หมอหน้าด่านมาเลเซีย 20,000 คน จ่อหยุดงานประท้วง จี้รัฐเพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ
กลุ่มการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์สัญญาจ้าง (เอชดีเค) ในมาเลเซีย เผยว่า แพทย์ผู้น้อยราว 20,000 คน ที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานที่หน้าด่านในการรักษาโรคโควิด-19 เตรียมหยุดงานประท้วงรัฐบาลในวันจันทร์ (26 ก.ค.) เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทน สวัสดิการอื่นๆ และการบรรจุเป็นพนักงานของรัฐแบบถาวร
แพทย์ผู้น้อยกลุ่มนี้เคยจัดการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อรัฐบาลมาเลเซียแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำมาแล้ว หลังจากมีแพทย์จบใหม่หลายสิบคนตัดสินใจลาออก เพราะต้องรับมือกับคนไข้โควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และต้องทำงานเพิ่มอีกหลายชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้ไปรับงานที่ศูนย์ฉีดวัคซีนของเอกชนด้วย
เอชดีเค ระบุในโซเชียลมีเดียว่า ระบบสาธารณสุขของมาเลเซียกำลังส่งสัญญาณว่าใกล้ล่มสลายเต็มที เพราะแทบไม่เหลือเตียงในโรงพยาบาลแล้ว แถมแพทย์ก็ยังทยอยลาออกกันด้วย
ที่ผ่านมา มาเลเซียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังรักษาไม่หายกว่า 140,000 คน และมีผู้ป่วยในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) เกือบ 1,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 10,000 คน และเสียชีวิตกว่า 100 คนทุกวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปัญหาการว่าจ้างแพทย์เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 ที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบให้แพทย์จบใหม่จะถูกว่าจ้างในรูปแบบสัญญาจ้างเท่านั้น ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นพนักงานของรัฐตามเดิม และจะต้องเข้าทำงานในระบบสาธารณสุขของรัฐเป็นเวลา 4 ปีครึ่งเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์ไปทำงานให้กับเอกชน ซึ่งการทำงานในรูปแบบพนักงานสัญญาจ้างนี้แน่นอนว่าได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่ำกว่าการเป็นพนักงานประจำของรัฐอยู่แล้ว
ไม่ใช่แค่นั้น แพทย์จบใหม่จะไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางยากขึ้นด้วย เพราะรัฐบาลออกเงินค่าลางานไปศึกษาต่อเฉพาะแพทย์ที่เป็นพนักงานประจำของรัฐเท่านั้น