นายกฯ กำชับหน่วยฉีดวัคซีน เข้มมาตรการเว้นระยะห่าง
นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างประชาชนผู้รับบริการ เผยยอดฉีดวัคซีนในไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานภาพข่าวที่มีประชาชนจำนวนมากไปรอฉีดวัคซีน ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลบางแห่งและไม่มีการเว้นระยะห่าง และมีการชี้แจงของผู้ดูแลพื้นที่ในเวลาต่อมาว่าเกิดจากประชาชนมา ณ จุดบริการก่อนเวลานัดหมาย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกำชับให้หน่วยให้บริการแต่ละหน่วยเพิ่มความระมัดระวังเรื่องของการจัดคิวและให้ข้อมูลเวลารับวัคซีนแก่ประชาชนที่ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการจัดการในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด
ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 ก.ค. 2564 รวมอยู่ที่ 14.13 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) พบว่าเป็นปริมาณการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับ2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 57.48 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนแล้ว 14.07 ล้านโดส มาเลเซีย 13.62 ล้านโดส กัมพูชา 9.67 ล้านโดส เป็นลำดับที่ 3-5 ในอาเซียน ตามลำดับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เพียงพอ ทั้งในส่วนที่รัฐบาลจัดหากเพื่อฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและวัคซีนทางเลือก โดยให้จัดหาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 100 ล้านโดสในปี 2564 รวมถึงเป้าหมายปี 2565 ตามมติของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่ได้เห็นชอบให้ปรับกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็น 120 ล้านโดส
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากการจัดหาจากผู้ผลิตต่างประเทศแล้ว วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในประเทศจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยสถานบันวัคซีนแห่งชาติได้รายงานข้อมูลล่าสุดว่า การการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทยมีความคืบหน้าไปมาก บางชนิดเข้าสู่เฟสการทดลองในคนแล้ว โดยคาดว่าวัคซีนที่พัฒนาในประเทศจะสามารถนำมาใช้ในประเทศได้ในปี 2565
สำหรับวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศไทยขณะนี้มี 3 ชนิด คือ 1.วัคซีนชนิดชนิด mRNA CU-Cov19 พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบในคน 2.วัคซีนชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac ที่พัฒนาโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการทดสอบในคน และ 3.วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax1 เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากใบพืชตระกูลยาสูบ พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลองแล้วเตรียมการเข้าสู่การทดลองในคน