สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรแพทย์

สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรแพทย์

สธ.ยันออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรแพทย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยัน ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดฯ ทำเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลประชาชน

วันนี้ (9 ส.ค.) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ชี้แจงถึงกรณี ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เจตนารมณ์ที่ทำร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และเพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วนของสาธารณสุขสามารถทำงานได้อย่างมั่นใจ มีขวัญและกำลังใจที่จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

โดยบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครอง คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน และคุ้มครองการทำงานในสถานพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือสถานที่จัดตั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์ควบคุมการกระทำของบุคลากรสาธารณสุขให้เป็นไปด้วยความสุจริต และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่เมื่อช่วงสายของวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การเตรียมออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด-19 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศและทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ในการดูแลผู้ป่วยภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ทั้งคน งบประมาณ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งสภาพความเป็นจริงมีข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากปัจจัยในการผลิตวัคซีนและเงื่อนไขในการเจรจาขณะนั้น

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด

รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มที่สาม เพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน/คนไข้ก็ได้ประโยชน์” นายอนุทิน กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook