ชาวเน็ตวอน สธ. เผยสูตรคำนวณ อ้างซิโนแวคได้ผล 90.5% ที่สมุทรสาคร แต่ติดเชื้อ 1 ใน 4

ชาวเน็ตวอน สธ. เผยสูตรคำนวณ อ้างซิโนแวคได้ผล 90.5% ที่สมุทรสาคร แต่ติดเชื้อ 1 ใน 4

ชาวเน็ตวอน สธ. เผยสูตรคำนวณ อ้างซิโนแวคได้ผล 90.5% ที่สมุทรสาคร แต่ติดเชื้อ 1 ใน 4
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยวิธีการคำนวณและอธิบายเพิ่มเติมเพื่อคลายข้อสงสัย เกี่ยวกับข้อมูลประสิทธิผลการใช้งานจริงของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของซิโนแวค ใน จ.สมุทรสาคร

การเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์รูปภาพลงโซเชียลมีเดีย ที่มีข้อความระบุว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลต่อการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แบบกลายพันธุ์ชนิดอัลฟา ถึง 90.5% แต่กลับระบุว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 คน มีผู้ที่รับวัคซีนครบแล้วแต่ยังติดเชื้อถึง 116 คน หรือราว 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากกระทรวงสาธารณสุข

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างสับสนและรู้สึกว่าตัวเลขดังกล่าวค้านกับการคำนวณเบื้องต้นด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ หลายความเห็นบอกว่า ขณะนี้ที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคน่าจะไม่ได้สูงอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผย

ขณะเดียวกัน หลายความเห็นก็ระบุว่าต่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว หรือข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง ก็คงไม่ทันต่อสถานการณ์แล้ว เพราะไวรัสแบบกลายพันธุ์ที่ระบาดในตอนนี้ไม่ใช่ชนิดอัลฟา แต่เป็นชนิดเดลตา ที่รุนแรงมากกว่าและติดต่อได้ง่ายกว่า

วิธีคำนวณประสิทธิผล

ปกติแล้วการคำนวณประสิทธิผลของวัคซีนจะต้องแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้วัคซีนจริง อีกกลุ่มให้วัคซีนหลอก แล้วจึงมาวัดว่าทั้ง 2 กลุ่มมีคนติดเชื้อมากแค่ไหน จากนั้นนำตัวเลขผู้ติดเชื้อไปหารจำนวนกลุ่มตัวอย่างของกลุ่มตัวเอง แล้วคูณด้วย 100 ก็จะได้เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงออกมา

ยังไม่จบเท่านั้น เพราะจะต้องนำเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก ลบออกด้วยเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของกลุ่มที่ได้วัคซีนจริง แล้วนำตัวเลขนี้ไปหารด้วยเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอกอีกที จึงจะได้ค่าประสิทธิผลของวัคซีนออกมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook