อดีตประธานาธิบดี 2 ประเทศประชาธิปไตย ถูกศาลสูงสั่งจำคุกในปีนี้
การคอร์รัปชัน คือ การทุจริตโดยใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่อำนาจและอิทธิพลที่ตนมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น การเห็นแก่ญาติพี่น้อง กินสินบน ฉ้อราษฎร์บังหลวง การใช้ระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมอื่นๆที่ข้าราชการหรือบุคคลใดใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนความเป็นธรรม
คอร์รัปชัน หมายถึงความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรมและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรชอบได้ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่น การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ การบอกว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน
ครับ! เมื่อผู้ใดมีตำแหน่งหน้าที่อำนาจและอิทธิพลขึ้นมาแล้วย่อมมีโอกาสที่จะทำการคอร์รัปชันได้ทุกคนไม่มีข้อยกเว้นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการก็ตาม
เพียงแต่ในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นมีระบบการตรวจสอบการคอร์รัปชันตามกฎหมายจึงมักจับคนกระทำความผิดด้วยการคอร์รัปชันได้เสมอแม้กระทั่งบุคคลระดับประมุขของประเทศก็ต้องเข้าคุกเป็นเรื่องปกติธรรมดา อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการพัฒนาทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดในทวีปเอเชียและมีอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึง 5 คนถูกจับกุมฟ้องร้องด้วยคดีอาญา ต้องติดคุกหรือฆ่าตัวตายจากจำนวนประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมารวม 7 คน และปัจจุบันนี้มีอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 4 คนแต่กลับต้องอยู่ในคุกยาว 15-24 ปี ถึง 2 คน แบบว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการนั้นแทบไม่มีการจับผู้กระทำผิดฐานคอร์รัปชันระดับสูงขนาดประมุขของประเทศไปติดคุกเลยเนื่องจากโดยทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถตรวจสอบการคอร์รัปชันผู้อยู่ในอำนาจได้เลยแม้ว่าประเทศเผด็จการเหล่านี้จะมีองค์กรการตรวจจับคอร์รัปชันอยู่มากมายก็ตาม
ดังนั้นการคอร์รัปชันสำหรับประเทศเผด็จการทั้งหลายจึงเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคนในประเทศโดยทั่วไปอันเป็นเรื่องปกติสามัญในชีวิตประจำวันนั่นเอง
คุก 3 ปี อดีตผู้นำฝรั่งเศส
ในปีนี้ (พ.ศ. 2564) ที่เพิ่งผ่านมาเพียงครึ่งปีก็มีประเทศประชาธิปไตยเช่นประเทศฝรั่งเศสและประเทศแอฟริกาใต้ได้จัดการฟ้องร้องอดีตประธานาธิบดีในข้อหาคอร์รัปชันในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของประเทศและมีผลแล้วทั้ง 2 คน
อดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส วัย 66 ปี ถูกศาลตัดสินเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 ว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชันโดยพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ให้รอลงอาญา
Kiran Ridley/Getty Images
นายซาร์โกซียังติดคดีอีกอย่างน้อย 4 คดี ที่เขากำลังโดนสอบสวน ศูนย์กลางของคดีนี้ คือ ข้อกล่าวหาว่าเขาเสนอจะช่วยเหลือผู้พิพากษาท่านหนึ่งให้ได้งานที่โมนาโกตามความประสงค์เมื่อปี 2557 แต่ต้องแลกด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องทุนในการหาเสียงของเขา
ซาร์โกซีมีกำหนดขึ้นศาลอีกในวันที่ 17 มี.ค. ในการไต่สวนข้อกล่าวหาว่าเขาใช้จ่ายเงินมากเกินโดยฉ้อฉลในการหาเสียงเพื่อกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยแต่ล้มเหลวเมื่อปี 2555 นอกจากนี้เขายังถูกตั้งข้อหาว่ารับเงินหลายล้านยูโรจากโมอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย เพื่อใช้ในการเลือกตั้งปี 2550
ก่อนหน้าซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสยุคสมัยใหม่เพียงคนเดียวที่โดนตัดสินว่ามีความผิดฐาน คอร์รัปชันคือนายฌากส์ ชี เมื่อปี 2554 ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีแต่รอลงอาญาในความผิดฐานสร้างตำแหน่งงานปลอมๆ ในที่ว่าการกรุงปารีส เพื่อหาทุนสนับสนุนพรรคการเมืองของเขาเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนายกเทศมนตรีปารีส
อดีตผู้นำแอฟริกาใต้กับคดีทุจริตจัดซื้ออาวุธ
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ที่ประเทศแอฟริกาใต้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศแอฟริกาใต้ พิพากษาลงโทษจำคุกอดีตประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา เป็นเวลา 15 เดือน ในความผิดจริงในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากการที่เขาขัดขืนคำสั่ง ไม่มารับฟังการไต่สวนคดีคอร์รัปชันสมัยยังเป็นผู้นำประเทศ
นายจาค็อบ ซูมา วัย 79 ปี ถูกฟ้องร้องหลายข้อหา รวมถึง สมคบคิดกับนักการเมืองใช้อิทธิพลครอบงำกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมา นายจาค็อบ ซูมาเข้ารับฟังการไต่สวนในศาลเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่ไปขึ้นศาลอีกเลย ทำให้ผู้พิพากษาต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง
Friedemann Vogel - Pool/Getty Images
เมื่อเดือน พ.ค. 2564 นายจาค็อบ ซูมาปฏิเสธไม่ยอมรับความผิดในการไต่สวนคดีคอร์รัปชันงบประมาณจัดซื้ออาวุธมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2552-2561 ก่อนที่เขาจะประกาศลาออกจากตำแหน่ง จากข้อกล่าวหาดังกล่าวก่อนหน้านี้
นายจาค็อบ ซูมา เคยปรากฏตัวเพื่อให้การต่อศาลเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ปฏิเสธที่จะปรากฏตัวมาโดยตลอด เช่นเดียวกับในการพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาเขาปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด และย้ำว่าตนเองเป็นเหยื่อของการสมรู้ร่วมคิดทางการเมือง
ศาลสูงสุดระบุว่า ซูมา พยายามที่จะปฏิเสธความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพฤติการณ์ยั่วยุที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งผู้พิพากษาย้ำว่าไม่มีใครที่จะอยู่เหนือกฎหมายได้ ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการตัดสินจำคุกอดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา