อธิบดีแพทย์แผนไทย ยันข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดผิดเล็กน้อย ปัดถูกตีกลับ

อธิบดีแพทย์แผนไทย ยันข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดผิดเล็กน้อย ปัดถูกตีกลับ

อธิบดีแพทย์แผนไทย ยันข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดผิดเล็กน้อย ปัดถูกตีกลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยืนยันงานวิจัยสารสกัดฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิดของนักวิจัยไทยไม่ได้ถูกปฏิเสธ หรือถูกส่งคืนกลับมาจากวารสารทางการแพทย์ แต่ขอถอนงานวิจัยกลับมาชั่วคราวเท่านั้น เพราะตรวจพบข้อผิดพลาดเรื่องตัวเลขเล็กน้อย 1 จุด และจะเสนอกลับเข้าไปใหม่

วันนี้ (9 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวประเด็นการศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจร ว่า เมื่อเริ่มพบการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคใหม่ ยังไม่มียาที่ได้รับรองการรักษาโดยตรง จึงมีการศึกษายาชนิดต่างๆ ที่คาดว่าจะใช้รักษาโควิดได้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงศึกษาฟ้าทะลายโจรที่มีคำตอบระดับห้องทดลองแล้ว โดยศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรสกัดในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงอายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรในปริมาณที่คำนวณสำหรับการรักษา จำนวน 29 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับยาที่ไม่มีสารสกัดฟ้าทะลายโจร (ยาหลอก) 28 ราย พบว่ามีแนวโน้มได้ผลดี ลดการพัฒนาของโรคไม่ให้เดินหน้ารุนแรงขึ้นจนมีปอดอักเสบ

“กลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรไม่พบอาการปอดอักเสบทั้งหมด กลุ่มที่ใช้ยาหลอกมีปอดอักเสบ 3 ราย คิดเป็น 10.7% ขณะที่การคงอยู่ของตัวไวรัสในวันที่ 5 ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรพบตัวไวรัส 10 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้สารสกัดฟ้าทะลายโจร พบตัวไวรัสเกินครึ่งคือ 16 ราย จึงตอกย้ำความเป็นไปได้ของฟ้าทะลายโจรที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่พบปัญหาผลกระทบเรื่องตับ ไต และระบบเลือด ถือว่ามีความปลอดภัยจึงผลักดันการศึกษาต่อเนื่อง นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการใช้ยา” พญ.อัมพร กล่าว

นอกจากนี้ พญ.อัมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัยของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เสนอผลวิจัยในระดับนานาชาติ โดยส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เพื่อแบ่งปันเพื่อนนักวิจัยแวดวงอื่น ซึ่งในงานวิจัยมีการคำนวณค่าต่างๆ โดยพบความผิดพลาดทางสถิติ 1 จุด คือ ค่านัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างน้อย ตอนแรกค่านัยสำคัญทางสถิติอยู่ที่ 0.03 หมายถึงทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์คงเดิม 97 ครั้ง ระหว่างรอตีพิมพ์มีการพิจารณาอีกครั้งพบว่าค่าอยู่ที่ 0.112 หมายถึงทดลอง 100 ครั้ง ผลลัพธ์คงเดิม 90 ครั้ง จึงต้องถอนงานวิจัยออกมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญในทางวิชาการ นักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผลลัพธ์ จึงนำเอกสารกลับมาแก้ไขให้ถูกต้องก่อนส่งกลับไปตีพิมพ์ใหม่ มิได้ถูกปฏิเสธจากวารสารแต่อย่างใด และเนื้อหางานวิจัยหลักยังเป็นไปตามรายงานฉบับแรก คือ ใช้ป้องกันผู้ติดโควิดอาการเล็กน้อยไม่ให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ทิศทางนโยบายการใช้ฟ้าทะลายโจรจึงยังเหมือนเดิม ทั้งการจ่ายยาในระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน

“สารสกัดฟ้าทะลายโจรถือว่าเป็นยา ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ควรรับประทาน 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ส่วนเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไปรับประทาน 3.5-5 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน ข้อห้ามใช้คือผู้ที่มีอาการแพ้ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพราะอาจกระทบทารกได้ ผู้ป่วยโรคตับและไตอาจทำให้ยาสะสมในร่างกาย เนื่องจากกำจัดยาได้ช้า รวมถึงผู้ที่รับประทานยาตัวอื่น เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต” พญ.อัมพร ย้ำ

สำหรับจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศที่รับฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาอาการ มีทั้งสิ้น 107,728 คน โดยเป็นข้อมูลที่รวบรวมถึงวันที่ 29 มิ.ย. 64

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ อธิบดีแพทย์แผนไทย ยันข้อมูลงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดผิดเล็กน้อย ปัดถูกตีกลับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook