มองวิกฤตศรัทธาในยุคโควิด-19 ผ่านอินโฟกราฟิก ศบค.

มองวิกฤตศรัทธาในยุคโควิด-19 ผ่านอินโฟกราฟิก ศบค.

มองวิกฤตศรัทธาในยุคโควิด-19 ผ่านอินโฟกราฟิก ศบค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากรัฐบาลจะมีหน้าที่แก้ปัญหาอย่างรอบด้านแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการสถานการณ์ และต้องอาศัยทั้งความชัดเจนและความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน ทว่าหลายครั้ง การสื่อสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ก็ดูจะมีปัญหาไม่น้อย โดยเฉพาะสื่อยอดฮิตอย่าง “อินโฟกราฟิก” ที่กลายเป็นดราม่าที่โหมกระพืออารมณ์ของประชาชนให้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น

อินโฟกราฟิกเจ้าปัญหา

การสื่อสารข้อมูลด้วยภาพ หรือที่เรียกว่า “อินโฟกราฟิก” เป็นหนึ่งในสื่อที่มีบทบาทสำคัญในสถานการณ์โควิด-19 โดย ศบค. จะโพสต์อินโฟกราฟิกต่างๆ ผ่านเพจ “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” และเพจ “ไทยรู้สู้โควิด” ทว่าในระยะแรก หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อินโฟกราฟิกที่สื่อสารเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการเน้นตัวเลขจำนวนผู้ที่หายป่วย ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับมีความสำคัญรองลงมา นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (ThaiGa) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก ThaiGa โดยระบุว่า ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รายวันจาก ศบค. “เป็นงานออกแบบกราฟิกที่มีปัญหาในเชิงการสื่อสารข้อมูล ตั้งแต่ลำดับความสำคัญของการให้ข้อมูล ขนาดของตัวเลขและตัวอักษร ตัวเลขที่เป็น italic (ตัวเอียง) ชุดสีที่เลือกใช้ รวมไปถึงปริมาณข้อมูลในภาพหนึ่งภาพที่มากเกินความจำเป็น” ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนที่รับข้อมูลเกิดความสับสน เข้าใจสถานการณ์คลาดเคลื่อน และอาจส่งผลให้ประชาชนไม่ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนและอันตรายที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โรคระบาด

อินโฟกราฟิกแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของ ศบค. วันที่ 5 ก.ค. 2564อินโฟกราฟิกแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของ ศบค. วันที่ 5 ก.ค. 2564

“เมื่อก่อนมีการใช้ภาพว่าวันนี้หายป่วยกี่คน เป็นแถบสีฟ้าใหญ่เบ้อเริ่มเลย แล้วก็จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะเล็กลงไป เรารู้สึกว่า ตัวเลขหายป่วยกลับบ้านมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แล้วทำไมคุณมาใช้สีฟ้าอ่อนโยนตัวใหญ่มาก วันที่ 5 กรกฎาคม หายป่วยกลับบ้านตัวเป้งเลย หายป่วยสะสมตัวเล็กลงมา เป็นสีเขียวเหมือนกัน ติดเชื้อใหม่ตัวเล็กนิดเดียว แล้วก็เป็นตัวบาง ตัวเอียงด้วย เรารู้สึกว่ามันมีความแฟนซีเกินไป” คุณวีร์ วีรพร กราฟิกดีไซเนอร์ บริษัทคอนเชียส สตูดิโอ และอาจารย์พิเศษ กล่าวกับ Sanook ถึงปัญหาของอินโฟกราฟิกของ ศบค. ในระยะแรก ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนประเมินสถานการณ์ผิดเท่านั้น แต่ยังยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐลดต่ำลงยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ThaiGa ได้เสนอแนวทางในการจัดทำอินโฟกราฟิกใหม่ โดยตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออก และจัดลำดับความสำคัญของตัวเลขข้อมูลใหม่ โดยกำหนดขนาดของตัวเลขและพื้นที่ที่ใส่ตัวเลขให้ลดหลั่นกันไปตามความสำคัญ รวมทั้งรวบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นคนทั่วไปและในเรือนจำเข้าเป็นกลุ่มเดียว ใช้ขนาดตัวเลขและพื้นหลังที่ใหญ่ที่สุด ถัดมาก็คือ จำนวนผู้ป่วยสะสม และสุดท้ายคือ จำนวนผู้ป่วยที่หายกลับบ้าน และจำนวนผู้ป่วยที่หายแล้วทั้งหมด พร้อมทั้งเปลี่ยนสีพื้นหลังแต่ละช่องเป็นสีโทนร้อนทั้งหมด เพื่อดึงสายตาและกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวกับสถานการณ์ แบบตัวอักษรเปลี่ยนเป็นตัวปกติ เพื่อแสดงถึงความชัดเจน แทนตัวเอียงที่ให้ความรู้สึกไม่หนักแน่น ส่วนข้อมูลประกอบอื่นๆ มีการสลับตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม

ตัวอย่างรูปแบบอินโฟกราฟิกที่ ThaiGa เสนอThaiGaตัวอย่างรูปแบบอินโฟกราฟิกที่ ThaiGa เสนอ

ปัญหาที่ไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ศบค. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบอินโฟกราฟิก โดยหันมาให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนสีพื้นหลังเป็นสีแดง สีดำ และสีเขียว ทว่าสิ่งที่ยังคงใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง คือตัวอักษรเอียง ที่ให้ความรู้สึกไม่หนักแน่น รวมทั้งการแยกจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ระหว่างผู้ติดเชื้อจากในเรือนจำและคนภายนอก ซึ่งคุณวีร์แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำ จนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อ และเพื่อความยุติธรรม ก็ไม่ควรแยกตัวเลขผู้ติดเชื้อออกเป็นสองกลุ่มเช่นนี้

“ผมสงสัยว่า การแยกตัวเลขผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังทำให้สังคมกล่าวโทษผู้ต้องขังหรือเปล่า อย่าลืมว่าที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนต้องแยกตัวเลขจากเรือนจำ เพราะก่อนหน้านั้นทางราชทัณฑ์ปกปิดความจริงเกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยในเรือนจำ จนมีอดีตผู้ต้องขังออกมาเรียกร้องจึงยอมเปิดเผย ซึ่งปัญหาอยู่ที่ความไม่โปร่งใสของภาครัฐ ถ้ายังจะยืนยันแยกตัวเลขจากเรือนจำต่อไป ผมก็ขอให้เปิดตัวเลขของผู้ติดเชื้อในค่ายทหารด้วย เพราะตอนนี้มีภาพหลุดของผู้ติดเชื้อในค่ายทหารออกมาให้เห็นแล้ว เช่นกัน นี่ไม่ใช่ความผิดของทหารที่ติดเชื้อ แต่เป็นความรับผิดชอบของกองทัพที่ต้องดูแลพลทหารเหล่านั้น และโปร่งใสกับประชาชน แต่สุดท้าย แยกตัวเลขไปยังไงก็อาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว ณ วันนี้ เพราะว่ายังไงเราก็ต้องสู้กับปัญหานี้ร่วมกัน แล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้สวัสดิการการดูแลรักษาทุกคนอยู่ดี

นอกจากนี้ คุณวีร์ยังมองว่า อินโฟกราฟิกของ ศบค. ยังมีสิ่งที่ขาดหายไป นั่นคือจำนวนการตรวจ ซึ่งจะทำให้รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นสัดส่วนเท่าไหร่จากที่ได้ตรวจ ซึ่งจะทำให้เห็นระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“บนโซเชียลก็มีการแชร์กราฟที่ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เทียบกับประชากรล้านคน ซึ่งถ้าเราเอากราฟอันนั้นมาดูจะเห็นว่าน่ากลัวมาก เพราะสัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรของเราสูง ถ้าเรามองกลับกัน ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน แล้วมีคนติดเชื้อสะสม 4 แสน ส่วนอินเดียมีประชากรพันกว่าล้าน แต่ว่ามีคนติดเชื้อสะสม 30 ล้าน เราก็จะรู้สึกว่าสถานการณ์เขาไม่ได้น่ากลัวกว่าเรา แต่สถานการณ์ของเราน่ากลัวเท่าๆ เขาแล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถามว่ามันออกแบบได้เหมาะสมหรือเปล่า ผมว่ามันต้องตั้งต้นจากว่าเราเลือกอย่างไรว่าจะนำเสนอข้อมูลชุดไหน” คุณวีร์กล่าว

จำนวนอินโฟกราฟิกที่มีการโพสต์ผ่านเพจไทยรู้สู้โควิดใน 1 วันจำนวนอินโฟกราฟิกที่มีการโพสต์ผ่านเพจไทยรู้สู้โควิดใน 1 วัน

และอีกหนึ่งปัญหาด้านการสื่อสารด้วยภาพในมุมของคุณวีร์ คือปริมาณข้อมูลแต่ละวันที่มีมากเกินไปจนล้นและหลายอย่างซ้ำซ้อน ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน รวมทั้งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการสื่อสารอีกด้วย ดังนั้น คุณวีร์จึงเสนอว่า ก่อนที่จะออกแบบอินโฟกราฟิกต่างๆ ผู้จัดทำควรกลับไปตั้งคำถามว่า ข้อมูลที่ประชาชนอยากรู้มากที่สุดคืออะไร และผลิตภาพเหล่านี้ให้สามารถให้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในปริมาณที่น้อยที่สุดต่อวัน

