ราชกิจจาฯ เผยข้อกำหนด ฉ.30 ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ถึง 31 ส.ค. ประเมินทุก 14 วัน

ราชกิจจาฯ เผยข้อกำหนด ฉ.30 ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ถึง 31 ส.ค. ประเมินทุก 14 วัน

ราชกิจจาฯ เผยข้อกำหนด ฉ.30 ล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ถึง 31 ส.ค. ประเมินทุก 14 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 30 และขยายมาตรการล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว จำกัดการเดินทาง 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ถึง 31 ส.ค. ประเมินทุก 14 วัน

วานนี้ (1 ส.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่ 11/2564 ปรับปรุงกำหนดพื้นที่สถานการณ์โควิด โดยมีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และ พื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 เป็นต้นไปหรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

รายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/173/T_0008.PDF

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่ง ระบุว่า โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิดยังคงทวีความรุนแรง โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์เดลตา ที่สามารถแพร่กระจายและติดต่อโรคกันได้โดยง่าย ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันเพิ่มสูงขั้นอย่างต่อเนื่องใน กทม.และจังหวัดที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

โดยฝ่ายสาธารณสุขรายงานผลการประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่แสดงผลว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงเพิ่มมากขึ้น หากมิได้ดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางและการรวมกลุ่มของบุคคลอย่างรัดกุม แม้ปรากฎว่าผู้ติดเชื้อหายป่วยหรืออาการดีขึ้นจนออกจากโรงพยาบาลได้ในแต่ละวันมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องบังคับใช้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่างๆอย่างเข้มงวดกวดขัน เพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องออกไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง และยกระดับบางมาตรการเพื่อให้การควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จากการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเพื่อป้องกันการระบาดแบบคลัสเตอร์ โดยปิดสถานที่ก่อสร้างและบริเวณที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน ตลอดจนได้มีการกำหนดมาตรการปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง

ผลการดำเนินการช่วงเวลาที่ผ่านมาปรากฎว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงสถานที่พักคนงานและการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่ราชการกำหนด

จึงสมควรปรับการบังคับใช้บางมาตรการต่อกลุ่มบุคคล สถานที่ และกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังคงปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกำกับติดตามการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ราชการกำหนด ดังนี้

การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อชะลอและลดแนวโน้มความรุนแรงของการระบาด จึงกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 ก.ค.2564 ได้แก่

การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง การห้ามออกนอกเคหสถานระหว่าง 21.00-04.00 น. การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องไปจนถึง 31 ส.ค.2564

การปรับเเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทางในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางคมนาคมข้ามเขตจังหวัด และการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสุงสุดไปยังจังหวัดอื่น

ห้ามจัดกิจกรรมการเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน , พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามรวมกลุ่มเกิน 20 คน , พื้นที่ควบคุม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 50 คน , พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามรวมกลุ่มเกิน 100 คน , พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามรวมกลุ่มเกิน 150 คน

ทั้งนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉฺนด้านความมั่นคง (ศปม.) พิจารณามาตรการจำเป็นและเหมาะสมของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง ตรวจสอบ ยุติการชุมนุมหรือทำกิจกรรม

กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น ให้รวมกลุ่มหรือจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ประกอบด้วย

1.การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งคนเดินทางเข้าออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก 2.กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข

3.กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

4.การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย ที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ราชการกำหนด

5.กิจกรรมที่ดำเนินโดยเจ้าหน้าที่ หรือองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว

การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน สำหรับสถานที่กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง มีดังนี้

1.ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้า เฉพาะพื้นที่ควบคุมสุงสุดและเข้มงวด เปิดได้จนถึง 20.00 น. อนุญาตเฉพาะบริการขนส่งอาหาร หรือ เดลิเวอรี เท่านั้น โดยไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภค เพื่อลดการติดต่อระหว่างกัน

2.กลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาปรับมาตรการเพื่อให้พื้่นที่หรือสถานที่่ก่อสร้างที่ผ่านตามมาตรฐานสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้วให้เปิดหรือดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผลที่กำหนด รวมถึงการมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal เพื่อป้องกันการระบาดในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ต้องปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ยังคงให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม หรือ Sealed Route ที่มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง

การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางการคมนาคมและการเดินทางของกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้างที่เดินทางข้ามเขตจังหวัดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal และมาตรการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม หรือ Sealed Route มาใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์

มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะต่อผุ้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติด้านสาธารณสุขตามมาตรการ Bubble and Seal เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด รวมถึงมีมาตรการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงาน หรือ Sealed Route ด้วย

การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมและแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการ ในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นการเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตาการควบคุมแบบบูรณาการที่ส่วนกลางกำหนดให้

การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป

รายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/173/T_0001.PDF

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook