มโนราห์ ให้ชีวิต

มโนราห์ ให้ชีวิต

มโนราห์ ให้ชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : อัญชัญ แวงชัยภูมิ

หากความใฝ่ฝันของใครหลายคน อาจเป็นการไปเยือนเวทีระดับโลก ทว่าสำหรับ เจมส์ - จาตุรงค์ จันทระ หนุ่มจากปักษ์ใต้

ที่มีใจรักในการสานต่อศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน อย่างการรำมโนราห์ เขาบอกว่าเวทีที่สำคัญที่สุดคือเวทีของชีวิตจริง และสิ่งเดียวที่วาดหวังและจะยืนอยู่ให้นานที่สุดคือการทำอะไรตอบแทนสังคม

หัวหน้ากลุ่มเยาวชนมโนราห์ ต.วัดจันทร์ อ.สทิงพระ จ.สงขลา บอกเล่าถึงโรงเรือนเลี้ยงสุกรเก่าๆ ที่เขาใช้สอนเด็กรุ่นหลังให้เข้าถึงศิลปะการรำมโนราห์ว่า

"ที่นี่เป็นทั้งที่หลับนอน ที่ร่วมอยู่ร่วมกิน เราใช้เวลาว่างจากการเล่าเรียนและเวลาส่วนตัวในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้น บ้านที่พวกเราเชื่อว่ามันกำลังจะหมดไป"

ย้อนอดีตกลับไปลูกชาวนาคนนี้ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุกจากครอบครัวเพราะไม่อยากให้ลูกเต้นกินรำกิน ทำให้ลูกชายคนเล็กสุดในบรรดาลูกทั้ง 4 คนของครอบครัวมักมีเรื่องขัดแย้งทางความคิดกับคนในบ้านเสมอ แต่ด้วยความมุ่งมั่นพยายามเอาชนะเพื่อจะได้ทำในสิ่งตนเองรัก ก็ทำให้เขาได้มายืนบนเวทีการแสดงและสวมชุดมโนราห์สมปรารถนา


"เมื่อก่อนไม่ว่ามีการแสดงมโนราห์ที่ไหน จะต้องทำทุกวิถีทางที่จะไปดู เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็ชอบอยากรำบ้าง อยากสวมชุดมโนราห์บ้าง ทำยังไงเราจะได้แสดง ได้สวมชุดรำมโนราห์ ชุดที่ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่สูงไม่ใช่ใครอยากจับก็จะจับได้ง่ายตามอำเภอใจ "

ความฝันที่กลายเป็นจริงมักมีทีมาจากความเพียรพยายามเสมอ และทำให้เด็กหนุ่มปักษ์ใต้กลายมาเป็นครูสอนศิลปะการรำมโนราห์ในวันนี้

"มันชอบและมีความอยากที่จะทำ พอทำเป็นแล้วก็อยากนำความรู้ความสามารถไปเผยแพร่ให้น้องๆ ได้ลองทำ" จากแรกๆ มีคนสนใจเรียนเพียงแค่ 1จนตอนนี้ลูกศิษย์ครูเจมส์เริ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ

"มีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เยอะเหมือนกัน ถ้าจะให้นับคงไม่ไหว แต่ให้ประมาณก็คงบไม่ต่ำกว่าพันคนแน่นอน" เขาบอกอย่างภาคภูมิ

ระบบการถ่ายทอดวิชาของเขาเป็นแบบพี่สอนน้อง รุ่นพี่ทำเป็นต้องสอนน้อง โดยอยู่รวมกันแบบครอบครัวใหญ่ มีอะไรก็ช่วยเหลือแบ่งปันกัน อีกทั้งยังร่วมมือร่วมใจเปลี่ยนผืนนาเล็กๆ ของจาตุรงค์ให้กลายเป็นที่สอนการเกษตรกรรม เราปลูกพืชผักกินเอง แม่จะช่วยสอนการปลูกผัก ทำนา ทุกคนในบ้านมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน แล้วแต่ว่าใครถนัดอะไร"

ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้น สำหรับหัวหน้ากลุ่มเยาวชนคนสงขลาบอกว่า ค่าตอบแทนเป็นเรื่องรอง ส่วนการทำเพื่อความสุขเป็นเรื่องใหญ่ เสียงปรบมือเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดของพวกเขา

"หัวใจที่สำคัญของการแสดงย่อมเป็นการได้ขึ้นไปยืนอยู่บนเวที เด็กบางคนเข้ามาตรงนี้สักพักอาจเบื่อและหายไปตามประสา ผมคิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงที่จะให้เขาเหล่านั้นอยู่กับเรานานที่สุด พยายามส่งเสริมเขา สนับสนุนและต้องหาเวทีให้เขาแสดงออก เพราะถ้าไม่มีเวทีแสดงมันก็รู้สึกเหมือนขาดอะไรสักอย่างหนึ่ง"

สิ่งเดียวที่เขาสอนน้องๆ ก็คือ 'อย่ายึดติด' การทำงานทุกอย่างอย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ให้เอาใจไปเป็นทุนจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง สอดคล้องกับแนวคิดของเขาที่ว่า

"ผมว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นลมหายใจของชาติ ถ้าไม่มี ชาติก็อาจอยู่ไม่ได้ บรรพบุรุษสร้างเอาไว้ ทำยังไงจะรักษามันไว้ได้" และตัวเขาเองก็หวังเป็นเพียงบันได ให้เยาวชนรุ่นหลังไต่ขึ้นไปในอนาคต

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook