สรุปประเด็นมหากาพย์วิวาทะ "งบกลาง" ชนวนเหตุ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ขัดแย้ง?!!!
ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมืองที่คึกคักจนน่าติดตามอย่างต่อเนื่องหนีไม่พ้นประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีมติด้วยเสียงข้างมากให้นำเงินงบฯ ที่ปรับลดได้จากการพยายามตัดลดในส่วนที่ไม่จำเป็นซึ่งปีนี้มีอยู่กว่า 1.63 หมื่นล้านบาท ให้ไปใส่ไว้ในงบกลางที่ดูแลการใช้จ่ายโดยนายกรัฐมนตรี
จนกลายเป็นการเปิดศึกชนิดย่อมๆ เลยทีเดียว ถึงขนาดที่พลพรรคก้าวไกล-ก้าวหน้า พากันยกขบวนไปร่วมสนทนาในแอปพลิเคชัน Clubhouse ถึง 3 วันรวดตั้งแต่จันทร์ที่ 2 จนถึงเก็บตกรอบเมื่อคืนนี้ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็มีการแถลงข่าวทุกวัน แถมยังต้องหอบเอาบรรดารุ่นใหญ่กระเตงเข้ามาเปิดห้องชี้แจงประเด็นยกมือโหวตหนุนการใส่เงินไปในงบกลางผ่านคลับเฮาส์เมื่อคืนนี้ (4 ส.ค.) ด้วยเช่นกัน
เอาล่ะบรรทัดต่อจากนี้ เราลองมาไล่เรียงประเด็นต่างๆ ดูว่าทั้งสองพรรคมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในจุดใดบ้าง
ตีเช็คเปล่าให้ประยุทธ์
นอกจาก ส.ส.พรรคก้าวไกล แล้วยังมีคณะก้าวหน้าที่นำทีมโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนางสาวพรรณิการ์ วานิช พร้อมใจกันดาหน้าแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งฟากฝั่งก้าวไกล-ก้าวหน้า ต่างมองว่าโดยหลักการแล้วไม่ควรนำงบประมาณที่ปรับลดได้ไปใส่ไว้ที่งบกลางเพราะเปรียบเสมือนการตีเช็คเปล่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปใช้ได้ตามอำเภอใจ และยังตรวจสอบได้ยาก
ในขณะที่นายปิยบุตร ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นอาจเรียกได้ว่า งบแปลงสภาพ เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้บรรดา ส.ส. ที่อยากได้งบประมาณไปลงพื้นที่ของตนสามารถเข้าไปเจรจาร้องขอจากนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ให้ ส.ส. ยุ่งเกี่ยวกับการแปรงบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ฝั่งพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ยืนยันว่าการโหวตให้งบฯ ที่ปรับลดไปไว้ในงบกลางนั้นไม่ใช่การตีเช็คเปล่าให้กับนายกฯ ประยุทธ์ เพราะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้นำเงินในส่วนดังกล่าวไปใช้เพื่อเป็น "ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด"
โดยเฉพาะเมื่อภาคประชาชนแสดงความกังวลว่ารัฐบาลอาจจะแปลงงบกลางที่ว่านี้ไปทำการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมม็อบ นายยุทธพงศ์ ถึงกับเอาตำแหน่ง ส.ส. เป็นเดิมพันว่าหากใครสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่ารัฐบาลนำงบกลางก้อนนี้ไปใช้จัดซื้อจัดจ้างสิ่งของวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตนจะลาออกจากตำแหน่งทันที
อิทธิฤทธิ์มาตรา 144
อีกหนึ่งจุดที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมองต่างกันก็คือ การตีความเนื้อหาของมาตรา 144 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่าที่เป็นปัญหาเพราะเป็นการตีความเกินเลย กลัวจนเกินเหตุ เนื่องจากหากเป็นการแปรงบประมาณไปลงที่หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการใช้จ่ายเงินตามภารกิจที่กำหนดไว้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ทางด้านพรรคเพื่อไทยระบุว่า การตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ในงบกลาง เพื่อเป็นการป้องกันข้อครหาว่า ส.ส. แปรงบประมาณโดยมีผลประโยชน์อื่นเกี่ยวข้องกับงบประมาณนี้ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญา ส่วนการที่จะแปรงบฯ จำนวนกว่า 1.63 หมื่นล้านดังกล่าวไปให้กับท้องถิ่นนั้น กมธ.งบประมาณได้พิจารณาโครงการท้องถิ่นที่เสนอเข้ามาแล้วพบว่า ไม่มีโครงการใดๆ เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิดเลย จึงไม่สามารถโยกงบประมาณในส่วนนี้ ซึ่งน่าจะไปใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเร่งด่วนในเรื่องโควิด ไปลงท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย หน่วยรับงบประมาณจะรับโอนงบได้ต่อเมื่อตั้งโครงการและได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วเท่านั้น จึงจะมีช่องให้งบประมาณลงไปได้ จะไปเพิ่มหรือลดงบประมาณเองโดยพลการไม่ได้ เพราะจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 นั่นเอง
จะตรวจสอบงบกลางอย่างไร
ประเด็นต่อมาคือการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "งบกลาง" ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินได้ยากมาก ซึ่งพรรคเพื่อไทยย้ำว่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น จะไม่ปล่อยให้มีการใช้เงินตามอำเภอใจ โดยการตรวจสอบนั้นสามารถทำได้ 4 ขั้นตอน คือ
1. ตั้งกระทู้ถามในสภา
2. หากพบการใช้เงินผิดระเบียบก็จะยื่นตรวจสอบทั้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ
3. มอบหมายให้ ส.ส.ไชยา พรหมมา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด
และ 4. ให้ ส.ส. เขต ในพื้นที่ต่างๆ ตรวจสอบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 ให้ประชาชนจริงหรือไม่
ในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ย้ำว่าในเมื่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำไมจึงยังต้องโหวตเพิ่มงบอีกกว่า 1.63 หมื่นล้านบาทไปเพิ่มเป็นงบกลางอีก ในเมื่องบประมาณกว่า 6 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา รวมกับงบเงินกู้ที่ขอไป 1.5 ล้านล้านบาท และงบประมาณประจำปี 2565 อีก 3.1 ล้านล้านบาทที่กำลังจะผ่านสภา เปรียบเสมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
นอกจากนี้ ส.ส.ศิริกัญญา ยังเปิดเผยข้อมูลอีกด้วยว่าในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มีการตั้งงบกลางโควิดเอาไว้กว่า 4 หมื่นล้านบาทนั้น จนถึงเมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพิ่งมีการเบิกจ่ายไปเพียง 9,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นแค่ 23% ของวงเงินที่ตั้งไว้เท่านั้น จึงตั้งคำถามว่าในเมื่อเป็นเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนขนาดนี้ ทำไมจึงเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
และทั้งหมดทั้งมวลคือการเก็บตกประเด็นส่วนหนึ่งของวิวาทะว่าด้วยเรื่อง "งบกลาง" ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ในเมื่อยังต้องทำงานร่วมกันในสภาต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเตรียมพร้อมสู้ศึกซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่กำลังจะมาถึง
เพราะอย่าลืมว่าสุ้มเสียงของนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำเตือนว่า แม้ทั้งสองพรรคคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ต้องระมัดระวังการเสนอความเห็น อย่าทำให้คนที่เห็นแตกต่างกลายเป็นจำเลย จะทำให้ผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายไม่เข้าใจ กลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองมาทะเลาะกันแล้วกลายฝ่ายคุณประยุทธ์มานั่งยิ้ม
สอดคล้องกับที่ อ.ปิยบุตร ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากคิดเหมือนกันหมดก็คงอยู่พรรคเดียวกันไปแล้ว ที่สุดแล้วทั้งก้าวไกล-เพื่อไทย ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการไล่รัฐบาลชุดนี้ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้หลุดพ้นจากอำนาจอย่างแน่นอน
งบกลางคืออะไร?
งบกลางคืองบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยแยกต่างหากจากงบประมาณปกติ ซึ่งจำแนกรายกรม ปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ 571,047 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 11 รายการ ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท
4. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
5. เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
6. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท
7. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท
8. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547 ล้านบาท
9. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
10. เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท
11. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท
ซึ่งหากงบกลางกว่า 1.63 หมื่นล้านบาท ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาให้ออกเป็น พ.ร.บ. ก็จะอยู่ในรายการที่ 12 แบบเดียวกับใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่มีงบกลางส่วนนี้อยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาทนั่นเอง