ภูมิใจ! คณบดีฯ ดนตรีเอแบค โพสต์เล่าอีกมุมของ "มิลลิ" ในฐานะนักศึกษา

ภูมิใจ! คณบดีฯ ดนตรีเอแบค โพสต์เล่าอีกมุมของ "มิลลิ" ในฐานะนักศึกษา

ภูมิใจ! คณบดีฯ ดนตรีเอแบค โพสต์เล่าอีกมุมของ "มิลลิ" ในฐานะนักศึกษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้(22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ปัณณวิช สนิทนราทร คณบดีคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) เขียนจดหมายผ่านเพจเฟซบุ๊ก ABAC School of Music บอกเล่าเรื่องราวของ มิลลิ ดุภา ศิลปินแร็ปเปอร์ชื่อดัง ในฐานะของการเป็นนักศึกษา โดยข้อความทั้งหมดระบุว่า

อีกมุมของ MILLI ในฐานะนักศึกษา #คณะดนตรีเอแบค ที่ไม่มีใครรู้ และอยากให้คุณได้รู้จัก 

จากสถานการณ์ปัจจุบันและยอดแฮชแท็ก #saveมิลลิ ที่พุ่งขึ้นมาหลายล้าน หลายคนอาจจะมีโอกาสได้ติดตามและเห็นน้องจากผลงานตามสื่อต่างๆ วันนี้เลยอยากจะขอพูดถึงน้องมิลลิในมุมของเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในคณะดนตรีและสิ่งที่น้องได้มอบและสร้างไว้ให้กับบ้านหลังนี้

วันหนึ่งของช่วงปลายปี 62 มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ พาคุณพ่อคุณแม่มาเยี่ยมชมที่คณะ ตอนนั้นผมเองมีโอกาสพูดแนะนำเรื่องการเรียนที่นี่และพาทั้งสามคนทัวร์รอบๆ คณะและมหาวิทยาลัย ทั้งสามคนน่ารักและอัธยาศัยดีมากๆ ยังได้ชมกับอาจารย์อีกท่านนึงว่าเด็กคนนี้น่ารักนะ ครอบครัวเลี้ยงมาดีมากๆ ฉลาดคิด กล้าถาม และนอบน้อมมาก อยากให้น้องมาเรียนที่นี่เหมือนกัน ผ่านไปหลายเดือน จนช่วงต้นปี 63 เด็กคนนี้โด่งดังเป็นพลุแตกจากการปล่อยเพลงแรกของตัวเองเพลง พักก่อน” ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการสมัครเข้าเรียนปีการศึกษาหน้า และน้องก็สมัครเข้ามาเรียนที่คณะดนตรีเอแบคด้วย

จนถึงวันสอบสัมภาษณ์ น้องเป็นคิวที่สิบได้ หลังจากที่พูดคุยทักทายถามไถ่กันไปแล้ว เลยถามน้องไปว่า “เตรียมเพลงอะไรมาร้องให้ฟังหรือเปล่า” ในใจก็คิดว่าน้องจะมาแร็ปเพลงอะไรให้ฟังหว่า แต่คุณไม่มีทางเชื่อแน่ว่าเพลงที่น้องจะร้องให้ฟังคือเพลงอะไร ..... เฉลยเลยละกัน เพลง “กระแซะเข้ามาซิ” ของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ครับ 555 (ดูคลิปช่องคอมเมนต์ได้) ไม่ใช่ร้องธรรมดานะ จัดสเต็ปแด็นซ์เต็มขั้นด้วย

ตอนก่อนจะเปิดเทอมได้มีโอกาสคุยกับน้องแบบเปิดอก คุยกันตรงๆ ว่าตอนนี้น้องเป็นศิลปินเต็มตัวแล้ว และเชื่อว่าน้องจะต้องแบ่งเวลาเรียนและการทำงานอย่างหนักแน่ๆ เลยถามน้องว่าจะแบ่งเวลาเรียนไหวไหม เพราะก็ต้องบอกก่อนว่าที่เอแบคเอง ทุกคนคงเคยได้ยินคอนเซ็ปต์คือเข้าง่ายออกยาก เพราะแต่ละวิชามีการเช็คชื่อการเข้าคลาส มีการบ้านเก็บคะแนน มีสอบกลางภาคและปลายภาค เด็กที่มาเรียนต้องมีความรับผิดชอบและวินัยสูง ถึงจะจบเอาใบปริญญาออกไปได้ น้องบอกว่า “ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ หนูตั้งใจจะมาเรียนจริงๆ และหนูอยากเรียนจริงๆ หนูยกให้เรื่องการเรียนเป็น Priority หลัก หนูได้คุยกับค่ายแล้วว่า หนูขอไม่รับงานวันจันทร์ถึงศุกร์ 9 โมงเช้า ถึง 4 โมงครึ่ง (ซึ่งนั่นคือช่วงเวลาเรียนของเอแบค) และไม่รับงานดึก เพราะเดี๋ยวจะตื่นมาเรียนไม่ไหว” ฟังแล้วก็ใจชื้นนะ เพราะมันทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเด็กคนนึงที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก

แน่นอน เอแบคเปิดเทอมตอนเดือนมิถุนายน 63 ซึ่งยังเป็นช่วงโควิดระบาดเวฟแรก ทำให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดสอนแบบเต็มรูปแบบที่แคมปัสได้ จึงต้องเรียนแบบออนไลน์เป็นหลัก เอาจริงๆ สงสารเด็กๆ มาก เด็กๆ ควรที่จะได้เริ่มชีวิตการเป็นนักศึกษาด้วยการเรียนรู้การใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ จับกลุ่มเล่นดนตรี ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ดันต้องมานั่งเรียนหน้าคอม ปรับตัวกันไปทั้งครูทั้งเด็ก

ช่วงใกล้จะจบเทอม เป็นช่วงที่มิลลิกำลังจะปล่อยเพลงที่สองพอดี ทางทีมผู้กำกับคุยกันว่าจะถ่ายที่ไหนดี และสรุปมาว่าอยากถ่ายโลเคชั่นเป็นแบบโรงยิม โดยมีการเลือก Reference เป็นโรงยิมแห่งหนึ่ง จนทางทีมพบว่ามันเป็นโรงยิมที่เอแบคเอง แต่ทางทีมตอนแรกก็จะตัดใจแล้วเพราะว่าเข้าใจว่าคงจะขอถ่ายทำยาก แต่ด้วยความที่น้องเองก็เป็นนักศึกษาที่นี่พอดี น้องเลยอัดวิดีโอคลิปส่งมาหาว่าอยากถ่ายเอ็มวีที่นี่จังเลยด้วยความทะเล้นตามประสาเจ้ามิลลิ (ดูคลิปได้) ผมเลยลองเรียนแจ้งไปทางผู้บริหารเอแบคว่า มีนักศึกษาอยากถ่ายทำเอ็มวีภายในมหาวิทยาลัย จะพอขออนุญาตได้ไหม ซึ่งทางผู้ใหญ่ท่านก็ตอบมาภายในวันนั้นเลยว่าไม่มีปัญหา ถ้ามันจะส่งเสริมอนาคตของนักศึกษา แถมอำนวยความสะดวกเรื่องเจ้าหน้าที่ และห้องหับต่างๆให้เรียบร้อย ซึ่งต้องบอกว่าตอนนั้น ท่านอธิการเองตอนอนุญาตก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเด็กที่ขอเป็นใคร และนั่นก็เป็นสถานที่ที่ใช้ถ่ายเอ็มวีเพลงที่สองของมิลลิ เพลงสุดปัง

ในที่สุด เทอม 2 ก็มาถึง เด็กๆ ทุกคนตื่นเต้นกันเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นการได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกของเหล่าเด็กปี 1 รวมถึงรุ่นพี่ด้วยเพราะห่างร้างไปนาน เด็กๆ กรูมาถามผมเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอกิจกรรมเยอะๆ นะครับ/คะ อาจารย์ พวกผม/หนูอยากเล่นดนตรีมาก” ผมเลยเตรียมแพ็คเก็จให้เด็กๆ แบบจัดเต็มจนต้องร้องขอชีวิต โดยการบอกว่า งั้นผมจะลองติดต่อไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่เค้าอยากให้พวกเราไปเล่นดนตรีมอบความสุขให้กับเด็กนักเรียนที่โรงเรียนเขา ซึ่งตลอดเดือนพฤศจิกายน มีหลายโรงเรียนที่ทั้งติดต่อมาและอนุญาตให้พวกเราได้ไปเล่นกัน เด็กๆจึงได้เริ่มรวมกลุ่มและซ้อมดนตรีกันเพื่อออกตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ

ที่คณะดนตรีของเรายึดมั่นเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม และการให้เกียรติกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ คณะเราจะต้องไม่มีการบูลลี่กัน หรือต่อให้ผมที่เป็นครูทำผิด ผมก็พร้อมที่จะยกมือไหว้และขอโทษนักศึกษา ก่อนงานแรกจะเกิดขึ้น ผมเองคุยกับมิลลิเพื่อทำความเข้าใจกันก่อนว่า ตอนนี้หนูเองเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว ผมเข้าใจดีว่าไม่ว่าหนูจะไปแสดงที่ไหน หนูจะได้รับการดูแลแบบพิเศษเสมอ แต่ ณ วันนี้ หนูไปในฐานะนักศึกษาคณะดนตรีเอแบค ทุกคนเท่าเทียมกัน กินข้าวด้วยกัน ข้าวหน้าตาเหมือนกัน ถ่ายรูปด้วยกัน ซึ่งผมเองเข้าใจในความหวังดีของสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการรับรองน้องในฐานะศิลปิน แต่ผมจะบอกทุกครั้งเวลาเจ้าภาพจะหาห้องรับรองหรือจัดเลี้ยงข้าวในห้องพิเศษว่า ถ้าคุณเตรียมข้าวกล่องไว้ให้พวกเรา งั้นน้องจะกินข้าวกล่องด้วย แต่ถ้าคุณอยากจะเลี้ยงรับรองมิลลิ งั้นคุณช่วยเลี้ยงแบบเดียวกันกับมิลลิอีกสิบยี่สิบชีวิตที่มาด้วย ซึ่งตัวมิลลิเองบอกผมเลยทันทีว่า “หนูเข้าใจเลยค่ะ ต่อให้อาจารย์ยอม หนูก็ไม่เอาค่ะ เพราะวันนี้ ที่นี่ หนูคือ ดนุภา แค่เด็กนักศึกษาคนนึง” ผมดีใจ เพราะนี่คือเด็กที่รักความถูกต้องและความถ่อมตัวในเวลาเดียวกัน

มิลลิเป็นเด็กที่ร่าเริงมาก อันที่จริงคำว่าร่าเริงน่าจะไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่ ต้องเรียกว่าร่าเริงมว้ากกกกก น้องจะเป็นคนเรียกเสียงฮาให้เพื่อนๆ ได้เสมอ เป็นหัวโจกในเรื่องต่างๆ มักเป็นผู้นำบูมก่อนขึ้นเล่นดนตรี (ชมคลิป) น้องแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าอยากทำทุกกิจกรรมของคณะและเอแบคเท่าที่จะสามารถทำได้ ผมจะอธิบายคำว่าเท่าที่จะทำได้ของน้องให้ฟังสักเคสนึง มีครั้งนึงผมชวนน้องมาทำกิจกรรมเป็นตัวแทนของคณะและเอแบค น้องตอบตกลงทันที จากนั้นเราก็เริ่มลงมือทำงานกันจนเสร็จ พอใกล้ถึงวันที่ต้องไปนำเสนอ ผมลืมอย่างนึงคือยังไม่ได้เช็คคิวงานของน้องให้ละเอียด ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูงานเทศกาลดนตรีซะด้วย ผมเลยรีบไปเช็คกับน้องและผู้จัดการของน้อง คำตอบของผู้จัดการทำให้ผมทั้งโล่งใจและช็อคในเวลาเดียวกัน ที่โล่งใจคือทั้งสองวันที่ต้องไปทำกิจกรรมด้วยกันนั้นน้องว่าง แต่หนึ่งวันก่อนหน้าของกิจกรรมวันแรกที่เราต้องไปเข้าร่วม น้องมีงานที่เชียงใหม่ และในวันกิจกรรม น้องมีงานแสดงที่เชียงรายช่วงเย็น ในขณะที่กิจกรรมวันที่สองก็เป็นรูปแบบเดียวกันเป๊ะ แต่สิ่งที่น้องตัดสินใจทันทีคือ แทนที่จะอยู่เชียงใหม่ยาวแล้วไปเชียงราย น้องรีบบินกลับมาวันนั้น และวันรุ่งขึ้นหลังจากทำกิจกรรมเสร็จ น้องขอให้รถตู้มหาวิทยาลัยพาไปส่งที่สนามบินดอนเมือง เพื่อรีบบินไปเล่นคอนเสิร์ตช่วงเย็นวันนั้น และทำแบบเดียวกันในกิจกรรมครั้งที่สอง ตอนนั้นดูสภาพคือรู้เลยว่าเหนื่อยมาก แต่น้องคือไม่มีบ่นแม้แต่คำเดียว มีแต่สีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา

สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจในตัวน้องที่สุดคือ น้องเป็นคนกล้าวิพากษ์และพูดเล่าบอกกล่าวออกมาตรงๆ น้องมักจะบอกผมว่าหลังจากได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนๆ แล้ว อยากให้ทางคณะได้มีกิจกรรมแบบนี้ หรือปรับเปลี่ยนอะไรแบบนั้น ซึ่งผมชอบนะ เพราะบางสิ่งที่เราคิดว่ามันดีกับเด็ก ถ้าเราไม่ได้รับฟีดแบ็คโดยตรงจากเด็กเลย เราก็ไม่มีทางรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีจริงๆ และพอผมได้ฟังสิ่งที่เด็กๆ บอกเล่าแล้ว ผมก็จะนำไปปรึกษากับทีมอาจารย์ และหาทางปรับแก้ในทันที หรืออะไรที่เราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนี้จริงๆ เราก็จะคุยกับเด็กๆ อธิบายว่าเหตุผลที่เราให้ทำเป็นเพราะแบบนี้ ซึ่งพอเด็กๆ ฟังแล้ว ก็จะได้เข้าใจในถึงเหตุผลของเรา แต่ถ้าเห็นต่าง ก็ว่ากันไปตามเหตุและผล พอเป็นแบบนี้ คณะของเรา บ้านของเรา มันจะได้น่าอยู่มากขึ้น น้องเคยบอกไว้ว่า ที่หนูพูด ไม่ใช่เพราะหนูแค่คนที่ไม่พอใจอะไรไปเรื่อย แต่เพราะที่นี่คือที่ที่หนูรัก และอยากให้มันเป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

เขียนมาตั้งยืดยาว เข้าเรื่องและขมวดจบดื้อๆ เลยละกัน ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่คนภายนอกมองน้องเป็นยังไง แต่หลังจากที่ผมได้รู้จักน้องมา 1 ปีเต็ม ผมเห็นเด็กผู้หญิงคนนึง เด็กร่าเริงสดใส ที่มอบความสุขให้กับคนรอบข้าง ต้องบอกตรงๆ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมใช้คำว่า “มิลลิ” บ่อยที่สุด เพราะในชีวิตจริงผมไม่เคยเรียกเด็กคนนี้ว่ามิลลิเลย ผมเรียกชื่อเล่นจริงๆ ของเธอ “น้องมินนี่” เพราะในสายตาของผม น้องมินนี่เป็นเด็กที่มีความเป็นมนุษย์สูงมาก น้องเอาใจผูกและให้ใจกับทุกสิ่งที่ทำ มีแพชชั่นเต็มเปี่ยมที่อยากจะเปลี่ยนแปลงให้ทุกอย่างมันดีขึ้น ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงอะไร การจะออกมาพูดอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันต้องใช้ความกล้าหาญมากนะ การที่น้องเดินไปบอกใครว่า “หนูว่าอันนี้ไม่เวิร์ค แบบนี้จะดีกว่าไหมคะ” แสดงว่าน้องเองก็ต้องใช้ความกล้า เสี่ยงว่าพูดไปอาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจก็ได้ แต่ถ้าไม่พูด ไม่ทำอะไร มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญการอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แสดงว่าเราต้องมีความรักกับมัน

ถ้าน้องต้องการให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ผมเชื่อว่านั่นเพราะน้องรักประเทศนี้ และอยากให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับประเทศเรา เราเองเป็นผู้ใหญ่ มันไม่ได้ยากเกินไปเลยในยุคนี้ที่จะหยุดฟังเด็ก

ถ้าเด็กมันพูดไม่เพราะ ก็บอกไปว่ามาพูดกันเพราะๆ มาพูดกันดีๆ แล้วมาหาทางออกร่วมกัน แต่อย่างน้อยที่สุด ผมเองก็ภูมิใจแทนน้องมากๆ ที่เห็นคนรักน้องและออกมาสนับสนุนให้กำลังใจน้องมากมายขนาดนี้ ผมเองก็อยากส่งกำลังใจให้ด้วยการเล่าเรื่องในอีกมุมนึงของน้องในฐานะ “เด็กนักศึกษาคนหนึ่ง” ที่คงไม่มีใครรู้ และอยากให้น้องรู้ไว้เสมอว่า บ้านหลังนี้เป็นกำลังใจให้น้องเสมอ และรอวันที่มหาวิทยาลัยจะได้กลับมาเปิดสอนที่แคมปัสอีกครั้ง แล้วเราจะได้จัดหนักลุยไปด้วยกันอีกคำรบ"

ผศ.ดร.ปัณณวิช สนิทนราทร คณบดีคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook