"หมอโอภาส" แถลง ต้องยกระดับมาตรการคุมโควิด ถ้าไม่ทำจะติดเชื้อและตาย อีก 3-4 เดือน

"หมอโอภาส" แถลง ต้องยกระดับมาตรการคุมโควิด ถ้าไม่ทำจะติดเชื้อและตาย อีก 3-4 เดือน

"หมอโอภาส" แถลง ต้องยกระดับมาตรการคุมโควิด ถ้าไม่ทำจะติดเชื้อและตาย อีก 3-4 เดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"นพ.โอภาส" แถลงการณ์สถานการณ์และมาตรการป้องกัน #โควิด19 หากยังไม่ทำมาตรการอะไรที่เพิ่มเติมกว่านี้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างมาก ไปอีก 3-4 เดือน

วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์และมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกพบการติดเชื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศ ขณะนี้พบแล้วมากกว่า 111 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

โดยไทยพบผู้ป่วยผู้เสียชีวิตขยายวงกว้างในระดับสูงมาก จนกระทบขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อ 10,082 ราย และเสียชีวิต 141 ราย ส่วนใหญ่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการติดเชื้อจากการระบาดระลอกนี้ แตกต่างจากก่อนหน้านี้มาก เพราะพบการระบาดแพร่เชื้อจากคนในครอบครัว ในคนที่รู้จัก เพื่อนบ้าน ติดไปถึงผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ จนทำให้อาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

จนถึงวันนี้ยังมีการลักลอบเล่นการพนัน รวมกลุ่มเพื่อน จัดปาร์ตี้ในบ้านและนอกบ้าน เป็นความเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคไม่ลดลง ต้องขอบคุณความร่วมมือของทุกภาคส่วนทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร และพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นส่วนใหญ่

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ถึงเวลาที่ทุกครอบครัว จำเป็นต้องปกป้องผู้ที่ทุกท่านรัก และตัวท่านเอง ด้วยตัวท่านเอง โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย งดออกจากบ้าน ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด หรือ Work From Home ลดความเสี่ยงจากการไปติดเชื้อนอกบ้าน ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อ

ทั้งนี้ เวลาอยู่บ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อพูดคุยกับสมาชิกในบ้าน ทานอาหารแยกกัน ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู ราวประตู โต๊ะอาหาร เป็นต้น

เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้องผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้านของเรา หากพบการติดเชื้อจะได้ป้องกันอาการที่รุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องพาผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังไปรับการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ กทม. และจังหวัดปริมณฑลได้เตรียมพื้นที่ และได้รับวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ในหลายจุด

ส่วน สถานการณ์โรคในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก ยังพบการระบาดในโรงงานและสถานประกอบการต่างๆ ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันกับคนงานในการลดความรุนแรงของสถานการณ์ ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีการแพร่เชื้อกระจายไปยังชุมชนรอบๆ

ทำให้ต้องมีมาตรการเคร่งครัด ที่เรียกว่า บับเบิ้ล แอนด์ซิล (Bubble & Seal) คือ การอยู่ในสถานประกอบการกับที่พักเท่านั้น และการเดินทางต้องไม่แวะจุดต่างๆ การอยู่ในสถานประกอบการต้องมีการกำกับอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ สถานการณ์โรคในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พบการเดินทางกลับจากกรุงเทพและปริมณฑลจำนวนมาก ทำให้รพ.ต้องรับผู้ป่วยที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องขอความร่วมมือทุกท่านงดเดินทางข้ามจังหวัด และเพิ่มการดูแลรักษาโดยเฉพาะคนไม่มีอาการ หรืออาการน้อยให้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน ขณะนี้มีความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะใน กทม.

"จากสถานการณ์ในขณะนี้ คาดการณ์ว่าหากไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม จะมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของโรค

นอกจากนี้ ทุกท่านต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และเร่งรัดความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้องขอแจ้งว่าความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกท่าน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีระดับสูงมาก กลับมาดีขึ้นได้ในเร็ววัน" นพ.โอภาส กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook