สรุป #ม็อบ1สิงหา ติดเทรนด์อันดับ 1 ยอดทวีตกว่า 6 ล้านครั้ง
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ประชาชนจำนวนมากได้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มราษฎร, นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, กลุ่มไทยไม่ทน กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่มเสรีเทยพลัส เคลื่อนพลไปยังบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อสมทบกับกิจกรรมสมบัติทัวร์ ของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” โดยมีเป้าหมายเพื่อกดดันให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก เนื่องจากการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ล้มเหลว และยุติการชุมนุมเมื่อราว 16.30 น. นอกจากนี้ ในหลายจังหวัดก็มีการจัดคาร์ม็อบด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลจากเพจราษฎรเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เวลา 9.30 น. ระบุว่า มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วประเทศถึง 33 จังหวัด
อย่างไรก็ตาม รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีกลุ่มคาร์ม็อบ 8 ราย จากกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี ถูกตำรวจควบคุมตัว พร้อมยึดรถเครื่องเสียง ซึ่งหลังจากการยุติการชุมนุมคาร์ม็อบแล้ว มวลชนหลายคนได้เดินทางไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว
ทว่าหลังจากนั้น ผู้ขับรถและผู้ดูแลรถปราศรัยของคาร์ม็อบราษฎร จำนวน 3 คน ถูกตำรวจดักจับหลังจากกลับจาก บก.ตชด. ภาค 1 โดยควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต และในช่วงเย็นวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ปะทะกับมวลชนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในการปราบผู้ชุมนุม พร้อมทั้งมีภาพเจ้าหน้าที่ถืออาวุธปืนเล็งไปที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งในระยะประชิด และภาพเจ้าหน้าที่กำลังยิงปืนและแก๊สน้ำตาลงมาจากทางด่วน จากปฏิบัติการดังกล่าว มีรายงานว่า ประชาชนถูกยิงที่ศีรษะบาดเจ็บ 1 ราย จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.30 น. มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้าย เนื่องจากใกล้เวลาเคอร์ฟิว และจะนัดชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 7 สิงหาคม
จากภาพความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ส่งผลให้เมื่อวานนี้ แฮชแท็ก #ม็อบ1สิงหา ติดเทรนด์อันดับ 1 ทวิตเตอร์ไทย และล่าสุดวันนี้ แฮชแท็กดังกล่าวยังคงเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเมื่อเวลาประมาณ 11.45 น. มีการทวีตมากถึง 6.85 ล้านครั้ง