เพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” กับกลยุทธ์ “โหนกระแส” เพื่อเล่าประวัติศาสตร์
เมื่อกล่าวถึง “ประวัติศาสตร์” สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวในอดีตที่แสนจะน่าเบื่อ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การเมืองกลายเป็นหัวข้อที่คนรุ่นใหม่กระตือรือร้นอยากเรียนรู้ ควบคู่ไปกับกระแสการเมืองที่ทวีความร้อนแรง ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเริ่มให้ความสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากขึ้น แต่การหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ก็มีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน นั่นทำให้การสื่อสารและให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต้องพยายามหา “จุดขาย” ที่จะโดนใจคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กแฟนเพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” ที่ใช้กลยุทธ์หยิบยกสถานการณ์ “ดราม่า” ประจำวัน มาเชื่อมโยงกับประวัติและชีวิตของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ไม่เพียงจะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คนบนโลกโซเชียล แต่ยังทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักบุคคลสำคัญในอดีตคนนี้มากขึ้นอีกด้วย
เมื่อประวัติศาสตร์ขอโหนกระแส
เฟซบุ๊กแฟนเพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และกิจกรรมต่าง ๆ ในวาระ 120 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และระดมทุนสำหรับการบูรณะอนุสรณ์สถาน โดยจุดเด่นของแฟนเพจก็คือ โพสต์ที่ “ตามกระแส” จนเรียกยอดไลก์ยอดแชร์ได้อย่างท่วมท้น อย่างโพสต์ล่าสุดที่ขอโหนกระแส “ไม่ใช่เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่เอกสารทางการ” ขยี้เหตุการณ์ที่กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเจ็บแสบ
“ผมเห็นว่าภาพลักษณ์ของอาจารย์ปรีดีมันดูเป็นเรื่องเก่ามากเลย เวลาพูดถึงอาจารย์ปรีดี คนมักนึกถึงการเป็นนักการเมือง หรือเรื่องลึกลับน่ากลัว หรือเรื่องน่าเบื่อ ๆ เคร่งขรึม ผมก็เลยทำให้เรื่องของอาจารย์ปรีดีกลับมาเชื่อมโยงกับปัจุบันให้ได้มากที่สุด แล้วก็เห็นว่ามันมีเรื่องที่เกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีที่สามารถโหนกระแสต่าง ๆ ได้ ซึ่งการนำวิธีโหนกระแสมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ มันก็ดีในแง่ที่ทำให้ได้รับความสนใจจากคนที่เล่นเฟซบุ๊ก หรือจากคนที่อยู่ในโลกออนไลน์อยู่พอสมควร แล้วก็ไม่ได้เสียสารที่เราอยากจะสื่อ” คุณกษิดิศ อนันทนาธร แอดมินเพจ “120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์” เริ่มต้นเล่า
“ด้วยความที่ผมสนใจเรื่องอาจารย์ปรีดีมานาน ทำให้ผมรู้จักอาจารย์มาพอสมควร คือปกติถ้าเราเห็นอาจารย์ปรีดีแบบเป็นข้อเขียน ก็จะเป็นข้อเขียนที่เป็นทางการมาก เมื่อผมไปค้นอะไรมาเยอะพอสมควร ผมเลยได้เห็นอาจารย์ในแง่คนที่มีชีวิตชีวา แล้วก็มีแง่มุมในการหยิบมาเล่าได้เยอะ เมื่อเรารู้จักตัวอาจารย์ปรีดีมากพอที่จะเอามาเล่า มันก็แค่ต้องนึกให้ออกว่าเราจะเชื่อมโยงกันยังไง แน่นอนว่ามีหลายกระแสสังคม เราไม่รู้จะเชื่อมยังไง ก็ช่วยไม่ได้ เราก็ต้องข้ามไป แต่ผมคิดว่าอันที่ประทับใจคนมากที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา อย่างเมนูอาหารของอาจารย์ปรีดี หรืออาจจะเป็นเรื่องที่คนนึกไม่ถึงว่าท่านจะมีแง่มุมแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เรื่องพวกนี้ไม่ค่อยถูกเอามาพูดถึง” คุณกษิดิศอธิบาย
การเกาะกระแสดราม่าแล้วเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ดูห่างไกลมีความใกล้ตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการ “เหน็บแนม” ให้พอหอมปากหอมคอด้วยเช่นกัน คุณกษิดิศเล่าว่า กระแสคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองประวัติศาสตร์มากขึ้น ทำให้กลยุทธ์เรื่องโพสต์เกาะกระแสของทางเพจได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
“ตอนนี้ก็มีคนสนใจ มียอดติดตาม และการมีส่วนร่วมกับโพสต์ค่อนข้างดี ในแง่นี้ก็รู้สึกว่าการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และเด็กเยาวชนใช้ได้เลย ผมรู้สึกพอใจนะ เพราะว่าทำงานนี้ด้วยความสนุก ถึงแม้เม็ดเงินที่ได้จากการบริจาคผ่านเพจไม่ได้เยอะแยะอะไร เมื่อเทียบกับการบริจาคแบบวิธีเดิมที่ใช้การทำหนังสือไปขอ แต่ในแง่ของการสร้างการรับรู้ หรือทำให้อาจารย์ปรีดีเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่คนร่วมสมัยยังนึกถึงได้ ผมก็รู้สึกว่าเราได้ทำและก็ได้ผลพอสมควรแล้ว”
ปรีดีกับคนรุ่นใหม่
ชื่อของปรีดี พนมยงค์ เป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยในฐานะบุคคลสำคัญเรื่องการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย เช่นเดียวกับในฐานะแกนนำ “คณะราษฎร” หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ.2475 ถึงแม้ชื่อของเขาจะผูกโยงอยู่กับเรื่องการเมืองอย่างแยกไม่ได้ แต่คุณกษิดิศก็ระบุว่า หากเราถอดคุณลักษณะของคนชื่อปรีดีออกมา คุณสมบัติข้อแรกของคน ๆ นี้ก็คือ “การคิดถึงคนอื่น”
“แล้วถ้าเกิดใช้คำที่เป็นตัวอาจารย์ปรีดี โดยมากก็ต้องเป็นชีวิตเพื่อชาติและเพื่อราษฎร ผมว่าอันนี้เป็นคุณสมบัติของอาจารย์ปรีดีที่นึกถึงคนอื่น แล้วก็ทำอะไรเพื่อคนอื่นมากกว่าเพื่อตัวเอง” เขาอธิบาย
นอกจากนี้ คุณกษิดิศผู้ศึกษาประวัติของปรีดี พนมยงค์ และได้เข้ามาทำหน้าที่แอดมินเพจ ยังชี้ว่า หากเล่าเรื่องปรีดี พนมยงค์ให้เป็นภาษาร่วมสมัย เขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากให้สังคมดีขึ้น จึงใช้ความรู้ความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงตามความใฝ่ฝัน และคุณลักษณะดังกล่าวก็สามารถยึดโยงกับคนร่วมสมัยที่อยากได้สังคมที่ดีขึ้น และอยากให้เมืองไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่
“เวลาที่เราอยากได้กำลังใจ เราจะนึกถึงคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรา หรือคนที่เดินนำหน้าเราไปแล้ว ผมรู้สึกว่าเมื่อเรารู้สึกว่าสังคมมีปัญหา ไม่ค่อยมีความหวังกับชีวิต อย่างน้อยอาจารย์ปรีดีก็เป็นเหมือนแสงที่ส่องทางให้เราเห็นว่า การที่เรามีความคิดอยากทำอะไรให้สังคมต่างๆ นานา มันมีคนที่เคยทำได้แล้ว เขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เราเป็นมนุษย์เหมือนเขา ถ้าเขาทำได้ เราก็ควรจะทำได้บ้าง”
“ถ้าเรามองอาจารย์ปรีดีเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คุณค่าที่อาจารย์ปรีดีมี คนร่วมสมัยก็มีได้ ผมพยายามจะทำให้อาจารย์ปรีดีไม่ใช่รูปเคารพบูชา หรือสิ่งที่อาจารย์ปรีดีพูดจะถูกเสมอ ผมพยายามสื่อสารว่า เราเข้าถึงคุณลักษณะแบบอาจารย์ปรีดีได้ทุกคน แล้วก็อยากสื่อสารผ่านเพจให้มันร่วมสมัยก็เท่านั้นเอง” คุณกษิดิศกล่าวปิดท้าย