี 64 นี้ ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี 63 เราใช้เงินไปทั้งสิ้น 17,000 ล้านบาท ในการให้บริการคนจนถึงวันนี้ ก่อนสิ้นปีพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นมาก ขณะนี้สปสช. กำลังของบเพิ่มเติมในส่วนเงินกู้ที่ยังมีอยู่ ของบกลางรัฐบาลมารองรับผู้ป่วย แต่ทุกกระบวนการเราดูแลผู้ป่วยโควิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้ามองเม็ดเงินกับสิ่งที่เราได้รับคืนมา เชื่อว่ารัฐบาลก็มีหน้าที่พึงจ่ายงบประมาณส่วนนี้เพื่อดูแล เพราะโควิดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง สปสช. ดูแล หากเจ็บป่วยจากวัคซีนก็ดูแลให้ เพื่อให้ท่านมั่นใจอีกครั้ง งบประมาณที่ดำเนินการให้นำมาใช้กับโควิด เป็นการใช้เงินที่เป็นประโยชน์ต่อระบบ ดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยกับโควิด”
นำเงินสปสช. มาดูแลกับชุดตรวจได้เลยไหม?
“ตอนนี้ชุดตรวจที่ใช้ก็ใช้เงินจากสปสช. อนาคตก็จะใช้เงินจากส่วนนี้เพื่อดูแล ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ แต่อย่างที่เรียน หากการเข้าถึงบริการดีขึ้น ประชาชนไปสะดวกกว่า เราก็ใช้กลไกแต่ถ้าไม่ได้ผลก็อาจขอร้องให้ประชาชนตรวจเอง”
หวั่นใจไหมกับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงไม่หยุด?
“ไวรัสมีการพัฒนาตัวเอง ฉลาดขึ้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิถี ไม่อยากให้มองว่าใครล้มเหลว อันนี้เป็นภาวะปกติที่ไวรัสก็ต้องพยายามอยู่ในร่างกายมนุษย์เราให้มากที่สุด เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ลดความสูญเสีย ให้ประชาชนเข้าใจถึงสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป อยากให้มองอย่างมีความหวังว่าเราดูแลและควบคุมการระบาดได้ หากเราลดการเสียชีวิตได้ก็จะสร้างความมั่นใจประชาชนว่าป่วยแล้วไม่ตาย ต่อไปถึงป่วยก็จะอยู่กับไวรัสได้
ประชาชนมีบ้านหลายหลัง อยากให้เป็นศูนย์พักคอย หรือบางคนมีอพาร์ทเมนต์อยากช่วยรัฐ จะต้องแจ้งไปที่ใคร?
“หากมีบ้านว่าง คอนโดว่าง อพาร์ทเมนต์ว่างก็ติดต่อหน่วยบริการในชุมชน อาจเป็นคลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. เขาจะจัดระบบดูแลให้เหมาะ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เป็น ชุมชนดูแลกันเอง ใครที่มีจิตศรัทธาก็มาร่วมกัน หากท่านใดสนใจอยากจัดส่วนใดก็ติดต่อหน่วยบริการของรัฐในพื้นที่”
อยากบอกอะไรประชาชน?
“โควิดเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ระบบสาธารณสุขเราพยายามดูแลพี่น้องประชาชน หนึ่งป่วยน้อยที่สุด สองป่วยแล้วไม่เสียชีวิต แม้ระยะต่อไปอาจมากขึ้นเพราะเราทำเชิงรุกในการตรวจ แต่ให้มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้ เราจะทำให้รวดเร็วที่สุด อย่างน้อยสองสัปดาห์นี้ที่รัฐประกาศงดการเดินทาง หลังผ่าน 14 วันนี้ไป เชื่อว่าผู้ป่วยจะลดลง มาตรการใหม่ๆ มา ก็ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน เราพยายามคิดอย่างรอบคอบที่สุด ถ้าได้ความร่วมมือ เราก็เชื่อว่าจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้”
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