แพทย์ชนบทเล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เล่าเรื่องเศร้า อาโกวัย 60 ยอมเสี่ยงติดโควิด เพื่ออยู่ดูแลหลานที่ป่วย
วานนี้ (7 ส.ค.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวนหนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อเป็นผู้สูงวัยและมีสมาชิกอยู่ด้วยกันหลายราย โดยระบุว่า
"อาม่าต้องรอด
"วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาผมและทีมจะนะ ไปออกปฏิบัติการที่อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม พบอาม่าอายุ 84 ปีมาตรวจด้วยไม้เท้า อาม่าดูแข็งแรงพอสมควรตามวัย แต่ผล Rapid test ขึ้น 2 ขีด เป็นบวก อาม่าติดโควิด เรากลับไปทำ RT-PCR ซ้ำให้อาม่า และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ออกซิเจนในเลือดได้ 96% ตามญาติมาคุยพบ และผมได้ไปเยี่ยมดูสภาพที่บ้าน มีเรื่องราวเศร้าๆ ที่น่าสนใจมาก
"ที่บ้านอาม่าเป็นบ้านเอื้ออาทร ห้องหลังเล็กๆ อยู่กัน 5-6 คน มีหลานชายใส่เสื้อเบอร์ 10 เป็นโควิดแล้ว กักตัวรักษาที่โรงพยาบาลสนามครบแล้ว ที่บ้านเจอเด็กน้อยสี่ขวบอีกคนเป็นโควิดด้วย แต่มีอาโกอายุ 60 ที่ดูแลเด็กน้อย ผลยังเป็นลบ อีกสองคนหนุ่มสาวออกไปทำงานข้างนอก
"ความยากคือ ใครจะดูแลอาม่า อาม่าต้องการคนจูงไปห้องน้ำดูแลสารพัด โชคดีที่หลานเสื้อเบอร์ 10 นั้นติดเชื้อมีภูมิแล้ว จึงพร้อมดูแล แล้วใครจะดูแลเด็กน้อย คำตอบคืออาโก แต่อาโกผลยังเป็นลบ จากการคุยกันของครอบครัว ข้อสรุปก็คือ อาโกคงต้องยอมติดโควิด เพื่อดูแลทุกคนในครอบครัวร่วมกับหลานเสื้อเบอร์ 10
"อาม่าก็น่าเป็นห่วงมาก เตียง รพ.ยังไม่มี ต้องนอนรักษากินยายาฟาวิพิราเวียร์เองที่บ้านไปก่อน อาโกยิ่งน่าห่วง อายุ 60 แล้ว แม้ยังไม่ติด แต่ต้องอยู่ดูแลใกล้ชิด คงยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น และอาโกจะได้ตรวจคัดกรองและได้ยาฟาวิฯ ในอนาคตไหม
"ขอให้อาม่าอาโก รอดปลอดภัย ทีม รพ.สต.ในพื้นที่รับปากว่า จะดูแลให้ดีที่สุด”
ขณะเดียวกันสถานการณ์ใน กทม. พญ.ภาวิดา ชมเกลี้ยง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 1 ในทีมแพทย์ชนบท ที่ร่วมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับประชาชนบริเวณลานตลาดกลางดินแดง เปิดเผยว่า เป้าหมายของทีมแพทย์ชนบท คือต้องการช่วยแบ่งเบาภาระของ กทม. ที่ปัจจุบันความต้องการตรวจคัดกรองของประชาชนมีเป็นจำนวนมากและการตรวจไม่เพียงพอ ยอมรับว่าจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่จากที่ดูประชาชนที่มาตรวจหากติดเชื้อคาดว่าอาการไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งทีมแพทย์จะพิจารณาผู้ที่มีผลบวกว่าจัดอยู่ในอาการสีเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อพิจารณาว่าจะให้ยาไปรับประทานเองกรณีทำ Home Isolation หรือบางรายต้องเข้ารับการรักษาแบบ Community Isolation หรือส่งไป รพ.สนามหรือ รพ.จริงๆ โดยแพทย์จะต้องทำการประเมินเพื่อนำผู้ป่วยส่งไปรักษาตามขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีม CCRT ซึ่งตั้งเป้าหมายคัดกรองเชิงรุกในชุมชนระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.ให้ได้วันละ 35,000 ราย ภายใน 7 วัน จะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000-300,000 ราย โดยคาดการณ์อาจพบผลบวก 15% หรือประมาณ 32,500 รายและ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งกระทรวง สธ.ได้สนับสนุนไว้ที่ 600,000 เม็ด