“งดเหล้าเข้าพรรษา” แค่การรณรงค์ประจำปี หรือ เป้าหมายที่จับต้องได้ของครอบครัวคนไทย
“ปกติก็กินเหล้าคลายเครียดกับแฟนหลังเลิกงาน แต่กินแล้วก็ชอบทะเลาะกัน จนบางครั้งคิดอยากเลิกกินเหมือนกัน แต่พอมีคนชวน มีคนเลี้ยง ก็เลิกไม่สำเร็จ...”
ถ้าเรื่องราวของนางสาวนพมาศ สุดาแก้ว มีแค่นี้ก็คงเหมือนบทละครที่เราดูเป็นประจำจนเดาตอนจบได้ แต่เพราะเรื่องนี้ไม่ธรรมดา เราจึงขอเล่าให้ฟังต่อ โดยชวนลูกชายของนาวสาวนพมาศมาร่วมคุยด้วย
“ผมเห็นพ่อแม่ดื่มเหล้าตั้งแต่จำความได้ ไม่ชอบ กลัวพ่อแม่ทะเลาะกัน ไม่อยากเห็นแม่เจ็บ...” เด็กชายไตรวุฒิ สุดใจ หรือ น้องไตรซ์ เด็กชายวัย 11 ปี พูดด้วยน้ำเสียงซื่อ ๆ แต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึก
“ไม่อยากเห็นพ่อแม่กินเหล้าโดยเฉพาะวันที่กินจนดึก เพราะจะชอบทะเลาะกัน”
“ความจริงเวลาทะเลาะกัน ก็ไม่อยากให้ลูกเห็น แต่เค้าเป็นคนขี้สงสัย ก็แอบมาฟัง” แม่ของน้องไตรซ์พูดเสริม
ต้องยอมรับว่า คงไม่ได้มีแค่น้องไตรซ์ที่ต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ เพราะจากสถิติที่เปิดเผยโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงภายในครอบครัวช่วงครึ่งปีที่แล้ว (2563) พบภรรยาถูกสามีทำร้ายสูงขึ้นกว่า 12% โดยมีเหล้า-ยาเสพติดเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่างพฤติกรรมรุนแรงต่อคู่ครองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายชายมักเป็นฝ่ายแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อฝ่ายหญิง ขณะที่ฝ่ายหญิงที่ถูกกระทำมักดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นกลไกบรรเทาผลกระทบ
แต่เด็กชายคนนี้ถือว่า ยังดีกว่าเด็ก ๆ ในหลายครอบครัว เพราะได้ค้นพบวิธีชวนพ่อแม่ให้งดเหล้าจนสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ
“จู่ ๆ วันหนึ่งลูกเดินเข้ามาบอกให้ลองเลิกเหล้าดูสักเดือน แล้วก็บวกลบคุณหารให้เราดูว่า ปกติเราใช้เงินกินเหล้าวันละ 80 บาท หนึ่งเดือน 30 วัน ถ้างดเหล้า แล้วเอาเงินมาหยอดกระปุกจะมีเงินเหลือเก็บเท่าไหร่ ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าใจ คิดว่า กินแค่วันละ 80 บาท ไม่เคยมองว่า รวมแล้วเป็นเงินก้อนใหญ่ขนาดไหน แรก ๆ ยอมรับว่า ไม่สนใจ แต่พอลูกมาบอกบ่อย ๆ และปกติก็ไม่เคยพูดอะไรแบบนี้ ก็เลยยอมทำตาม ใช้ช่วงเข้าพรรษาลองงดเหล้าดู
พองดเหล้าแล้ว ก็เลยเห็นความแตกต่าง จากที่เคยยืมเงินคนอื่นมาใช้จ่าย พอไม่กินเหล้าก็ดีขึ้น มีเงินเหลือ”
หลายคนคงสงสัยว่า อะไรทำให้เด็กอายุเพียงเท่านี้ คิดคำแนะนำที่ทำให้ชวนพ่อแม่งดเหล้าจนสำเร็จ
“คุณครูเป็นคนแนะนำครับ บอกว่า ให้ลองชวนพ่อแม่เอาเงินที่จะกินเหล้าไปหยอดกระปุกแทน ผมสนใจวิธีนี้ เพราะบางครั้งจะแอบไปเปิดดูกระเป๋าเงินของแม่ ก็จะรู้ว่า แม่ไม่มีเงิน...”
เล่าถึงตรงนี้ ก็จะพบว่า มีอีกคนที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งก็คือคุณครูวราพร คำปา หรือคุณครูอ้อ โรงเรียนบ้านลวงเหนือ
“ครูจะคอยสังเกตนักเรียน เด็กคนไหนไม่ร่าเริง ไม่แจ่มใส่ ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ยอมสบตา พูดน้อย ไม่ยอมส่งการบ้าน การเรียนตกลง ก็จะเริ่มสงสัย ครูก็จะไปเยี่ยมบ้าน แล้วมักพบว่า หลายบ้านพ่อแม่มีปัญหาเรื่องการดื่มเหล้า ครูก็จะกลับมาสอนเรื่องข้อเสียของเหล้าที่ส่งผลต่อสุขภาพ ต่อการเงินในครอบครัวให้เด็กฟัง เพื่อให้พวกเขาเอากลับไปสื่อสารกับครอบครัว แต่เด็กบางคนที่ไม่กล้าพูด เราก็จะแนะนำให้ลองเขียนจดหมายบอกความรู้สึกให้พ่อแม่รู้
แต่ถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษาก็จะมีการรณรงค์กันทั้งชุมชน ไม่ว่าจะโรงเรียน วัด ร้านค้าขายของที่เต็มใจงดขายเหล้า เป็นกิจกรรมที่ทำกันต่อเนื่องทุกปี ทำให้จูงใจคนเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น”
การเลิกเหล้าแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ เพียงลองหันไปดูลูก สัมผัสความห่วงใยที่ลูกมีต่อคุณให้ได้ เชื่อว่า คุณก็จะพบเป้าหมายที่จะช่วยผลักดันให้เลิกเหล้าจนสำเร็จอย่างแน่นอน
สำหรับใครที่สนใจอยากได้คำแนะนำดี ๆ หรือตัวช่วยในการเลิกเหล้าลองโทร. สายด่วนเลิกเหล้า 1413
[Advertorial]