กฤษฎีกา ฟันธง! ให้ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ ทักษิณ

กฤษฎีกา ฟันธง! ให้ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ ทักษิณ

กฤษฎีกา ฟันธง! ให้ถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ ทักษิณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ -สำนักเลขาธิการ ครม.เรื่องถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราช"ทักษิณ" ฟันธงทั้ง 2 หน่วยงานสามารถดำเนินการทูลเกล้าฯ ด้เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก คดีถึงที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เรื่อง แนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี จากความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นเหตุในการพิจารณาถอยศตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗

ปรากฏว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ให้ถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณได้ รวมไปถึง การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548

(อ่านรายละเอียดความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้านล่าง)

-------------------------------------

ความเห็นทางกฎหมาย ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เรื่องเสร็จที่ ๖๙๒/๒๕๕๒
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง แนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

------------------------------------

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๓๙/๐๓๓๑
ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒
หารือข้อกฎหมายมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สรุปความได้ว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี โดยพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสองปี

และยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และ มาตรา ๑๕๗ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ความผิดตามคำพิพากษานี้ เป็นความผิดที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้น และการดำเนินคดีดังกล่าวแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาและองค์กรศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีเจตนารมณ์ของการกำหนดโทษแตกต่างไปจากข้าราชการตำรวจหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจถูกจำคุก อันเนื่องมาจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยทั่วไป ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยนำมาเป็นเหตุพิจารณาดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดออกจากยศตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗

จึงขอหารือว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และพิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่

(๒) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เคยมีหนังสือ ที่ นร ๐๕๐๘/๕๔๙๓ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙
ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเสนอเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๗ กำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ในข้อ ๗ (๒) ว่า "เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ"

ซึ่งเป็นเหตุเดียวกับการเสนอขอถอดยศตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๒) โดยในการเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในรายนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าในการเสนอขอเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ควรเสนอเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อครั้งรับราชการตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสนอขอไว้เดิมเท่านั้น ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับภายหลังเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการตำรวจไปแล้วจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒ ) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว มีความเห็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง
ปัญหาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม พิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่ นั้น

เห็นว่า การเสนอขอถอดยศตำรวจ ทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้ เมื่อมีผู้นั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ตามข้อ ๑ (๒)[๑] แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การกำหนดเหตุแห่งการถอดยศ มุ่งหมายถึงผลที่ผู้นั้นได้รับจากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งหมายถึงสถานะของบุคคล กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี หรือฐานความผิดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมายใด

ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ (๒) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗

ประเด็นที่สอง
การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะถือเป็นเหตุในการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ และในกรณีที่สามารถเรียกคืนได้ หน่วยงานใดจะเป็นผู้ดำเนินการเสนอเพื่อขอให้เรียกคืน

เห็นว่า ในเรื่องนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้บัญญัติเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ในข้อ ๗ (๒)[๒] ว่า เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากบทบัญญัติดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า การกำหนดเหตุแห่งการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มุ่งหมายกรณีเดียวกันกับเหตุแห่งการถอดยศตำรวจตามข้อ ๑ (๒) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗

ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ย่อมอยู่ในเหตุตามข้อ ๗ (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

ส่วนการเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นั้น
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๖[๓] ให้ดำเนินการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตรา

ข้อ ๘[๔] ได้กำหนดให้ส่วนราชการต้นสังกัด หรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐาน และประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรายชื่อ พร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

ในกรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจรวบรวมเอกสารหลักฐาน และประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เฉพาะในส่วนที่มีเอกสารหลักฐานอยู่ก็ได้ และหากมีเอกสารหลักฐาน และประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นในส่วนที่ยังขาดอยู่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือส่วนราชการอื่นที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อาจดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แล้วเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

คุณพรทิพย์ จาละ
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ตุลาคม ๒๕๕๒

----------------------

ส่งพร้อมหนังสือ ที่ นร ๐๙๐๑/๑๑๕๓ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

[๑] ข้อ ๑ การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

[๒] ข้อ ๗ เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(๒) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

[๓] ข้อ ๖ ในกรณีที่ปรากฏเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๗ ให้ดำเนินการเรียกคืนทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียง
บางชั้นตรา

[๔] ข้อ ๘ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๗ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐาน และประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้น เพื่อส่งเรื่องไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้ว หรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืน ให้ นายกรัฐมนตรีพิจารณา

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อ และชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืน ไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook