เปิดแนวทางขอรับ "ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์" ตำรับ รพ.จุฬาภรณ์ แจกฟรี เริ่ม 6 ส.ค.นี้
"หมอนิธิ" เผยแนวทางขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับ รพ.จุฬาภรณ์ สำหรับรักษาโควิด-19 ในเด็กและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด เริ่มแจกฟรี ตั้งแต่ 6 ส.ค.นี้
วานนี้ (3 ส.ค.) นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด พัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็กและผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัส ตำรับแรกในประเทศไทย โดยงานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด พัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาลฟาวิพิราเวียร์สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โดยปกติตัวยานี้มีไว้ใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่ แต่มีรายงานเบื้องต้นว่าสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ยาเร็วในระยะเริ่มต้นของอาการ
ยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถผลิตยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น
สนองพระนโยบายศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีความห่วงใยและตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถเข้าถึงยารักษาโรคฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
ทั้งนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตำรับยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาลฟาวิพิราเวียร์ ได้มีการคัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธีการที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และการศึกษาความคงสภาพเพื่อยืนยันคุณภาพตลอดช่วงอายุการใช้งาน
สำหรับตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัส โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และ ขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร รับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง
ขนาดและวิธีการใช้ยาในเด็ก
- วันแรก รับประทานขนาด 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ วันละ 2 ครั้ง
- วันต่อมา ขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้ วันละ 2 ครั้ง
ขนาดและวิธีการใช้ยาในผู้ใหญ่
- วันแรกรับประทาน ขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- วันต่อมาขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
กรณีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- วันแรกรับประทาน ขนาด 2,400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- วันต่อมา ขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ในกรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่มีผลตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือตามแพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Antigen rapid test เป็นบวก
สามารถติดต่อเพื่อขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยนำผลยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาพบแพทย์และรับยาได้ที่ favipiravir.cra.ac.th หรือโทร 0645862470 ทั้งนี้ตั้งแต่ วันศุกร์ ที่ 6 สิงหาคม เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน
โดยในระยะแรกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตได้จำกัดเพียงไม่เกิน 100 รายต่อสัปดาห์ และยานี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น
แนวทางขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ในกรณีที่แพทย์ประสงค์ใช้ในผู้ติดเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ให้อาหารทางสายที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระบบการดูแลของโรงพยาบาล หรือเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน Home Isolation ที่มีแพทย์ติดตามหรือในผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก
โดยระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ได้จำนวนจำกัดสำหรับผู้ป่วยไม่เกิน 100 รายต่อสัปดาห์ และยานี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ซึ่งโรงพยาบาลหรือแพทย์ สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อขอรับยาได้ทางเว็บไซต์ favipiravir.cra.ac.th หรือโทร 06 4586 2470 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของอาการอย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของโรคติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันศุกรที่ 6 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป