“รังสิมันต์” ผิดหวัง ตร.ควบคุมการชุมนุมด้วยความรุนแรง
“รังสิมันต์” ผิดหวังตำรวจควบคุมการชุมนุมด้วยความรุนแรง พร้อมขอประชาชนจับตาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง 3 ประเด็น ได้แก่ ความเห็นต่อมาตรการสลายการชุมนุมและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา, ความเห็นต่อกรณีศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ประกาศฉบับ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการบังคับใช้ และข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ที่มีความเร่งรัดและไม่เป็นไปตามหลักการรัฐสภา
โดยนายรังสิมันต์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลผิดหวังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมการชุมนุมของประชาชนด้วยความรุนแรง จากที่ได้ติดตามมาตลอดพบว่าความรุนแรงของการควบคุมการชุมนุมมีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ก่อนหน้านี้การฉีดน้ำแรงดันสูงหรือยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมยังไม่มากขนาดนี้ และการใช้กระสุนยางยิ่งไม่บ่อยนัก แต่ช่วงที่ผ่านมา การใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางกับผู้ชุมนุมเหมือนกลายเป็นมาตรฐานการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ไปแล้ว
โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนได้ไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดบริเวณดินแดง เชื่อว่าภายในหนึ่งนาที มีการยิงแก๊สน้ำตาไม่ต่ำกว่า 3 ลูก จำนวนหนึ่งไปตกอยู่บริเวณบ้านเรือนใกล้เคียงที่ชุมนุมและปั๊มน้ำมัน สะท้อนว่าเป็นการยิงโดยไม่สนว่าผู้ชุมนุมมีพฤติการณ์รุนแรงหรือไม่ จึงขอย้ำว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหาในกรณีที่ประชาชนออกมาเรียกร้องเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากรัฐบาล ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการตอบโต้ด้วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด หรือไม่การลาออกก็เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการแก้วิกฤตการเมืองได้
ประเด็นที่สอง การออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่อนุญาตให้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ซึ่งอาจส่งผลต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ที่ล่าสุดศาลแพ่งได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่มีประเด็นสำคัญสองประเด็น คือ การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเกินความจำเป็นต่อสถานการณ์ และการไม่มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ตัดอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าพรรคก้าวไกลจะรวบรวมหลักฐานเพื่อทำคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ตาม มาตรา 234 อนุ 1 ตามรัฐธรรมนูญเพื่อเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ประเด็นที่สาม ความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายรังสิมันต์ ระบุว่า ปัจจุบันมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา 13 ฉบับ ปรากฏว่า
มีเพียงฉบับเดียวที่ผ่านการรับหลักการของสภาในวาระที่ 1 คือ ร่างที่เสนอมาโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งระบุในหลักการอย่างชัดเจนว่า เพื่อแก้ 83 และ 91 โดยทั้งสองมาตราไม่ใช่การแก้เรื่องระบบเลือกตั้งทั้งหมด
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ ระบุว่า ในกระบวนการพิจารณาชั้น กมธ. ตนซึ่งอยู่ในกมธ.ด้วย สังเกตว่ามีความพยายามเร่งรัดเพื่อแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ. ต้องการพิจารณาให้เสร็จในสัปดาห์นี้ ในสถานการณ์โควิดที่ประชาชนกำลังลำบากกลับไม่พบว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญได้เลย ทั้งที่เรื่องระบบเลือกตั้งซึ่งคือการกำหนดว่าเขาจะได้รัฐบาลแบบไหนมาบริหาร ประชาชนก็ควรมีสิทธิ ในการแสดงความเห็นว่าเขาต้องการเห็นระบบอะไร ซึ่งเห็นแต่การรวบรัดโดยไม่สนใจขั้นตอนปฏิบัติ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่คนไม่กี่คนมาสุมหัวกันโดยประชาชนไม่มีสิทธิอะไร หากเป็นแบบนี้กลไกสภาและสิทธิประชาชนอยู่ตรงไหน จึงอยากให้จับตาว่ารัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไรต่อไป เพราะในสัปดาห์หน้าจะเป็นสัปดาห์ของการแก้รัฐธรรมนูญ