“ทุกวันนี้เราอยู่ในภาวะข้อมูลท่วมท้นกันมากอยู่แล้ว จริงๆ ตอนที่ผมสังเกตได้ว่ามันเกิดสภาวะนี้ก็ตั้งแต่ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เหมือนกับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนเจอภัยพิบัติในวันที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว แล้วมันก็เกิดการทำอินโฟกราฟิกกันมากมาย แชร์อะไรกันวุ่นวาย จนเรารู้สึกว่าข้อมูลมันท่วมมากเลยนะ เราห้ามประชาชนไม่ได้ในการแชร์และการผลิตสิ่งต่างๆ แต่ถ้าคุณเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำไมคุณไม่นึกถึงประสิทธิภาพล่ะ ประสิทธิภาพคือการทำอะไรออกมาในปริมาณเท่าไร ใช้แรงเท่าไร แล้วได้ผลกลับไปเท่าไร คือถ้าเราใช้แรงน้อยแต่ได้ผลมาก คือสื่อสารไม่ต้องมากครั้ง แต่ตรงไปตรงมา กระชับ และเข้าใจง่าย มันน่าจะดีกว่าในภาวะที่ประชาชนตื่นตระหนก” คุณวีร์กล่าว

ตัวอย่างรูปแบบอินโฟกราฟิกของ ThaiGa ที่รวมข้อมูลสำคัญไว้ในภาพเดียวThaiGaตัวอย่างรูปแบบอินโฟกราฟิกของ ThaiGa ที่รวมข้อมูลสำคัญไว้ในภาพเดียว

สื่อสารด้วยภาพอย่างไรในภาวะวิกฤต

เมื่อถามว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐควรจะสื่อสารด้วยภาพอย่างไร คุณวีร์ตอบว่า การสื่อสารด้วยภาพที่ดีในภาวะวิกฤตจะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีลูกเล่นมากจนเกินไป มีความน่าเชื่อถือ กระชับ ไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ มารบกวนประเด็นที่จะสื่อสาร และภาพต้องทำหน้าที่ส่งเสริมในสิ่งที่ข้อความทำไม่ได้

“ถ้าเป็นข้อมูลการดูแลตัวเอง หรือขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผมคิดว่ามันก็ควรจะเป็นกลางและมีอำนาจสั่งการอยู่ประมาณหนึ่ง ความมีอำนาจสั่งการอาจจะไม่ต้องไปอยู่ในกราฟิกก็ได้ แต่มันสามารถไปจัดการด้วยการเลือกใช้ข้อความและถ้อยคำที่ดี แล้วก็เซ็ตตัวอักษร จัดลำดับความสำคัญของเลย์เอาต์ให้ดี บางทีมันเป็นเรื่องนิดเดียว แต่มันกระทบความรู้สึกคนมากเลย สุดท้ายภาพมันต้องทำงานไปพร้อมกับถ้อยคำนะ และภาพมันควรจะส่งเสริมอะไรบางอย่างที่ข้อความทำไม่ได้ เช่น ภาพสามารถทำให้เราเห็นขั้นตอนต่างๆ ได้ชัดเจน ประกอบไปกับวิธีทำ หรือภาพสามารถทำให้เราใส่อารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าตัวอักษรอย่างเดียว ก็ลองพิจารณากันดูว่า ณ เวลานี้สังคมต้องการอะไร”

นอกจากนี้ คุณวีร์ยังมองว่า รัฐควรจะเป็นต้นแบบของความนิ่ง ความเชื่อถือได้ และความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อลดความสับสนในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการสื่อสารด้วยน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น

“ลองเปรียบเทียบว่าองค์กรนี้เป็นคนก็ได้ครับ ถ้าเขาเป็นคนที่ต้องออกมาพูดเรื่องเดิมๆ ด้วยน้ำเสียงเดียวกันทุกวัน น้ำเสียงที่เขาให้ความมั่นใจกับประชาชนได้ แล้วก็คิดมาเยอะๆ ก่อนพูด ไม่ใช่ว่าพูดอะไรมาก็มีจุดรั่ว มีจุดน่าสงสัย มีจุดที่เราคลางแคลงใจได้ตลอด เราก็จะเชื่อเขามากขึ้น แต่ว่าที่ผ่านมาเขามีอำนาจล้นมือมากเลย แต่ทำไมเขาไม่สามารถจัดการสื่อสารของเขาให้ดีได้ อันนี้คือไม่ใช่แค่เรื่องกราฟิก แต่เป็นเรื่องการแถลงของเขาที่เราฟังแล้วเลิกคิ้ว ฟังแล้วเราเหวอ สื่อก็ชอบจับมาเป็นดราม่า โดยการทำเป็นภาพและตัวอักษร คนก็แชร์แล้วก็ด่า เรารู้สึกว่า ถ้าจัดระเบียบการสื่อสารมาให้ดี อย่างน้อยมันก็ลดกระแสอารมณ์ของประชาชนได้ แล้วเราก็มาคุยกันด้วยข้อเท็จจริง คุยกันด้วยความโปร่งใส แล้วให้สังคมมันขับเคลื่อนไปด้วยข้อเท็จจริง ผมว่าสังคมจะสงบกว่านี้ อาการตื่นตระหนกจะน้อยกว่านี้แน่นอน” คุณวีร์ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook